คาราบาวแดง กับภารกิจปั้นร้านถูกดีให้เป็นร้านสะดวกซื้อทันสมัยมัดใจชุมชน (วิเคราะห์)
เสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
นอกจากทำธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง เอาคาราบาวแดงเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวัย 60 แล้ว
เขาสนใจในเรื่องการทำธุรกิจค้าปลีก และได้ตั้งบริษัทส่วนตัวชื่อ “ทีดี ตะวันแดง” เพื่อทำร้านสะดวกซื้อ มินิมาร์ท เมื่อปี 2555
แต่ในปี 2556 เขาได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในร้านสะดวกซื้อ “CJ Express”
CJ Express ขยายสาขามาอย่างเงียบ ๆ และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเสถียรก็บอกกับนักข่าวว่า กำลังเตรียมพา CJ เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปีหน้า
ส่วนบริษัททีดี ตะวันแดง ได้นำมาใช้ทำธุรกิจอย่างจริงจังเมื่อประมาณปี 2562 ที่ผ่านมา
ด้วยการสร้างโมเดลเป็นผู้บริหารร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” มีกลุ่มรากหญ้าเป็นเป้าหมายหลัก
ปั้นร้านโชห่วยในปัจจุบันให้เป็นร้านสะดวกซื้อที่ทันสมัย ผ่านระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ในวันนี้ เสถียร นับหนึ่งอย่างเป็นทางการกับการเปิดตัวแบรนด์โชห่วยในชื่อ ‘’ถูกดี มีมาตรฐาน”
ที่ตั้งเป้าไว้ใหญ่ จากที่มีแล้วในปัจจุบันกว่า 1,000 สาขา ใน 58 จังหวัด
สิ้นปีจะมีเพิ่มเป็น 8,000 สาขา
เพิ่มเป็น 30,000 ร้านค้าในปี 2565
เพิ่มเป็น 50,000 ร้านค้าในปี 2566
ที่ทั้งสร้างความเสี่ยง และท้าทายให้กับเสถียร เป็นอย่างมาก
เพราะการปลุกปั้น ‘ร้านโชห่วย’ ให้แข็งแรง และแข่งขันกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ บอกเลยว่าไม่ง่าย
‘’ถูกดี มีมาตรฐาน” โมเดลธุรกิจโชห่วยของเสถียรนี้ไม่ใช่การที่บริษัทลงไปหาทำเล และเปิดร้านใหม่แข่งกับคนในชุมชน
แต่เป็นการลงไปเป็นพันธมิตร เป็นพาร์ตเนอร์ซึ่งกันและกัน โดยใช้ชื่อ ‘’ถูกดี มีมาตรฐาน” เป็นแบรนดิ้งหลัก
การลงไปเป็นพาร์ตเนอร์ของทีดี ตะวันแดง นี้เป็นการไปลงทุนให้ทั้งในเรื่องของสินค้าที่ดี และราคาถูก
ให้มีมาตรฐานเหมือนกันทั่วประเทศ เพราะมาตรฐานสำคัญคือเรื่องของแบรนด์ และภาพจำ
ลงทุนระบบ เอาเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการร้านค้า ทั้งเรื่องของการชำระเงิน ระบบสต๊อก
ขณะที่เจ้าของร้านต้องทุนในการปรับปรุงรีโนเวทร้านเอง และเอาเงินมัดจำมาวางเป็นหลักประกัน (หากไม่ต้องการทำต่อจะคืนเงินมัดจำให้เมื่อไม่ทำผิดสัญญา)
โดยเจ้าของร้านโชห่วยที่เข้าร่วมยังคงเป็น ‘เจ้าของร้าน’ ไม่เปลี่ยนแปลง
เพราะเสถียรเชื่อว่า “พลังการเป็นเจ้าของ” ของคนในชุมชนเอง เป็นหนึ่งในคีย์ซักเซสในการทำธุรกิจให้เติบโตในระยะยาว
เพราะสามารถเข้าใจและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในพื้นที่เป็นอย่างดี
บวกกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมักเลือกซื้อของใกล้บ้าน เพราะจะได้ไม่ต้องเสียเวลา และเกิดความเคยชิน ไม่ไปที่อื่น
จากเดิมที่ขายได้วันละ 3,000-5,000 บาท ก็ขยับขึ้นมาเป็นเฉลี่ยวันละ 10,000-15,000 บาท
ซึ่งเสถียรบอกว่ารายได้หมื่นกว่าบาทต่อวันจะทำให้ร้านค้าไปต่อได้แน่นอน
อีกหนึ่งข้อคือเรื่องเทคโนโลยี ที่ไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีมาแล้วโชห่วยจะล่มสลาย
แต่เอาเทคโนโลยีมาใช้ดิสรัปท์โชห่วยเองให้ดีขึ้น แข่งขันได้อย่างแข็งแรง
และเพราะโมเดลของถูกดีฯ นี้ เป็นโมเดลแบบ win-win ทั้งคู่ เพราะเมื่อร้านค้าอยู่ได้ ทีดี ตะวันแดงของเสถียรก็ไปต่อได้เหมือนกัน
ทีดี ตะวันแดง จะได้ส่วนแบ่ง 15 เปอร์เซ็นต์ จากกำไรเป็นค่าบริหารจัดการ และลงระบบ
ส่วนที่เหลือ 85% เป็นของเจ้าของร้านโชห่วย
แต่ข้อเสี่ยงและข้อท้าทายที่เสถียรต้องเจอ ช่วงแรกปัญหาคือการทำธุรกิจกับชาวบ้าน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจ
เพราะฉะนั้นต้องใช้พลังมหาศาลในการทำความเข้าใจ บวกกับเรื่องเงินทุนที่อาจจะมีไม่มากพอในช่วงแรก
อีกเสี่ยงและท้าทายคือ การที่เสถียรทำโมเดลธุรกิจเหมือนบริษัทสตาร์ทอัปที่ลงทุนเยอะมาก ๆ ในช่วงแรกและยังขาดทุนอยู่
เสถียรยอมรับว่าปีนี้บริษัทน่าจะขาดทุนราว ๆ พันกว่าล้านได้
แถมปีหน้าเสถียรจะลงทุนทำคลังสินค้าของตัวเองอีก 15 แห่ง
ใช้งบแห่งละสามพันล้าน รวม ๆ แล้วก็ 45,000 ล้านบาท
เขาบอกว่าถ้าจะเริ่มมีกำไรคงจะต้องมีสาขาของ ‘ถูกดี มีมาตรฐาน’ มากกว่า 2 หมื่นร้านขึ้นไป
แต่สิ่งที่เสถียรจะได้มาคือดาต้ามหาศาลที่ลงลึกไปถึงชุมชน รู้ลึกถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่สามารถเอาไปต่อยอดและสร้างประโยชน์ในอนาคตได้
เขาหวังปั้นโชห่วยให้เติบโต ค่อย ๆ ปั้นเป็น point of sale มีสินค้าและบริการที่มากขึ้น
และอนาคตคือการเป็น point of everything ที่ร้านโชห่วยจะไม่ใช่แค่ขายของอย่างเดียว
จะเป็นทั้งพื้นที่ขายบริการ เป็นศูนย์การเรียนรู้ เป็นอะไรก็ได้
ที่สำคัญย่อมเป็นอีกขุมพลังที่สร้างรายได้ให้ คาราบาวแดง
การรุกตลาดปลุกพลัง ‘โชห่วย’ ทั่วประเทศครั้งนี้ของเสถียรจะไปไกลแค่ไหนต้องติดตามอย่างมาก
แต่น่าจะสู้และแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อสนุกน่าดู
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



