พระเจ้าสร้างโลก ที่เหลือ Xiaomi สร้าง

หลายคนคงรู้จักแบรนด์​ Xiaomi จากสินค้าหลากหลาย โดยเฉพาะเครื่องฟอกอากาศ ที่เข้ามาตอบโจทย์อากาศเป็นพิษจาก PM2.5 ในไทยเป็นอย่างดี

 

แต่ความจริงแล้วธุรกิจ Xiaomi เข้ามาทำความรู้จักกับคนไทยครั้งแรกผ่านสมาร์ทโฟน เจาะกลุ่มไปยังมี่แฟน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่หลงในแบรนด์ Xiaomi เป็นหลัก

ก่อนที่จะขยายไปยังกลุ่มแมสจากจุดเด่นสมาร์ทโฟน สเปกดี ราคาที่ผู้บริโภคเลือกซื้อได้เป็นจุดขายหลัก

 

ในปีที่ผ่านมา Xiaomi เป็นเบอร์สี่ในตลาดสมาร​์ทโฟนไทย ด้วยส่วนแบ่งตลาด 11% ที่มาพร้อมการเติบโต 234% ในกลุ่มตลาดสมาร์ทโฟนพรีเมียมในไทย

ในวันที่เสี่ยวหมี่ คามัล เหลียง ผู้จัดการทั่วไป ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสี่ยวหมี่ อินเตอร์เนชั่นแนล คนใหม่ เดินทางมาประเทศไทยครั้งแรกเพื่อเปิดตัวสมาร์ทโฟน Mi11 สมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นแรกของปี 2564 ที่มีจุดเด่นเรื่องถ่ายภาพวิดีโอ เพื่อเจาะตลาดในกลุ่มสมาร์ทโฟนพรีเมียม

 

เขาได้กล่าวถึงเป้าหมายสมาร์ทโฟน Xiaomi ในประเทศไทยว่า สมาร์ทโฟน Xiaomi ต้องเป็นเบอร์ 3 ในตลาดไทยให้เร็วที่สุด

 

สิ่งที่ทำให้คามัล เหลียงมั่นใจเช่นนั้นมาจากความสำเร็จของ Xiaomi ในปีที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วย

1. การมีสินค้า นวัตกรรม ในราคาที่จับต้องได้

2. การมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งอย่างหมี่แฟนในประเทศไทย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสร้างการเติบโต

3. การมีช่องทางออนไลน์ที่พร้อมรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

ส่วนในปีนี้แม้สมาร์ทโฟน Xiaomi ประเทศไทย จะมี Brand Awareness สู้สินค้า เช่น เครื่องฟอกอากาศ และเครื่องดูดฝุ่นไม่ได้ แต่เขามั่นใจว่าปีนี้สมาร์ทโฟน Xiaomi จะมี Brand Awareness ที่สูงขึ้น พร้อมกับสร้างการเติบโตด้านยอดจำหน่าย ด้วยงบการตลาดมากกว่าปีที่ผ่านมา 2 เท่า ผ่านกลยุทธ์ 4 ประการ ได้แก่

1. สร้างจุดแตกต่างด้านสินค้าจากคู่แข่งในราคาจับต้องได้ ผ่านสินค้ามาจำหน่ายมากกว่า 10 รุ่น ครอบคลุมทั้ง ระดับ Entry Level จนถึง Hi End เพื่อเจาะกลุ่มตลาดทุกเซกเมนต์ รวมถึงเชื่อมต่อแบรนด์สมาร์ทโฟน Xiaomi ไปกับอุปกรณ์ AIOT (AI+IoT) ต่าง ๆ เข้าด้วยกันในรูปแบบ Ecosystem เพื่อเชื่อมโยงแบรนด์ Xiaomi เข้าด้วยกัน

2. ขยาย Mi Store จากปัจจุบัน 30 แห่ง เพิ่มเป็น 100 แห่ง การเพิ่ม Mi Store Marketeer มองว่า Xiaomi ต้องการใช้สินค้าทั้งหมดใน Ecosystem  ดึงดูดผู้บริโภคให้เข้าไปดูสินค้าใน Store เพื่อเพิ่มโอกาสในการเห็นสมาร์ทโฟน Xiaomi และลองใช้มากขึ้น รวมถึงเพิ่ม Point of Sale จาก 4,000 จุดเป็น 10,000 จุด ในปีนี้

3. ให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย ด้วยการเพิ่มศูนย์บริการหลังการขายเป็น 25 แห่ง จากเดิม 12 แห่ง รวมถึงเปิดคอลเซ็นเตอร์ภาษาไทยในเดือนมีนาคม เปิด Pick Up Point ในเดือนเมษายน และพฤษภาคม เปิดตัว door to door service เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

การที่ Xiaomi รุกเปิดให้บริการหลังการขาย Marketeer มองว่ามาจากเหตุผลที่สำคัญคือสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เนื่องจากแบรนด์สมาร์ทโฟน Xiaomi เป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคระดับแมสยังไม่รู้จักและมั่นใจมากนัก การมีศูนย์บริการหลังการขายที่ครอบคลุมมากขึ้น อาจจะเป็นหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจในการทดลองใช้ เพราะอย่างน้อยเมื่อเครื่องมีปัญหาก็สามารถติดต่อและส่งซ่อมได้

 

ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจในประเทศไทยจะยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด-19 แต่คามัล เหลียงเชื่อว่าการลงทุนในปี 2564 เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าจากการมองเห็นสัญญาณบวกการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และการเปิดให้บริการห้าจีของโอเปอเรเตอร์ไทย เนื่องจากคนไทยมีพฤติกรรมในการรับเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และ Xiaomi จะร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์ในการนำเสนอสมาร์ทโฟนห้าจีไปยังผู้บริโภคไทย



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน