ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลกระทบต่อการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือน และการจ้างงาน

สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย. ปัจจุบันยังคงไม่สามารถควบคุมได้

จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่มีที่มาจากอินเดีย ที่มีการแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์หลักในไทยเดิม (สายพันธ์ุแอลฟา (อังกฤษ) ส่งผลให้สถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

ขณะที่เริ่มมีการปูพรมฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่สถานการณ์การฉีดวัคซีนยังมีความไม่แน่นอนสูง

แม้ว่าในช่วงเดือน มิ.ย. จะมีมาตรการเยียวยาจากภาครัฐทั้งโครงการเราชนะ และ ม.33 เรารักกัน

รวมถึงมีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี

แต่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ฉุดดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ปรับลดลงอยู่ที่ 36.7 จาก 37.3 ในเดือน พ.ค. และต่ำกว่าเดือนม.ค. ที่ 37.2

ฉุดให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนเดือน มิ.ย. 2564 อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงต้นปี

ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเช่นกันอยู่ที่ 38.9 จาก 39.4 ในเดือน พ.ค.

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าครัวเรือนยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะการครองชีพจากสถานการณ์การแพร่ระบาด

นอกจากนี้ ผลสำรวจเพิ่มเติมของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงานในองค์กรที่ระบุว่า

แม้องค์กรส่วนใหญ่จะเลิกจ้างลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ทำให้รายได้พนักงานมีแนวโน้มลดลง เช่น การปรับลดเงินเดือนลงชั่วคราวแทนการเลิกจ้าง และการลดเวลาทำงานล่วงเวลา

โดยสอดคล้องกับข้อมูลสถานการณ์การจ้างงานในไตรมาส 1/ 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติที่ระบุว่ามีผู้ที่มีงานทำลดลงอยู่ที่ 37.85 ล้านคน จาก 38.29 ล้านในไตรมาส 4/2563

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นที่ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในระลอกนี้ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนหรือไม่อย่างไร

ซึ่งผลสำรวจระบุว่ามากกว่าครึ่งหนึ่ง 51.2% ของครัวเรือนที่ตอบแบบสอบถามมีรายได้ที่ลดลงและมีผลกระทบต่อกำลังซื้อหรือพฤติกรรมการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน

โดยวิธีที่ใช้รับมือกับสถานการณ์การปรับตัวลดลงของรายได้คือเริ่มมีการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง 47.7%

อีกทั้งมีการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในขนาดที่เล็กลง 22.7%

รายงาน “ภาวะประชากรสูงวัยและตลาดแรงงานในประเทศไทย” ของธนาคารโลก ระบุว่า

การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมถึงการระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งและเป็นแรงกดดันสำหรับตลาดแรงงานในไทย

อัตรากำลังของวัยทำงานในตลาดแรงงานไทยลดลงอย่างรวดเร็ว

โดยอัตราการลดลงเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันตะวันออกและแปซิฟิก

เป็นรองแค่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น

ขณะที่ไทยก็ยังเผชิญกับปัญหาภาวะประชากรสูงวัย

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประชากรสูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 14%

เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา ต้องใช้เวลาถึง 69 ปี ถึงจะมีอัตราประชากรสูงวัยเป็น 14%



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน