“ปีนี้จะเป็นปีแห่งโอกาส ปีแห่งความท้าทาย และอาร์เอสจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นปีที่อาร์เอสจะทำออลไทม์ไฮทั้งรายได้และกำไร” หนึ่งในประโยคที่เฮียฮ้อพูดในงานแถลงข่าววันนี้
ปีที่ผ่านมาอาร์เอสย้ายที่ทำการใหม่ เปลี่ยนโลโก้ รุกธุรกิจด้วยบิสซิเนสโมเดลใหม่ในชื่อ “Entertainmerce”
มาปีนี้ 2564 อาร์เอสเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ด้วยการมี New S-Curve ใหม่ เข้าสู่ธุรกิจการเงิน “บริหารสินทรัพย์-สินเชื่อรายย่อย”
ด้วยการเข้าซื้อหุ้น ในบริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด ในสัดส่วน 35% คิดเป็นมูลค่า 920 ล้านบาท
การเข้าไปสู่ธุรกิจใหม่ของอาร์เอสครั้งนี้จะได้อะไร และกลุ่มเชฎฐ์จะได้อะไรจากอาร์เอส วันนี้ เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และวิทวัส เวชชบุษกร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของอาร์เอส ขยายความถึงดีลใหม่ให้ฟัง
มีคนถามเฮียว่าตลาดใหม่ที่ไปมีการแข่งขันสูงนะ เฮียมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะตลาดที่ดีและเติบโตย่อมเป็นตลาดที่มีผู้เล่นสนใจอยู่แล้ว…
เฮียมองว่าธุรกิจกลุ่มเชฎฐ์จะไม่ได้ถูกดิสรัป แต่การเกิดขึ้นของเทคโลยีใหม่ ๆ จะมาเป็นตัวช่วยให้กลุ่มเชฎฐ์ทำธุรกิจได้ดีขึ้น”
เพราะความน่าสนใจของอุตสาหกรรมที่กลุ่มเชฎฐ์ทำอยู่มีความน่าสนใจมาก ในแง่การเติบโตสินเชื่อ และหนี้เสียเอ็นพีแอลที่เติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งแนวโน้มความต้องการสินเชื่อรายย่อยมีมากขึ้น
ความน่าสนใจและประโยชน์ที่จะได้รับคือ ต่อยอดบิสซิเนสโมเดล “Entertainmerce” ของอาร์เอส ที่เชฎฐ์เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน ที่น่าจะต่อยอดฐานคนดู ฐานลูกค้าที่อาร์เอสมีการเข้าถึง โดยเฉพาะ ‘ช่องทาง’ ที่เป็นจุดแข็งของอาร์เอส
การแชร์ทรัพยากรที่ทั้งสองบริษัทมีความคล้ายคลึงกัน ทั้งระบบการบริหารข้อมูลลูกค้า ทีมการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพให้ทั้งสองฝ่าย
การนำเสนอโซลูชั่นใหม่ ๆ ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ในอนาคตเราน่าจะเห็น “ไฟแนนเชียลโปรดักส์” โอกาสของอาร์เอส มอลล์ที่จะร่วมมือกับเชฎฐ์ออกสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น การปล่อยสินเชื่อให้กับสินค้าบางประเภท น่าจะเป็นสิ่งที่สร้างความหลากหลายให้กับธุรกิจคอมเมิร์ซได้
ส่วนกลุ่มเชฎฐ์ได้ประโยชน์จากอาร์เอสในการสร้างแบรนดิ้ง ภาพลักษณ์องค์กร กลยุทธ์การตลาด ที่มีเป้าหมายร่วมกันคือพา เชฎฐ์ เอเชีย เข้าตลาดหลักทรัพย์ ภายในปี 2565 อย่างช้าต้องไม่เกินปี 2566
