“แซนด์วิชอบร้อน” ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าวางเรียงรายขายในเซเว่นฯ

ใครจะรู้มาจากบริษัทเล็ก ๆ ที่ชื่อ “NSL FOODS” ก่อตั้งโดย ‘สมชาย อัศวปิยานนท์’ ทำ OEM แซนด์วิชอบร้อนส่งให้เซเว่นฯ เจ้าเดียว

จากในปี 2549 ที่เริ่มเป็นพันธมิตรกับเซเว่นฯ ปี 2552 เริ่มส่งแซนด์วิชอบร้อนวางขายอย่างเป็นทางการ

วันนี้ยอดขายเฉพาะแซนด์วิชอบร้อนต่อวันอยู่ที่ 2-3 แสนชิ้น

มาวันนี้สมชายกางแผนธุรกิจ 5 ปี (2554-558) ตั้งเป้ารายได้ NSL FOODS จะไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท

แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้น ตอนนี้ขาทั้ง 2 ข้างในพอร์ตของ NSL FOODS มีอะไรบ้าง

ขาข้างแรกแน่ ๆ ที่เป็นรายได้หลัก คือการทำ OEM ส่งให้เซเว่นฯ กว่า 12,000 สาขา ภายใต้แบรนด์อีซี่เทสต์ อีซี่สวีท และเซเว่น เฟรช

ที่ไม่ได้มีแค่แซนด์วิชอบร้อน แต่ยังมีกลุ่มของอุ่นร้อนอย่างเบอร์เกอร์ และของพร้อมรับประทานจำพวกแซนด์วิชปูอัดไข่กุ้ง เอแคลร์ เค้กช็อกโกแลต เค้กส้มหน้านิ่มรสส้ม โมจิชูครีม ด้วย

ขาข้างนี้สร้างเม็ดเงินมากกว่า 90%

ขาอีกข้างคือ สินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทเองที่มีทั้งขนมปังกรอบ พริกกรอบ วางขายทั่วไป แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่มีพลังพอเพราะสร้างรายได้ในสัดส่วนไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ

แม้สมชายจะไม่ได้มองว่าการที่เราทำธุรกิจกับเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นความเสี่ยง  แต่ Marketeer  เชื่อว่า สมชาย ที่ทำธุรกิจมาตั้งแต่ตอนเรียนจบ รู้ดีว่าการพึ่งรายได้จากช่องทางเดียวเป็นหลักในยุคนี้มันไม่พอ

เพราะเมื่อเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์โควิด-19 ที่เห็นตามข่าวกันบริษัทที่มีรายได้หลักจากช่องทางเดียวก็เกือบจะเอาตัวไม่รอด

 

ปี 63 สัดส่วนรายได้กระทบระดับหนึ่งแต่ไม่มาก ลดลงจากเป้าหมายที่วางไว้สถานการณ์ดีขึ้นยอดขายค่อย ๆ เติบโตกลับมา แต่อาจจะยังไม่เท่ากับก่อนโควิด

9 เดือน ปี 63 มีรายได้รวม 2,164.9 ล้านบาท

โดยกลุ่มของเบเกอรี่และอาหารรองท้องคิดเป็น 94.5%

ธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสมีรายได้ 94.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65 ล้านบาท

 

เพราะฉะนั้นสมชายจึงค่อย ๆ ขยายพอร์ตธุรกิจให้กว้างขึ้น

ปี 2562 เขาเข้าสู่ธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส เห็นโอกาสจากมูลค่าตลาดที่สูงถึง 20,000 ล้านบาท แต่ยังมีผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย

นำเข้าอาหารทะเล เนื้อสัตว์และผักแช่แข็ง ด้วยการซื้อกิจการบริษัทควอลิตี้ฟู้ด สเปเชียลตี้ จำกัด มีลูกค้าหลักคือกลุ่ม HORECA

รวมทั้งยังมีอาหารกล่องแช่แข็งที่สมชายเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี เพราะเขามีประสบการณ์ที่เป็นคนบุกเบิกพัฒนาอาหารกล่องแช่แข็งแบรนด์ อีซี่โก วางขายในเซเว่นฯ

