“โฆษณาถั่งเช่า” คืออีกหนึ่งประเด็นร้อนที่กำลังเป็นที่พูดถึงในสังคม เมื่อแบรนด์ และพรีเซนเตอร์โอ้อวดโฆษณาเกินจริง จนทำให้ กสทช. และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ออกมาตั้งโต๊ะแถลงถึงมาตรการกำกับดูแลการโฆษณาเกินจริง
โฆษณาถั่งเช่าเกินจริงปราบไปแล้ว ตอนนี้กลับมาอีก
ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. เล่าย้อนกลับไปให้ฟังว่า ในสมัยก่อนมีการใช้โฆษณาเกินจริงในแบบที่ใช้ตัวแสดงลักษณะคล้ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นอนติดเตียง หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก
แต่เมื่อรับประทานถั่งเช่าไป มีอาการดีขึ้น เดินได้ ซึ่ง กสทช. ดำเนินการไปแล้ว และบริษัทดังกล่าวก็ได้เลิกโฆษณาแบบนี้ไปแล้ว
แต่ตอนนี้กลับพบว่า การจัดฉากโฆษณาในลักษณะดังกล่าวกลับมาอีกครั้งในรูปแบบคล้ายเดิม ซึ่ง กสทช. ไม่นิ่งนอนใจ ลงดาบสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมไปแล้ว 1 ราย และอีก 2 ราย เตรียมเสนอบอร์ดเพื่อลงโทษ
และจะส่งเรื่องต่อไปยัง อย. เพื่อดำเนินการกับพิธีกรและพรีเซนเตอร์ด้วย
ถั่งเช่าคืออะไร ทำไมราคาดี
จากกรณีดังกล่าวทำให้ “ถั่งเช่า” ถูกพูดถึงมากขึ้นอีกครั้ง ว่าเป็นสมุนไพรที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน รักษาโรคต่าง ๆ ได้ จนทำให้เกิดคำถามว่า สรุปแล้วถั่งเช่าคืออะไร และรักษาโรคตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่
ถั่งเช่า หรือที่เรียกกันว่า “หญ้าหนอน” เป็นยาสมุนไพรที่ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นตัวหนอน หนอนชนิดนี้ในฤดูหนาวจะฝังตัวจำศีลอยู่ใต้ดินภูเขาหิมะ เมื่อน้ำแข็งเริ่มละลาย สปอร์เห็ดจะพัดไปกับน้ำแข็งที่ละลาย แล้วไปตกที่พื้นดิน จากนั้นตัวหนอนเหล่านี้ก็จะกินสปอร์
และเมื่อฤดูร้อนสปอร์ก็เริ่มเจริญเติบโตเป็นเส้นใยโดยอาศัยการดูดสารอาหารและแร่ธาตุจากตัวหนอนนั้นงอกขึ้นสู่พื้นดิน รูปลักษณะภายนอกคล้ายไม้กระบอก ส่วนตัวหนอนเองก็จะค่อย ๆ ตายไป
ฉะนั้น “ถั่งเช่า” ที่ใช้ทำเป็นยาก็คือ ตัวหนอนและเห็ดที่แห้งแล้วนั่นเอง
พบได้ในพื้นที่สูงตามเทือกเขาและต้องอยู่ในสภาพอากาศที่เย็นจัดและชื้นจัด อีกทั้งยังต้องสูงประมาณ 10,000-12,000 ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล บริเวณ เทือกเขาหิมาลัยของประเทศจีน ทิเบต ภูฏาน จึงเป็นของหายากได้ราคาดี (อ้างอิงจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยมหิดล)
แม้สรรพคุณทางยาแผนโบราณ แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยังมีน้อย
“ถั่งเช่า” ถือได้ว่าเป็นสมุนไพรสุดฮิตในปัจจุบัน เป็นการใช้ตามสรรพคุณของภูมิปัญญาที่มีมานานกว่าศตวรรษ ในเรื่องการกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ และใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงอวัยวะภายใน เช่น ปอด ตับ และไต เป็นต้น
แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะการศึกษาทางคลินิกยังมีน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีศึกษาเท่านั้น
วางขายกันอยู่มีมากกว่า 10 แบรนด์
