เรื่อง ข้อเรียกร้องเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 

เรียน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงถึงกว่า 2,000 รายต่อวัน และผู้เสียชีวิตรายวันแตะเลขสองหลักอย่างต่อเนื่อง ผมตระหนักดีว่า ในเวลานี้รัฐบาลกำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักที่ต้องทำหน้าที่นำพาประเทศไทยให้สามารถก้าวผ่านจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานี้ ส่งผลให้ภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวของไทยจำเป็นต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อความอยู่รอด โดยอาศัยรายได้จากตลาดภายในประเทศเพียงอย่างเดียวเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจและการดำเนินกิจการ 

บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจอยู่ในภาคบริการและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ผมจึงใคร่เรียนขอให้ท่านพิจารณาข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นของผมดังต่อไปนี้ 

  • เร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ: การกระจายวัคซีนให้กับประชาชนต้องทำด้วยความเร่งด่วนอย่างสุดความสามารถ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทยควรได้รับวัคซีนภายในปีนี้  นอกจากที่รัฐบาลจีนได้ส่งวัคซีนจากประเทศจีนมายังประเทศไทยเพื่อทำการฉีดให้กับชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยแล้ว รัฐบาลไทยควรสนับสนุนให้สถานทูตต่างประเทศในประเทศไทย เช่น สถานทูตสหรัฐอเมริกา สถานทูตออสเตรเลีย และสถานทูตของประเทศอื่น ๆ จากทวีปยุโรป ให้ความช่วยเหลือเรื่องวัคซีนกับประชากรของตนเองอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีการสั่งวัคซีนมาใช้ในปริมาณที่เกินความต้องการ ซึ่งเมื่อประชากรในประเทศของประเทศเหล่านี้ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว วัคซีนที่เหลืออยู่ควรถูกส่งต่อมายังประเทศอื่น ๆ ที่ยังมีปริมาณวัคซีนไม่เพียงพอ เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชากรของประเทศตนเองที่พำนักอยู่ในต่างแดน หากรัฐบาลไทยนำเสนอประเด็นนี้ต่อสถานทูตผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศก็จะสามารถช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศไทยได้เร็วยิ่งขึ้น 

จากข่าวการเลื่อนระยะเวลาการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าในเข็มที่ 2 ออกไป เนื่องจากมีปริมาณวัคซีนไม่เพียงพอที่จะฉีดให้ได้ตามไทม์ไลน์ที่เคยกำหนดไว้ก่อนหน้า ส่งผลให้เกิดความกังวลอย่างมากต่อแผนการกระจายวัคซีนของประเทศ รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการอย่างสุดความสามารถเพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีวัคซีนเพียงพอที่จะฉีดให้กับประชาชนตามเวลาและแผนการที่กำหนดไว้ วัคซีนทางเลือกยี่ห้ออื่น ๆ ควรถูกนำมาพิจารณาเพื่อวางแผนให้รอบคอบและรัดกุมให้ประเทศพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินต่อไปอยู่

  • อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้วเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องมีการกักตัว: การยกเลิกการกักตัวสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง ซึ่งการลดระยะเวลาการกักตัวลงเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอที่จะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวได้ ยิ่งไปกว่านั้นการยกเลิกการกักตัวไม่ควรจำกัดอยู่แค่เพียงบางพื้นที่ เช่น 6 พื้นที่ท่องเที่ยวนำร่อง แต่ควรถูกบังคับใช้ในทุกพื้นที่ของประเทศ นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสตามกำหนดเป็นที่เรียบร้อย พร้อมทั้งมีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นลบ และเดินทางมาจากประเทศที่สถานการณ์โควิด-19 อยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ ถือเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำที่จะแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น ควรได้รับอนุญาตที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยได้อย่างอิสระ หากนักท่องเที่ยวเหล่านั้นยินดีที่จะใส่หน้ากากและมีระบบที่สามารถติดตามตัวได้ระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย นโยบายและข้อกำหนดอันเกี่ยวเนื่องกับการกักกันตัวต่าง ๆ จะมีผลโดยตรงต่อความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่การเข้าออกระหว่างประเทศนั้นมีความสะดวกมากกว่า 