ส่วนทิศทางปีนี้เขาหมายมั่นจะพา NSL FOODS ที่ปั้นมากับมือเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเดือน พ.ค. นี้

ต่อยอดธุรกิจขยายไปสู่อาหารหลาย ๆ เซกเมนต์

พัฒนาสูตรปรุงอาหารสำหรับเชนร้านอาหารในลักษณะ ready to eat หรือ ready to cook มากขึ้น

ขยายธุรกิจไปยังตลาดอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารสำหรับคนในแต่ละช่วงวัย ทั้งผู้สูงอายุและเด็ก

รวมถึงอาหารแห่งอนาคต จะเห็นแน่ ๆ คือ สแน็กจากโปรตีนแมลงอย่างจิ้งหรีด ที่ในไตรมาส 2 ของปีนี้เตรียมส่งออกไปยังเยอรมนีและญี่ปุ่น

ส่วนในไทยก็จะได้เห็นในปีนี้เช่นกัน

พร้อมทั้งมีแผนสร้างโรงงานแห่งใหม่ในพื้นที่เดิม โดยจะเป็นโรงงานที่มุ่งในธุรกิจอาหารแช่แข็งของอบแห้งที่เป็นแบรนด์ของบริษัท ด้วยงบลงทุน 350 ล้านบาท และจะเริ่มสร้างในปี 2566

ทั้งหมดนี้ทำให้ NSL FOODS ตั้งเป้ารายได้ไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านบาท เติบโต 16% ในปีนี้

และในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีรายได้แตะ 6,000 ล้านบาท

และในพอร์ตสัดส่วนรายได้จะมาจากธุรกิจอื่น (non 7-Eleven) 30 เปอร์เซ็นต์

และอีก 70 เปอร์เซ็นต์ จากเซเว่นอีเลฟเว่น

ที่จะต้องบาลานซ์ขาทั้งสามข้างในพอร์ต OEM ให้เซเว่นฯ-แบรนด์ตัวเอง-ฟู้ดเซอร์วิส ให้ดี และโตกว่าเดิม

FYI-4-11 Fisker

กว่า  NSL FOODS ของ สมชาย อัศวปิยานนท์ จะมาถึงทุกวันนี้ที่มีรายได้ระดับ 3 พันล้าน ไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะก่อนหน้าที่จะก่อตั้งบริษัท เขาผ่านการทำธุรกิจมาแล้วหลายครั้ง และเจอกับความ “ล้มเหลว” ทุกครั้ง

สมชายเรียนจบ Food Science จาก ม. เกษตรศาสตร์ เริ่มต้นด้วยการเป็นพนักงานออฟฟิศ แต่ทำได้ไม่นานก็ลาออก และไปเรียนต่อ และมาทำงานที่บริษัทขายเคมีภัณฑ์ทางด้านอาหารอยู่ระยะหนึ่ง

ก่อนที่จะลาออกมาตั้งบริษัทเป็นของตัวเอง

ลงทุนกับเพื่อนทำอาหารกล่องแช่แข็งในชื่อ สราญใจ แต่ก็ดูจะไม่เวิร์กเพราะเขามาเร็วเกินไปผู้บริโภคยังไม่เข้าใจ

ระหว่างทางสมชายยังได้จับมือกลุ่มนารายณ์ พัฒนาอาหารกล่องแช่แข็งแบรนด์ Ezygo ส่งเข้าเซเว่นฯ

เขาลองทำอีกหลาย ๆ อย่างก็ยังล้มเหลวเหมือนเคย

จนมาพบทางออกคือทำเบเกอรี่ ขนมอบ

ก่อนที่จะมาเจอจุดเปลี่ยนสำคัญ ช่วงน้ำท่วมปี 2554 ที่กลุ่มเซเว่นฯ เข้ามาจับมือทำเอ็มโอยู พัฒนาผลิตแซนด์วิชอบร้อน เบเกอรี่ และขนมหวาน ขายให้กับเซเว่นฯ จนกลายมาเป็น NSL FOODS ถึงทุกวันนี้



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online