กลุ่มเชฎฐ์ ทีมผู้บริหารคือตัวจริง อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มามากกว่า 20 ปี 2-3 ปีที่ผ่านมาหลาย ๆ บริษัทอุตสาหกรรมก็เข้าไปจดทะเบียนและระดมทุนสร้างความเติบได้
สิ่งสำคัญของธุรกิจนี้คือการโตด้วยเงิน อาร์เอสเข้าไปช่วยเรื่องการเงิน ทำธุรกิจร่วมกัน…และโอกาสทำธุรกิจคอมเมิร์ซของอาร์เอสจะเปิดกว้างขึ้น” เฮียฮ้อระบุ
ส่วนภาพใหญ่ของอาร์เอส เฮียฮ้อบอกในงานแถลงว่า ปีนี้เป็นปีที่อาร์เอสจะเติบโตแบบก้าวกระโดด เหตุผลหลัก ๆ มาจาก 4 เรื่อง
คือ ความพร้อมของอาร์เอสกับบิสซิเนสโมเดลที่แตกต่างและโดดเด่น, องค์กรของอาร์เอสมีการปรับโครงสร้างทีมบริหารจัดการคนที่สอดรับกับยุคปัจจุบัน, กลยุทธ์ Entertainmerce ที่พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผล และจะเป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนไปอีกหลายปี และเรื่องไอที ดิจิทัล ที่อาร์เอสทุ่มเงินลงทุนพัฒนาเรื่องไอทีอย่างมาก
อ่าน: คุยเรื่องค่ายเพลงไปจนถึงธุรกิจอาหารสัตว์ และการไม่หยุดทำสิ่งใหม่ในวัย 58 ของเฮียฮ้อ
อ่าน: “เฮียฮ้อ” คนพลิกเกม เรื่องที่อาร์เอสน่าจะ “ดราม่า” แต่กลับ “แฮปปี้”
ด้วย 4 กลยุทธ์
1. การพัฒนาต่อเนื่องของอาร์เอส มอลล์ สอดรับกับเมกะเทรนด์สำคัญของโลกและการเติบโตของฐานลูกค้า
2. การเติบโตแบบก้าวกระโดดของไลฟ์สตาร์ ออกสินค้าประเภทใหม่ ๆ สู่ตลาดทุกช่องทาง
3. สร้างรายได้เพิ่มจากกลยุทธ์ Content-Driven ผ่านทางช่อง 8, COOLISM และ RS Music
4. การทำ M&A จากการ Synergy กับโมเดลธุรกิจ Entertainmerce
อ่าน: ค่ายเพลง-โฮมช้อปปิ้งไม่พอ เฮียฮ้อ ขอลุยธุรกิจทวงหนี้ สินเชื่อ
แล้วแต่ละธุรกิจของอาร์เอสจะไปทางไหนบ้าง
RS Mall
เมกะเทรนด์ที่สำคัญในปีนี้มุ่งเน้นไปที่การดูแลและใส่ใจในเรื่องสุขภาพ และกลุ่มคนรุ่นเก่า (Silver Generation) เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง เป็นหัวใจสำคัญของ Business Model ของอาร์เอส มอลล์
สำหรับการเติบโตทางธุรกิจ อาร์เอส มอลล์ ตั้งเป้าไว้ที่ 30% จาก Inbound ที่มาจากช่อง 8 ช่องทีวีดิจิทัลพันธมิตร และช่องทีวีดาวเทียม ช่องทาง Outbound จากเทเลเซลล์ และเติบโต 2 เท่าสำหรับช่องทางออนไลน์
มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านราย จากฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ 1.6 ล้านราย
และหวังให้อัตราซื้อซ้ำจาก 2 ครั้ง เพิ่มมาเป็น 2.4 ครั้ง
