หลังฝ่าดราม่าเหยียดเพศมาถึง 2 ครั้ง Whitney Wolfe ก็พาแอปหาคู่ Bumble ทำ IPO หมื่นล้าน และเป็นสมาชิกคนล่าสุดในทีม CEO คุณแม่อเมริกันรุ่นใหม่คนเก่ง
“ทุกความสำเร็จ ต้องแลกด้วยการฟันฝ่าอุปสรรค” นี่เป็นสัจธรรมทางธุรกิจที่ผู้บริหารทุกคนรู้ดี โดย CEO แต่ละคนมีโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ให้ได้ก่อนขึ้นรับรางวัลแห่งความสำเร็จต่างกันไป สำหรับ Whitney Wolfe ที่เพิ่งพา Bumble แอปหาคู่เน้นกลุ่มผู้หญิง ทำ IPO ได้ถึง 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 65,800 ล้านบาท) โจทย์ใหญ่ที่เธอฝ่ามาได้คือเรื่องดราม่าเหยียดเพศ ถึง 2 ครั้ง
Whitney Wolfe
Whitney Wolfe เป็นชาวอเมริกัน เกิดเมื่อ 1 กรกฎาคม 1989 ในครอบครัวฐานะดีที่พ่อคือเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ในเมือง Salt Lake City รัฐ Utah แน่นอนว่าด้วยต้นทุนชีวิตดังกล่าวจึงส่งให้เธอได้เรียนในสถาบันการศึกษาชั้นนำตลอด ทว่าเธอก็ไม่ใช่ “ลูกคุณหนู” สวยใสไร้สมองที่เอาแต่ผลาญเงินพ่อแม่
ธุรกิจขายกระเป๋าสานไม้ไผ่ทรงเก๋ที่เธอกับเพื่อนทำช่วงเรียนมหาวิทยาลัยและนำกำไรไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแท่นขุดเจาะน้ำมันของ BP ระเบิดเมื่อปี 2010 ไปได้สวย จนคนดังร่วมสนับสนุน และหลังเรียนจบใหม่ ๆ เธอยังเดินทางมาช่วยเหลือเด็กกำพร้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
โลกการทำงานของ Whitney Wolfe เริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อปี 2012 ด้วยการร่วมพัฒนาแอปหาคู่กับทีม Startup ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Justin Mateen อดีตแฟนหนุ่มของเธอ และต่อมาแอปนี้ก็กลายมาเป็น Tinder นั่นเอง
ทว่าเกิดดราม่าขึ้น โดยทีมผู้ก่อตั้งแตกคอกัน จุดเริ่มต้นมาจาก Justin Mateen กับ Whitney Wolfe ทะเลาะกันถึงขั้นแตกหักและฝ่ายชายว่าฝ่ายหญิงแบบเสียหาย
Justin Mateen และ Whitney Wolfe
ดราม่าที่ Tinder บานปลาย เพราะ Whitney Wolfe ไม่เป็นฝ่ายยอม และยื่นฟ้องร้องบริษัทที่เธอทั้งร่วมก่อตั้งและเป็นคนคิดชื่อ แม้เธอได้ค่าเสียหายมา 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 30 ล้านบาท) และ Justin Mateen พ้นเก้าอี้ CEO แต่จิตใจเธอก็บอบช้ำอย่างมาก เพราะต้องเผชิญการข่มขู่และคุกคามจากดราม่าดังกล่าวอีกพักใหญ่
Whitney Wolfe ออกจาก Tinder มาพร้อมจิตใจที่ย่ำแย่และก็หวังจะเอาคืน ‘บ้านเก่า’ ให้สาสมด้วยการประสบความสำเร็จ แต่ชีวิตก็ไม่ได้มีแต่เรื่องแย่ ๆ เท่านั้น เพราะระหว่างถอยกลับไปตั้งหลักในบ้านเกิดนี่เอง เธอได้เจอกับ Michael Herd ทายาทเศรษฐีน้ำมันมาเยียวยาหัวใจ แต่งงานและสร้างครอบครัว นอกจากนี้ เธอยัง ‘ปิ๊งไอเดีย’ ปั้นแอปหาคู่ที่ให้ผู้หญิงได้เป็นฝ่ายเลือก ไม่ใช่ผู้ถูกเลือกอีกต่อไป
Michael Herd และ Whitney Wolfe
ความคิดปั้นแอปดังกล่าวเริ่มเป็นรูปเป็นร่างหลัง Whitney Wolfe ได้ชื่อแอปว่า Bumble ที่แตกคอนเซ็ปต์รายรอบมากมาย ทั้งเสียงหึ่งๆ ของผึ้งยามหาคู่ การเป็นนางพญาผื้งอันสื่อถึงการเป็นผู้เลือกของฝ่ายหญิง และความหวานแบบน้ำผึ้ง (Honey) ซึ่งยังหมายถึงการเรียก ‘ที่รัก’ ได้ด้วย
ปี 2014 แอปหาคู่ในชื่อ Bumble ก็เปิดตัว โดยเงินลงทุนก้อนใหญ่สุดมาจาก Andrey Andreev มหาเศรษฐีชาวอังกฤษเชื้อสายรัสเซีย ที่เคยลงทุนใน Tinder นั่นเอง
จากนั้นทุกอย่างมีทีท่าว่าจะไปได้สวยและเข้าทาง Bumble ในยุค #Metoo ที่ผู้หญิงลุกขึ้นสู้การเหยียดเพศทุกรูปแบบ กระแสของหนัง Wonder Woman รวมถึงไปเปิดตลาดในอินเดีย ประเทศที่ปัญหาการเหยียดเพศหญิงรุนแรง แต่แล้วก็มีดราม่าเหยียดเพศเกิดขึ้นอีก
Andrey Andreev
ปี 2019 มีข่าวว่าเกิดการเหยียดเพศมากมายในสำนักงานใหญ่ของ Badoo เว็บไซต์หาคู่ที่ Andrey Andreev เป็นผู้ก่อตั้ง เรื่องจบลงตรงที่ Andrey Andreev ขายหุ้นใน Bumble ทั้งหมดให้ Blackstone บริษัทลงทุนยักษ์ใหญ่ ซึ่งช่วยให้ Bumble ปฏิเสธข้อเสนอซื้อกิจการของ Match Group บริษัทแม่ของ Tinder อย่างเจ็บแสบว่า “เราขอปัดซ้ายกับคุณ ที่เข้ามาข่มขู่ซื้อบริษัท เราจะไม่ยอมไปอยู่ใต้ชายคา และจะเป็นบริษัทพลังหญิงต่อไป”
11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Whitney Wolfe วัย 31 ปี พา Bumble ทำ IPO มูลค่า 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 65,800 ล้านบาท) พร้อมอนาคตใสที่รออยู่ด้วยจำนวนผู้ใช้ 42 ล้านคน แพลตฟอร์มลูกที่ใช้ในทางธุรกิจ และบรรดาหญิงเก่งคนดังอย่าง Priyanka Chopra กับ Serena Williams ร่วมลงทุนด้วย
Priyanka Chopra และ Whitney Wolfe
ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ Whitney Wolfe ไม่ได้แค่เอาคืน Tinder เท่านั้น แต่ยังทำให้เธอเป็น CEO คุณแม่อเมริกันรุ่นใหม่คนเก่งที่ถูกจับตามอง ทีมเดียวกับ Julia Hertz กับ Katrina Lake ที่พา Everbrite และ Stich Fix ทำ IPO ไปเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้อีกด้วย/cnn, cnbc, wikipedia, businessinsider
I-
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