‘โอฬาร พิรินทรางกูร’ เข้ามาทำหน้าที่ซีอีโอได้กว่า 3 ปี
แต่ปีที่ผ่านมาที่ต้องเจอกับสถานการณ์โควิด-19 โอฬาร พิรินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทย บอกกับ Marketeer ว่า ‘เป็นปีที่ท้าทายมากสุดแล้ว วอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทย ก็มีการปรับโครงสร้างองค์กรทั้งหมด’
แม้ตอนที่เขาเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอใหม่ ๆ ในตอนนั้นเจอกับความท้าทายที่เป็นช่วง ‘ขาลง’
วอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทย ต้องรีเฟรชแบรนด์ใหม่ให้ทันสมัย หาพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ ที่จะทำให้สถาบันสอนภาษาอังกฤษแห่งนี้เติบโต และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้ได้
จาก 7 สาขาในตอนนั้น โอฬารขยายสาขาเพิ่มเป็น 15 สาขา และอยู่ในช่วงขาขึ้น
ส่วนปีที่ผ่านมาที่เจอกับสถานการณ์โควิด-19 วอลล์สตรีท อิงลิช ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
โอฬารบอกว่า โรงเรียน สถาบันกวดวิชา ก็เป็นอีกธุรกิจอันดับต้น ๆ ที่ถูกสั่งปิดชั่วคราวตามมาตรการของภาครัฐ
และผลกระทบจากโควิด-19 นี้เองบางเจ้าลดจำนวนสาขา บางเจ้าล้มหายไปเลย
ตอนนี้ถ้าพูดถึงผู้เล่นรายใหญ่ก็เหลือแค่ไม่กี่รายเท่านั้น
และรายที่เป็นโกลบอลแบรนด์ก็มีอยู่ 3 เจ้าใหญ่แข่งกัน
จากมูลค่าตลาดโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในปี 2562 ที่มีมูลค่าราว 3,500 ล้านบาท
ปีที่ผ่านมาโอฬารมองว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้ภาพรวมรวมลดลงเล็กน้อย
ส่วนวอลล์สตรีท อิงลิชที่อยู่ในเมืองไทยมา 17 ปี แม้จำนวนสาขาจะไม่ได้ลดลง
แต่เม็ดเงินและจำนวนนักเรียนก็ลดลงไปเช่นกัน
รายได้จากที่มีราว ๆ 600 ล้านบาท ปีที่ผ่านมาลดลงไป 30%
จำนวนนักเรียนลดลง 25%
วอลล์สตรีท อิงลิช จึงต้องใช้กลยุทธ์ “ตีลังกา” ดูความพร้อมของพฤติกรรมลูกค้า และปรับตัวเองไปพร้อม ๆ กัน
ช่วงที่ผ่านมาปรับรูปแบบการสอนเป็นแบบออนไลน์ 100%
ที่แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของการเรียนกวดวิชาหรือสถาบันสอนภาษาที่ต่างก็มีการเรียนแบบออนไลน์
รวมถึงในยุคนี้ที่มีคลาสออนไลน์ให้เรียนฟรี เรียนรู้ด้วยตัวเอง มีช่องยูทูบสอนภาษาเกิดขึ้นมากมาย
แต่โอฬารบอกว่า การมีคลาสเรียนออนไลน์หรือมีช่องยูทูบสอนภาษาที่มากขึ้นเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนสนใจ และอยากเรียนภาษาอังกฤษมากกว่า
ส่วนรูปแบบออนไลน์ของวอลล์สตรีท อิงลิชเป็นเอส เคิร์ฟใหม่ ที่ต่างจากสถาบันสอนภาษาเจ้าอื่น
ที่ไม่ได้ให้ลูกค้าเรียนแบบ Self-Study แต่เป็นการเรียนสดกับอาจารย์ และมีโค้ชที่จะคอยติดตามโทรไปให้คำแนะนำ
ในคลาสเรียนที่สาขาเป็นแบบไหน ประสบการณ์การเรียนรูปแบบออนไลน์ก็มีไม่ต่างกัน และแต่ละคลาสก็จะเรียนแค่ 4 คน/คลาสเท่านั้น
ทิศทางในปีนี้ วอลล์สตรีท อิงลิชยังเดินเกมรุกการสอนภาษาอังกฤษทั้ง 3 แพลตฟอร์ม คือ
ที่สาขา ออนไลน์ และแบบออมนิชาแนลที่ผสมผสานการเรียนที่สาขาและออนไลน์เข้าด้วยกัน
จากสัดส่วนลูกค้ามาจากช่องทางสาขามากที่สุด หลังจากนี้ที่รุกออนไลน์เต็มตัวภายใน 2-3 ปี คาดว่าสัดส่วนลูกค้าจะมาจาก
สาขา 60%
ออนไลน์ 30%
ออมนิชาแนล 10%
ขณะที่การขยายสาขาในปีนี้ โอฬารมองว่าในวิกฤตก็ยังมีโอกาสในแง่มุมที่จะได้ค่าเช่า หรือต้นทุนการเปิดสาขาที่ถูกลง
โดยตั้งเป้าเปิดสาขาปีนี้ 1-2 สาขา ในโมเดลแฟรนไชส์ในต่างจังหวัด
15 สาขาของวอลล์สตรีท อิงลิช แบ่งเป็น
13 สาขาใน กทม.
2 สาขาในต่างจังหวัด”
ส่วนการขยายไปต่างประเทศหลังจากที่ได้สิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ในการขยายสาขาในไทย ลาว และกัมพูชา มาเมื่อ 2 ปีก่อน
กลางปีนี้จะเห็นสาขาของวอลล์สตรีท อิงลิช ในกรุงพนมเปญ กัมพูชา และภายใน 5 ปี จะมี 3 สาขา
ส่วนที่ลาวอยู่ในระหว่างหาพาร์ตเนอร์พันธมิตร
ทั้งหมดนี้คือ วอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทย ที่อยู่ภายใต้หัวเรืออย่าง โอฬาร พิรินทรางกูร
ที่ปีนี้เขาตั้งเป้าเติบโต 40% จากปีก่อน
และมีมาร์เก็ตแชร์มากขึ้นหลังโควิด-19 จากเดิมที่ครองส่วนแบ่งเบอร์ 1 ที่ 35%
จากเหตุที่ว่าผู้เล่นในตลาดลดน้อยลง การทำออนไลน์ที่เป็นเอสเคิร์ฟใหม่ของวอลล์สตรีท อิงลิช
ที่เป็นมุมที่น่าติดตามอย่างมาก
ภาษาอังกฤษยังคงมีความสำคัญ อันดับ 1-3 ที่ทุกคนต้องมี
อัตราการว่างงานและถูกเลิกจ้างในระบบราว 7 แสนคน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการแข่งขัน”
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