ช่องทางการจำหน่ายช่องทางออนไลน์ สร้างยอดสูงสุดในทุก ๆ เดือน มีทราฟฟิกเพิ่มขึ้น 150%
LIFESTAR
ที่เป็น House Brand ของ RS อย่างที่บอกไปก่อนหน้าเมกะเทรนด์ในปีนี้คือเรื่องของสุขภาพ เพราะฉะนั้นในปีนี้ไลฟ์สตาร์จะส่งสินค้าแบรนด์ใหม่เข้าสู่ตลาด Mass Market อย่างเต็มตัว
40% ในกลุ่ม Functional Drink
ที่เฮียฮ้อบอกว่าเครื่องดื่มกลุ่มฟังก์ชันนัลดริงก์เติบโตต่อเนื่อง 9 เดือนแรกของปีที่ผ่านมาตลาดนี้มีมูลค่า 9.1 พันล้านบาท แม้เฮียฮ้อจะไม่เปิดเผยว่าเป็นเครื่องดื่มสินค้าชนิดไหน จะเป็นน้ำผสมวิตามิน หรือเครื่องดื่มวิตามินซีหรือไม่นั้น
แต่ไทม์ไลน์ที่จะส่งสินค้าสู่ตลาดมีด้วยกัน 3 โปรดักส์ เริ่มต้นเดือน เม.ย. ถัดไปเดือน มิ.ย. และปิดท้ายด้วย ก.ย. ผ่านทุกช่องทางการจำหน่าย และเพิ่มช่องทางที่เป็นเอ็กซ์คลูซีฟ
40% ในกลุ่มสินค้าสุขภาพ
สินค้าสุขภาพโตต่อเนื่องมา 5 ปี ปีที่ผ่านมาตลาดมีมูลค่าอยู่ที่ 2.39 หมื่นล้านบาท อาร์เอสวางแผนออกสินค้า 2 ตัว คือ มี.ค. และ มิ.ย.
20% ในกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง
ที่เฮียฮ้อออกมาบอกในการแถลงข่าวในปีที่แล้วว่าจะรุกตลาดอาหารสัตว์ ที่เฮียฮ้อมองเห็นว่า ตลาดสัตว์เลี้ยงมีมูลค่าราว 35 ,000 ล้านบาท โฟกัสลึกลงไปในตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 16,000 ล้านบาท ที่แต่ละปีมีการเติบโตเฉลี่ย 9%
บวกกับอาหารสัตว์เป็นสินค้าเชิง Emotional ที่ผู้คนยอมจ่ายเพื่อให้สัตว์เลี้ยงที่หลายคนเลี้ยงเหมือนลูก
เฮียฮ้อวางแพลนจะส่งอาหารสัตว์เลี้ยงออกมาสู่ตลาดในเดือน พ.ค. นี้
ช่อง 8
ปีนี้เฮียฮ้อยังใช้กลยุทธ์เก้าอี้ 4 ขา ที่ทำให้ปีที่ผ่านมาช่อง 8 ประสบความสำเร็จอย่างสูง
ทำให้ช่อง 8 แตกต่างจากช่องทีวีดิจิทัลอื่น เพราะเป็นช่องเดียวที่มีรายได้ทั้งจากการโฆษณา รายได้จากธุรกิจคอมเมิร์ซ รายได้จากการจัดอีเวนต์ และรายได้จากการขายคอนเทนต์ สู่การทำรีเมคออริจินัลคอนเทนต์
โดยช่อง 8 จะมีสัดส่วนรายได้ดังนี้
entertainmerce 40%
media sponsor 30%
license&Online 20%
event 10%
COOLISM
ปีนี้เฮียฮ้อใช้กลยุทธ์แม่น้ำ 3 สาย
นำโดย COOLfahrenheit ที่หวังปั้นฐานผู้ฟังทั้งออนแอร์และออนไลน์รวมกันกว่า 3.7 ล้านคน เจาะกลุ่มพรีเมียมแมส ขยายฐานสู่ Young Generation ผ่านการเป็นพาร์ตเนอร์กับออนไลน์แพลตฟอร์มอื่น ๆ
ธุรกิจ COOLive ที่ร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจเพลงจัดคอนเสิร์ตและกิจกรรมตลอดทั้งปี เพื่อเชื่อมโยงลูกค้าทุกแพลตฟอร์ม รักษาเรตติ้งอันดับหนึ่ง
