GDP ประเทศไทย 2021 เติบโต 2.2% คาดการณ์โดย EIC
การเติบโตของ GDP ไทยในปีนี้เป็นการเติบโตที่ลดลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงสิ้นปี 2020 ที่ EIC คาดการณ์ไว้ที่ 3.8%
และอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ EIC มองว่า GDP ไทยเติบโตลดลง
1.
การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีช้ากว่าที่คาดการณ์
แม้ในปีนี้หลาย ๆ ประเทศมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว และการฉีดวัคซีนนี้อาจจะทำให้ประเทศไทยผ่อนปรนให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนเดินทางเข้าประเทศได้โดยลดข้อจำกัดการกักตัวลง
แต่ EIC ยังเชื่อว่าการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนก็ต่อเมื่อประเทศต้นทางต่างมีภาวะภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว
โดยประเทศพัฒนาแล้วจะทยอยมีภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปี 2021
ส่วนประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย เช่น จีน จะทยอยมีภูมิคุ้มกันหมู่ตั้งแต่ไตรมาสสี่ ปี 2021 และทยอยสร้างภูมิคุ้มกันในแต่ละประเทศเรื่อย ๆ ไปจนถึงไตรมาสสี่ ปี 2022 ที่ประเทศในกลุ่ม CLMV จะมีภูมิคุ้มกันหมู่
ส่วนประเทศไทยคาดการณ์จะมีภูมิคุ้มกันหมู่ในไตรมาสแรกปี 2022 หรืออีก 1 ปีข้างหน้า
ซึ่ง EIC มองว่าการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในแต่ละประเทศช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในปีที่ผ่านมา
และสิ่งนี้เองทำให้ EIC ปรับประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2021 ลงเหลือ 3.7 ล้านคน
นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยจะมาช่วงครึ่งหลังของปี 2021 โดยเฉพาะการเดินทางมาของนักท่องเที่ยวในไตรมาสสี่เป็นหลัก
2.
ภาคการส่งออกชะลอตัวในช่วงครึ่งปีแรก 2021 ตามเศรษฐกิจโลก
ในปัจจุบันมูลค่าการส่งออกไทยเติบโต 4% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้สิ้นปี 2020 ที่ 4.7%
การชะลอตัวของส่งออกไทยมาจากอุปสรรคสามประการ ได้แก่
– การกลับมาระบาดของโควิด-19
– ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์
– การแข็งค่าของเงินบาท
สำหรับครึ่งปีหลัง 2021 EIC มองว่าการส่งออกไทยจะกลับมาฟื้นตัวและผลักดันให้คาดมูลค่าการส่งออกเติบโต 4.0% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
การกลับมาฟื้นตัวของการส่งออกไทยมาจากมาตรการต่าง ๆ ของหลาย ๆ ประเทศ เช่น การนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่มาใช้ การปิดเมืองแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และการเร่งฉีดวัคซีนซึ่งจะนำไปสู่การมีภูมิคุ้มกันหมู่โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว
3.
โควิด-19 ระลอกใหม่กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีลักษณะ face-to-face
EIC คาดว่าประเทศไทยจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือนในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
แม้การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จะส่งผลกระทบไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดระลอกแรก เนื่องจากการปิดเมืองเป็นแบบเฉพาะเจาะจง และมีมาตรการภาครัฐที่ช่วยบรรเทาผลกระทบ แต่ผลของการระบาดและมาตรการควบคุมของภาครัฐ ทำให้การบริโภคภาคเอกชนลดลง 1.2% ของ GDP
และการระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ยังส่งผลกระทบและซ้ำเติมปัญหาและแผลเป็นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME และแรงงานในธุรกิจด้านบริการที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว
ทำให้ในภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเป็นไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญทั้งในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจและการจ้างงานยังไม่ฟื้นตัว
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมมีความแตกต่างระหว่างภาคธุรกิจค่อนข้างสูง รวมถึงยังมีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก
สำหรับ ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาในปี 2021 EIC มองว่ามาจากปัจจัย 6 ประการคือ
1) ระยะเวลาในการควบคุมการระบาดระลอกใหม่
2) ความล่าช้าในการกระจายวัคซีนในไทยอย่างแพร่หลาย
3) แผลเป็นทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินผ่านการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น
4) ปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน
5) ภัยแล้ง จากระดับน้ำในเขื่อนที่ยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต
6) ค่าเงินบาทที่แข็งกว่าคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ
แต่ Marketeer เชื่อว่าประเทศไทยสู้และผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