จากความเชื่อที่ “ถั่งเช่า” ถือได้ว่าเป็นยาสมุนไพรอุดมไปด้วยสารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ทำให้มีการนำถั่งเช่ามาผลิตเป็นอาหารเสริม หรือส่วนประกอบในอาหารต่าง ๆ วางขายมากมาย
จากการสอบถาม อย. ถึงจำนวนผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าว่า มีมาจดทะเบียนมากน้อยแค่ไหน แม้จะไม่ได้บอกตัวเลขมาเป๊ะๆ
แต่จากการที่ Marketeer ลองสำรวจผ่านร้านสะดวกซื้อ บนเว็บไซต์สื่อต่าง ๆ ก็มีไม่ต่ำกว่า 10 แบรนด์ แต่ละแบรนด์ก็มีผลิตภัณฑ์แยกย่อยลงไปอีก
ไม่ว่าจะเป็น cordyplus อ. วิโรจน์, ถั่งเช่า ผสมมัลติวิตามินบี CordycepPlus, ถั่งเช่า ผสมหลินจือและโสมสกัดมาตรฐานยุโรป คอร์ดี้ชิ Cordyzhi, Cordy Thai ถั่งเช่าเพาะเลี้ยงสายพันธ์ุทิเบตแท้ ฯลฯ
ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าที่ อย. อนุญาตมี 2 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ยาแผนโบราณ) และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่งเช่าเป็นส่วนประกอบ เพื่อบำรุงร่างกายทั่วไป ไม่ใช่ยารักษาโรค
ใช้ดารา-อินฟูลเอนเซอร์เพิ่มความน่าเชื่อถือ
หนึ่งในกรณีที่ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อจนทำให้ กสทช. และ อย. ออกมาดำเนินการอย่างจริงอีกครั้ง คือการทำการตลาดของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ใช้ดารา-อินฟูลเอนเซอร์เพิ่มความน่าเชื่อถือ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่นแบรนด์ Cordy Plus ที่มี อ. วิโรจน์ เป็นพรีเซนเตอร์ โดยใช้ความน่าเชื่อถือจากความเป็นจีน
ถั่งเช่าผสมมัลติวิตามินบี CordycepPlus ที่ใช้ ยิ่งยง ยอดบัวงาม มาเป็นพรีเซนเตอร์ ออกโฆษณาทั้งทางทีวี วิทยุ สื่อออนไลน์มากมาย
รวมทั้งใช้จุดอ่อนของผู้ซื้อจากการนำเสนอภาพ-วิดีโอสัมภาษณ์ผู้ป่วยมาเป็นตัวกระตุ้น ซึ่ง อย. ออกมาเตือนโดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วย นอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังอาจจะทำให้โรคหรืออาการที่เป็นอยู่แย่ลง
แล้วแบรนด์เหล่านี้มีรายได้แค่ไหน
ยกมาให้ดูด้วยกัน 3 บริษัท จากการตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า Cordy Plus อ. วิโรจน์ บริษัทผู้จัดจำหน่ายคือ บริษัท เฮลท์ตี้ พรีเมี่ยม โปรดัค จำกัด มีรายได้เมื่อปี 2562 อยู่ที่ 68,576,138.27 ล้านบาท
CordycepPlus ถั่งเช่ายิ่งยง มีผู้จัดจำหน่ายคือ บริษัท โนวา ออร์แกนิค จำกัด ที่บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตราโดนัทท์ มีรายได้รวมปี 2562 อยู่ที่ 483,349,868.00 ล้านบาท
ถั่งเช่า คอร์ดี้ไทย Cordythai จากอนุสิทธิบัตรร่วม ม. เกษตร บริษัท คอร์ดี้ไบโอเทค จำกัด มีรายได้ปี 2562 อยู่ที่ 85,247,592.21 ล้านบาท
แม้จะเห็นแอคชั่นของ กสทช. และ อย. ออกมาปราบปรามผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่โฆษณาเกินความเป็นจริง แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เด็ดขาดพอ เพราะก็ยังเห็นออกมาเรื่อย ๆ และแม้จะถูกเตือนไปแล้วก็ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องสะท้อนกลับไปตั้งคำถามกับแบรนด์ถึงจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมที่ต้องมีมากกว่า หวังรายได้จากการขายของหรือไม่
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