การกลับไปใช้ระยะเวลาการกักตัวที่ 14 วันตามเดิมอาจไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม เนื่องจากไม่มีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนระบุว่าการระบาดในระลอกที่ 3 นี้ เป็นผลมาจากการลดระยะเวลากักตัวลงมาที่ 7-10 วัน โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการติดเชื้อภายในประเทศ (เช่น กลุ่มสถานบันเทิง เรือนจำ และชุมชนที่มีความแออัด)

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะยังคงยึดมั่นกับ โครงการ Phuket Tourism Sandbox ซึ่งมีกำหนดเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้วเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต แบบไม่มีการกักตัวในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ จากความพยายามในการเร่งกระจายวัคซีนของภูเก็ต ทำให้เชื่อได้ว่าโครงการนี้จะยังสามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้ โดยความสำเร็จของโครงการนำร่องนี้จะถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการเปิดประเทศอีกครั้ง

โดยก่อนที่เราจะทำการเปิดประเทศแบบไม่มีการกักตัวในทุกพื้นที่ รัฐบาลควรดำเนินการผ่านกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเจรจาทำข้อตกลงทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ เพื่ออนุญาตให้ประชาชนของทั้งสองประเทศ ที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว สามารถเดินทางไปมาระหว่างกันได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกักตัว อย่างเช่นที่ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ทำร่วมกัน ความสำเร็จของข้อตกลงในรูปแบบนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศ ก่อนที่จะมีการเปิดประเทศแบบเต็มรูปแบบในอนาคต

  • เร่งสรุปรายชื่อวัคซีนโควิด-19 ที่จะได้รับการอนุมัติให้สามารถใช้งานได้ในวัคซีนพาสปอร์ต รวมถึงผ่อนปรนมาตรการวีซ่า:  รัฐบาลควรเร่งดำเนินการจัดระบบเพื่อรองรับการใช้งานของวัคซีนพาสปอร์ตของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ในฐานะจุดหมายปลายทางที่เป็นที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก ประเทศไทยควรยอมรับหลักฐานการฉีดวัคซีนจากวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองในระดับสากลให้ได้มากที่สุด ขั้นตอนการเข้าออกประเทศควรถูกปรับเปลี่ยนให้มีความสะดวกและคล่องตัว ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ สายการบินระหว่างประเทศ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง กระบวนการเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่าก่อนช่วงเวลาที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ควรถูกแก้ไขให้กลับไปสู่นโยบายเดิม ตราบใดที่นักท่องเที่ยวเหล่านี้มีวัคซีนพาสปอร์ตและผลการตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นลบ ใบรับรองเพื่อใช้ในการเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry) และเอกสารอื่น ๆ สำหรับการยื่นเพื่อขอเข้าประเทศ อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป 
  • จัดให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ฟรี หรือการตรวจในราคาถูก สำหรับประชาชน: ข้อมูลคือกุญแจสำคัญในการจัดการกับโควิด-19 ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่ควรเป็นอุปสรรคในการปกป้องสุขภาพของประชาชนและชุมชน การรู้ว่าใครเป็นผู้ติดเชื้อ การติดเชื้อเกิดขึ้นเมื่อไหร่และที่ไหน เป็นสิ่งสำคัญในการยับยั้งการแพร่กระจายของโรค  การตรวจหาเชื้อในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ถือเป็นเสมือนปราการด่านแรกในการป้องกันการแพร่ระบาดด้วยเช่นกัน
  • สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน: ความเชื่อมั่นที่มีต่อการฉีดวัคซีนถือเป็นกุญแจสำคัญต่อความสำเร็จของการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศ รัฐบาลควรทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนองค์กรในชุมชนต่าง ๆ เสริมสร้างความรู้สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับความสำคัญ ความเร่งด่วน และความปลอดภัยของการฉีดวัคซีน นอกจากนี้  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนต่าง ๆ ควรได้รับการเปิดเผยอย่างทันท่วงทีและด้วยความโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
  • ออกมาตรการเงินสนับสนุนค่าจ้างพนักงานสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว: รัฐบาลควรดำเนินโครงการอุดหนุนค่าจ้างพนักงานสำหรับผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่มีพนักงานอยู่ในระบบประกันสังคม ถึงแม้ว่าตามเอกสารแล้วสถานภาพการจ้างงานของพนักงานเหล่านี้อาจจะยังถูกระบุว่าอยู่ในระหว่างการจ้างงาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว พนักงานโรงแรมจำนวนมากในเวลานี้กำลังเผชิญกับการลดลงของรายได้อย่างมีนัยสำคัญ และโรงแรมหลายต่อหลายแห่งก็ต้องแบกรับภาระหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ผู้ประกอบการโรงแรมกำลังพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะรักษาพนักงานของตนเองไว้ ซึ่งพนักงานส่วนมากที่เป็นผู้มีทักษะจะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับความต้องการสูงเมื่ออุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในเวลานี้ ทางเดียวที่พนักงานโรงแรมจะสามารถได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากประกันสังคมนั้น คือต้องอยู่ในสถานภาพถูกเลิกจ้างเท่านั้น โดยนับตั้งแต่มีการระบาดในระลอกที่ 3 นี้ ภาคการท่องเที่ยวยังคงไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ จากประกันสังคมแบบที่เคยได้รับในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ในปีที่แล้ว 

  • ขยายเวลาการอนุญาตให้นำผลขาดทุนไปหักล้างกับกำไรสุทธิอาจจะเกิดขึ้นในปีต่อไปเพิ่มเป็น 10 ปี: รัฐบาลควรพิจารณาขยายเวลาการอนุญาตให้นำผลขาดทุนไปหักล้างกับกำไรสุทธิอาจจะเกิดขึ้นในปีต่อไปอีก 5 ปี จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ 5 ปี เป็น 10 ปี ซึ่งสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้นก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่มีสงครามโลกครั้งที่ 2 และคาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับสู่สภาวะเดิม การขยายให้การนำผลขาดทุนไปหักล้างกับกำไรสุทธิในอนาคตเพิ่มขึ้นเป็น 10 ปี จะมีส่วนช่วยให้การฟื้นตัวเป็นไปได้เร็วขึ้น ซึ่งบางประเทศในทวีปยุโรปถึงขั้นมีการพิจารณาอนุญาตให้สามารถนำผลขาดทุนไปใช้หักล้างในอนาคตได้แบบไม่จำกัดจำนวนปี เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายอื่น ๆ ที่รัฐบาลอาจควรพิจารณาเพื่อบังคับใช้ เช่น การลดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมไปถึงการขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 ต่อไปอีก 2 ปี รัฐบาลควรพิจารณาการลดอัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งถือเป็นการให้ส่วนลดกับผู้บริโภคโดยตรงเพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ วิธีนี้ถือเป็นวิธีที่สะดวกและได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน โดยเมื่อปีที่แล้ว ประเทศอังกฤษได้ประกาศลดภาษีมูลค่าเพิ่มในภาคนันทนาการและการท่องเที่ยวจากอัตราร้อยละ 20 เหลือเพียงร้อยละ 5 อีกทั้งประเทศอื่น ๆ เช่น ประเทศเยอรมนี และสาธารณรัฐออสเตรีย ก็มีการบังคับใช้นโยบายในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ ผลกระทบและความเสียหายจากโรคระบาดในครั้งนี้ยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายๆ ประเทศก็ประกาศที่จะขยายระยะเวลาการบังคับใช้ของนโยบายช่วยเหลือและเยียวยาต่าง ๆ ออกไป เพื่อป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นล่มสลาย นโยบายเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะสามารถช่วยให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการที่สำคัญเหล่านี้ก้าวผ่านวิกฤตการณ์โควิด-19 ไปได้ ก่อนหน้านี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า อาจจะต้องใช้เวลาอีกถึง 5 ปี กว่าที่สถานการณ์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะกลับไปฟื้นตัวสู่จุดเดิม โดยเป็นที่สรุปได้ชัดว่าภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญของเศรษฐกิจกำลังอ่อนแออย่างมากและต้องการความช่วยเหลือเยียวยาอย่างเต็มที่ 

ผมต้องขอขอบพระคุณท่านอย่างสูงในการพิจารณาความเห็นของผมอีกครั้งหนึ่ง ผมเชื่อว่าความเห็นจากใจของผมเหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย ผมมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนประเทศอย่างเต็มที่ในขั้นตอนต่อไปตามแผนการเปิดประเทศและการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีส่วนได้ช่วยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยต่อไป

                                                              ขอแสดงความนับถือ

                                                            วิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค

                                                                 ประธานกรรมการ 

                                                บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online