COOLanything ต่อยอดโมเดล Entertainmerce พัฒนาเมนูช้อปปิ้งทั้งบนแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนฟังให้ช้อปปิ้งและฟังเพลงไปพร้อมกัน
RS Music
จากปีที่ผ่านมาที่อาร์เอสกลับมาทำธุรกิจเพลงอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัว 3 ค่ายหลัก ๆ ด้วยกันคือ Rose Sound, Kamikaze และ RSIAM
บวกกับได้กระแส “โตมากับอาร์เอส” ที่ตอนนี้กลายมาเป็นกำลังซื้อสูงสุด ทำให้ปีนี้วางแผนออกเพลงทั้งหมด 80 ซิงเกิ้ล ที่ธุรกิจเพลงจะเติบโตทุกช่องทาง ทั้งยอดวิว ยอดรายได้จากโฆษณา
ในด้านคอนเสิร์ตและอีเวนต์ ที่มีการปรับแผนหลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เฮียฮ้อระบุว่า คอนเสิร์ตที่จะเห็นเร็วที่สุดคือในไตรมาส 2 กับ คอนเสิร์ต Kamikaze
ไตรมาส 3 อีก 4 คอนเสิร์ต ส่วนไตรมาสสุดท้ายปิดท้ายด้วยคอนเสิร์ต D2B และ Cool Winterfest2021 ที่เฮียฮ้อระบุว่า ถ้าเฟสติวัลนี้ประสบความสำเร็จก็จะจัดทุก ๆ ปี
ด้านอีเวนต์ก็จะเชื่อมโยงกับรายการทางช่อง 8
M&A
ที่เป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ของกลุ่มอาร์เอสที่เฮียฮ้อกล่าวไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา อาร์เอสจะเติบโตทั้งแนวตั้ง คือธุรกิจเดิม ส่วนแนวราบ คือการหาพาร์ตเนอร์ธุรกิจใหม่
การ M&A จะเป็นการสร้าง Ecosystem ให้กับอาร์เอส ส่งผลให้เติบโตแบบก้าวกระโดด
ดีลแรกต้นปีที่อาร์เอสเข้าไปซื้อหุ้นในบริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด ในสัดส่วน 35% ของทุนจดทะเบียน คิดเป็นมูลค่า 920 ล้านบาท อย่างที่เล่าให้ฟังไปในข้างต้น
ในปีนี้เราจะยังเห็นดีลใหม่ในธุรกิจใหม่จากอาร์เอสอีกราว 1-2 ดีล โดยอยู่ในงบอีกรายละ 300-600 ล้านบาท
คาดหวังว่ากำไรจากการทำ M&A จากดีลนี้และดีลใหม่ที่เกิดขึ้นจะมีสัดส่วน 20-30%
ส่วนดีลใหม่ดีลต่อไป เฮียฮ้อแย้มว่า เดาไม่ถูกหรอกว่าดีลที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือดีลอะไร ใกล้ ๆ แล้วจะบอกเอง


ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายใหญ่ของอาร์เอสในปีนี้ที่มีรายได้รวมทะลุ 5,700 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 12-14% (ไม่รวมกำไรที่เกิดจากธุรกิจ M&A)
รายได้ 5,700 ล้านบาท มาจาก
ธุรกิจคอมเมิร์ซ: 4,000 ล้านบาท
– สินค้ากลุ่มเดิมของอาร์เอส มอลล์, ไลฟ์สตาร์ 3,000 ล้านบาท
– สินค้าใหม่ที่ออกปีนี้ 1,000 ล้านบาท
ธุรกิจสื่อและบันเทิง: 1,700 ล้านบาท
– ช่อง 8 1,000 ล้านบาท
– Coolism 200 ล้านบาท
– ธุรกิจเพลง 300 ล้านบาท
– คอนเสิร์ตและอีเวนต์ 200 ล้านบาท
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

