สยามพรีเมียมเอาท์เล็ต เดินทางมาครบ 1 ปี แต่วันนี้ยังเจอโจทย์ที่ท้าทาย

1 ปี ของ สยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ

ที่ในวันนี้ยังเจอกับโจทย์ท้าทายเดิม โควิด-19 เศรษฐกิจชะลอตัว

ในวันนั้น (19 มิ.ย. 63) ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว สถานการณ์โควิด-19 ก็ยังไม่ได้ดีขึ้น  สยามพิวรรธน์ มั่นใจ ตัดสินใจเปิดตัว สยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ  ขึ้น

ไมเคิล ถัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามพิวรรธน์ ไซม่อน จำกัด เล่าย้อนไปให้ฟังว่า ผลตอบรับดีเกินที่คาดไว้ คนมาเยอะ ลานจอดรถเต็ม

จากนั้นจำนวนคนค่อย ๆ ลดลงตามปกติของการเปิดเอาท์เล็ตในช่วงแรก

ไฮซีซันช่วงเดือนธันวาทราฟฟิกคนมาเดินเอาท์เล็ตคึกคักอีกรอบ ลานจอดรถเต็มอีกครั้ง

แต่ดันมาเจอการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง เหมือนอยู่ ๆ ก็ ‘ตกเหว’ ที่ไมเคิลบอกว่าทุกคนตกเหวเหมือนกันหมด

‘ตกเหว’ อีกรอบในเดือนเมษากับการระบาดรอบใหม่ที่กรุงเทพฯ และจำนวนผู้ติดเชื้อแตะหลักพันทุกวัน

ระลอกใหม่นี้ทำให้ต้องกลับมานั่งมองกลยุทธ์กันอีกรอบ และ wait & see ดูว่าจะไปทิศทางไหน เมื่อเห็นทิศทางที่ดีถึงจะปล่อยแคมเปญ โปรโมชั่นต่าง ๆ ออกไป

จากวันแรกมีร้านค้าเปิดให้บริการแค่ 65% มาตอนนี้ครบ 1 ปีมีร้านค้าเปิดให้บริการคิดเป็น 91%

มีผู้ใช้บริการไปแล้วกว่า 2 ล้านคน คนไทยยังเป็นกลุ่มหลัก

ผู้หญิง 65% และผู้ชาย 35%

ส่วนครึ่งปีแรกของปี 2564 ผู้คนยังมาช้อปไปแล้ว 1 ล้านคน

แม้ทราฟฟิกต่อวันในช่วงเดือนเมษา-พ.ค. จะลดลง 20% กว่าช่วงปกติ

แต่ตอนนี้ทราฟฟิกเริ่มกลับมาแล้ว

 

ทราฟฟิกคนเดิน สยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ  มีแค่ไหน

ก่อนการระบาดระลอกสาม 5,000-6,000 คนต่อวัน

หลังการระบาดละลอกสาม 3,000 คนต่อวัน

ปัจจุบัน ราว 5,000 คนต่อวัน”

มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวราวๆ 1,400 บาท

ทิศทางครึ่งปีที่เหลือนี้ สยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ  จะเดินเกมอย่างไร

หัวเรืออย่างไมเคิล ถัง ระบุว่า ประเทศไทยมีการคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะขยายตัวในระดับต่ำ 1-2%

และการฟื้นตัวจะเริ่มดีขึ้นปีหน้า นักท่องเที่ยวจะกลับมาเติบโต 10-15% ในปี 2566-2567

เพราะฉะนั้นกลยุทธ์ยังไม่เปลี่ยนคือ จับกลุ่มลูกค้าคนไทยเป็นหลัก และชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย

ใช้การตลาดที่สมาร์ทขึ้น ดูเรื่องของไทม์มิ่งในการปล่อยแคมเปญให้ถูกจังหวะ ปรับตัวนิวนอร์มอลรุกโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม เข้าไปเป็นพันธมิตรกับธนาคาร

ที่สำคัญคือการดึงลักชัวรีแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาเปิดช้อปที่เอาท์เล็ต ยังเป็นกลยุทธ์ที่จะดึงดูดผู้บริโภคให้มาช้อปปิ้งมากขึ้น

หลังจากนี้จะยังมีแบรนด์ทยอยมาเรื่อย ๆ เดือนสิงหาจะเห็น Longchamp เปิด Exclusive Outlet เป็นที่แรก

ไมเคิลยังระบุอีกว่า เราต้องระมัดระวังค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม

ที่ผ่านมา สยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ เอาตัวรอดมาได้เพราะเราควบคุมต้นทุนได้ดี

บวกกับเป็นองค์กรที่ลีนอยู่แล้ว เพราะมีทีมอยู่ราว ๆ 40 คน และยังต้องลีนต่อไป

แม้จะเหนื่อยกับการที่ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ไม่เคิล บอกว่าข้อดีขององค์กรที่ลีนและทีมเล็กแบบที่เขาดูอยู่นี้ทำให้ปรับตัวเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาได้ทันท่วงที

ภาพใหญ่แผนธุรกิจระยะยาวแผนที่จะขยายสาขาคงต้องดูความพร้อม และความสำเร็จของเอาท์เล็ตสาขานี้เป็นหลัก

หลังจากนั้นจึงจะขยายสาขาต่อไป

แผนระยะสั้นคือ ต้องพยุงตัวเองในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ต้องพร้อม หาร้านค้าใหม่ ๆ ควบคุมค่าใช้จ่าย และเมื่อสถานการณ์กลับมาปกติก็พร้อมลุยเต็มที่

แม้ไมเคิลจะไม่ได้บอกถึงตัวเลขรายได้ของปีที่ผ่านมา และเป้าปีนี้ว่าเป็นแบบไหน

แต่เขายืนยันว่า สถานการณ์แบบนี้ ทำได้เท่านี้ก็ถือว่าดีแล้ว แต่หากเป็นไปในสถานการณ์ปกติยังดีได้มากกว่านี้อีก

ครึ่งปีหลังที่เหลือนี้จะทำได้ตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่นั้น

ต้องรอดูกัน

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน