เวลาเรากินขนมขบเคี้ยวทีไร เห็นซองใหญ่ ๆ แบบนี้ เปิดซองมา ไหนล่ะขนม มีแต่ลมทั้งนั้น
การที่ขนมขบเคี้ยวมีแต่ลมในมุมของวิทยาศาสตร์การอาหาร หรือ Food Science การเพิ่มลมลงไปในถุงขนม คือการรักษาคุณภาพของขนม
เพราะลมที่อัดอยู่ในถุงขนมคือก๊าซไนโตรเจนที่อัดเข้าไปเพื่อคงสภาพของขนมให้ใหม่สดเสมอเหมือนเพิ่งออกจากโรงงานเมื่อวาน
โดยเฉพาะขนมที่ต้องใช้น้ำมันทอด ก๊าซไนโตรเจนจะช่วยให้ขนมไม่เหม็นหืนอีกต่างหาก เพราะก๊าซนี้ไม่ทำปฏิกิริยากับขนมที่อยู่ในถุง และยังช่วยคงสภาพของขนมไว้เหมือนเดิมอีกด้วย
ส่วนก๊าซออกซิเจนที่เป็นอากาศหายใจของเรา จะทำปฏิกิริยากับขนม ทำให้เกิดกลิ่นหืนได้ เมื่อขนมนั้นถูกผลิตออกมานานเกินไป
และลมในถุงขนมยังป้องกันการกดกระแทกเมื่อมีการขนส่ง จนขนมจากที่เป็นชิ้นสวยงาม ต้องใช้ช้อนตักกินแทนเพราะแตกละเอียดหมด
นี่คือในมุมวิทยาศาสตร์การอาหาร แต่ในมุมการตลาดล่ะ
ลมในถุงขนมจะช่วยอย่างไร
สำหรับเราแล้วมองว่า การที่อัดลมลงในถุงขนมจำนวนมาก ทำให้ถุงของขนมมีขนาดใหญ่กว่าปริมาณขนมในถุง มีความน่าสนใจคือ
1. เป็นหนึ่งในหลักจิตวิทยา ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าถุงขนมมีขนาดใหญ่ คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป
เพราะถ้าเราซื้อขนมถุงละ 20 บาท มีน้ำหนักรวม 30 กรัม
ถ้าขนมหนัก 30 กรัม อยู่ในห่อบรรจุขนาดใหญ่
กับขนมหนัก 30 กรัม อยู่ในห่อบรรจุขนาดเล็ก
คุณรู้สึกว่าแบบไหนคุ้มกว่ากัน เราเชื่อว่าหลายคนมองว่าถุงใหญ่คุ้มกว่า เพราะบางคนซื้อขนมไม่ได้มองที่น้ำหนักของขนม มองที่ไซซ์ของถุงมากกว่า เพราะมองว่าขนาดถุงที่ใหญ่น่าจะมีปริมาณที่มากกว่าถุงขนาดเล็ก
2. ขนมซองใหญ่ ลดปริมาณลง ลูกค้าอาจจะไม่ค่อยรู้สึก
การแข่งขันในเชิงธุรกิจ เมื่อต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น การขึ้นราคาอาจจะทำได้ยากเนื่องจากคู่แข่งยังไม่มีการขึ้นราคา และถ้ามีการขึ้นราคาผู้บริโภคอาจจะมองว่าขนมเราแพงจนเกินไป และทำให้ผู้บริโภคบางคนมีกำลังซื้อที่ไม่มากพอ และไม่สามารถซื้อได้ด้วยความถี่เท่าเดิม
เมื่อกับดักของธุรกิจขนมขบเคี้ยวเป็นเช่นนี้
ส่วนใหญ่ทางออกของการแข่งขันคือการลดปริมาณของขนมลงเล็กน้อย เพื่อให้ต้นทุนต่อซองลดลง
ซึ่งถ้าขนมบรรจุอยู่ในซองที่ขนาดไม่ใหญ่กว่าปริมาณขนมในซองมากนัก การลดปริมาณขนมลง ผู้บริโภคอาจจะรับรู้ได้ว่า ขนมที่กำลังฉีกซองกินอยู่นี้ มีปริมาณที่ลดลง เพราะเปิดออกมาดูขนมไม่ค่อยเต็มซองเหมือนเดิม
แต่ถ้าซองขนมมีขนาดใหญ่กว่าขนมที่บรรจุพอสมควรล่ะ เราอาจจะมองไม่ออกว่าปริมาณขนมลดน้อยลง นอกจากสังเกตปริมาณที่ข้างซองระบุน้ำหนักขนมในถุงไว้
3. คู่แข่งทำใหญ่ เราจะทำเล็กได้อย่างไร
นอกเหนือจากมุมจิตวิทยาแล้วการมีแพ็กเกจขนมขนาดใหญ่ ยังสร้างความโดดเด่นเมื่ออยู่บนเชลฟ์ให้ผู้บริโภคเห็นขนมของแบรนด์ตัวเองง่ายขึ้น ซึ่งถ้าแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งทำขนมห่อเล็กกว่าคู่แข่งในราคาเท่ากัน เมื่อวางอยู่บนเชลฟ์จะถูกแบรนด์คู่แข่งแย่งชิงสายตาลูกค้า จากขนาดถุงที่ใหญ่กว่าได้เหมือนกัน
ทั้งนี้ การแข่งขันในธุรกิจขนมขบเคี้ยว แม้จะเห็นเพียงรายใหญ่เพียงไม่กี่รายออกมาทำตลาดอย่างสม่ำเสมอ แต่ตลาดนี้ก็มีการแข่งขันที่รุนแรงเพื่อแย่งชิงพื้นที่ในเชลฟ์วางสินค้า และเม็ดเงินในกระเป๋าผู้บริโภค
ในปีที่ผ่านมาตลาดขนมขบเคี้ยวมีมูลค่า 35,833 ล้านบาท ลดลง 9.9% จากผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่มีผลต่อการจับจ่ายของผู้บริโภค แต่ตลาดของขบเคี้ยวตลาดหลักยังคงเป็นตลาดมันฝรั่งด้วยสัดส่วน 36% ขนมขบเคี้ยวประเภทขึ้นรูปสัดส่วน 28%
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