ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB จับมือกับ ดิจิทัล เวนเจอร์ส เปิดตัวแพลตฟอร์ม PayZave ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางให้ Supplier และ Buyer มาเจอกันเพื่อตกลงส่วนลดเงินสด ในเครดิตเทอมที่ Supplier มอบให้ Buyer

 

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมไทยพาณิชย์ถึงต้องทำแอปส่วนลดเครดิตเทอมขึ้นมา เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แล้วไทยพาณิชย์ทำแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาทำไม

 

เราจะขอเล่าก่อนว่า

ตามปกติแล้ว Supplier จะต้องให้เครดิตเทอมให้กับ Buyer ประมาณ 45-60 วัน หลังส่งมอบสินค้า

และถ้า Supplier ต้องการรับเงินสดก่อนครบเครดิตเทอม จะต้องให้ส่วนลดเงินสดกับ Buyer ตามข้อตกลงในแต่ละหน้าบิล ในรูปแบบแมนนวล

โดยเฉลี่ยเครดิตเทอม 30 วันจะมีการให้ส่วนลด 1-2% ต่อหน้าบิล หรือประมาณ 12-24% ต่อปี

 

ซึ่ง Pain Point ของเรื่องนี้คือ มี SME ที่เป็น Supplier จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะ SME ขนาดเล็ก ขาดสภาพคล่อง จากการให้เครดิตเทอม และเข้าถึง Buyer เพื่อขอส่วนลดเงินสดเครดิตเทอมยาก หรือต้องใช้เวลารอคิวเพื่อตกลงแต่ละหน้าบิลที่นาน

เนื่องจาก Buyer มีคู่ค้าที่เป็น Supplier จำนวนมาก

Supplier ไม่แน่ใจว่า ทาง Buyer จะสนใจส่วนลดเงินสดที่มอบให้หรือไม่

 

ทำให้ SME ที่เป็น Supplier บางรายเลือกที่จะไปกู้เงินธนาคารในอัตราดอกเบี้ยที่สูง เนื่องจากธนาคารเลือกการปล่อยกู้โดยพิจารณาจากบัญชีการเงิน ซึ่งถ้าบัญชีการเงินของ SME รายนั้นไม่แข็งแรงพอ ธนาคารเลือกจะลดความเสี่ยงด้วยการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง หรือปฏิเสธการให้เงินกู้

การปฏิเสธการให้เงินกู้จากธนาคาร ทำให้ SME ไม่กล้าไปกู้เงินธนาคาร และไปพึ่งพาการกู้เงินนอกระบบเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้ หรือพึ่งพาวิธีอื่น ๆ แทน

 

ธนวัฒน์ กิตติสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน GTS and Ecosystems ธนาคารไทยพาณิชย์ Pain Point ต่าง ๆ ของการกู้เงิน SME เหล่านี้มาจากธนาคารไม่รู้จัก SME ดี

 

แต่คนรู้จัก SME ดีที่สุด คือ Buyer และ Supplier ใน Supply Chain เดียวกัน

ซึ่งถ้าไทยพาณิชย์สามารถนำ Buyer และ Supplier มาเจอกันผ่านแพลตฟอร์ม PayZave เพื่อตกลงส่วนลดเงินสด จะช่วยสร้างภาพคล่องให้กับธุรกิจ Supplier และช่วยให้ Buyer มีต้นทุนของสินค้าที่ถูกลงจากส่วนลดเครดิตเทอมที่รวดเร็วขึ้น

ในแพลตฟอร์ม PayZave นอกจากการนำ Buyer และ Supplier มาเจอกัน

ยังมีบริการสินเชื่อ OD (Over Draft) หรือสินเชื่อเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเรตสินเชื่อ OD ทั่วไป

และเปิดโอกาสให้ลูกค้า SME ที่ไม่ได้เป็นลูกค้าสินเชื่อไทยพาณิชย์เข้ามาใช้บริการได้ เพียงแค่เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารไทยพาณิชย์เท่านั้น

 

แล้วไทยพาณิชย์ทำแพลตฟอร์ม PayZave แล้วได้อะไร

 

1.ค่าธรรมเนียมจากการให้บริการ

ช่วงแรกของการเปิดตัว PayZave ไทยพาณิชย์ยกเว้นค่าบริการใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มจนถึง 31 ธันวาคม 2564 หลังจากนั้นจะคิดค่าธรรมเนียมให้ใช้บริการ

ซึ่งในปัจจุบันไทยพาณิชย์ยังไม่ได้ระบุค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเนื่องจาก

– ต้องการศึกษาพฤติกรรมการใช้งานผ่านแพลตฟอร์มเพื่อหาค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม

– ต้องการดึงให้ Buyer และ Supplier เข้ามาในแพลตฟอร์มให้มากที่สุด เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานผ่าน PayZave

โดย PayZave ตั้งเป้ามี Supplier ในระบบ 80,000 รายในสิ้นปี

 

2. สร้างฐานลูกค้าผ่าน PayZave ต่อยอดสู่บริการอื่น ๆ

ข้อกำหนดของการใช้บริการของ PayZave ผู้เข้ามาใช้บริการจะต้องมีบัญชีเงินฝากของธนาคารไทยพาณิชย์ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าเงินกู้ของธนาคาร

ในปัจจุบันไทยพาณิชย์มีลูกค้าบัญชีเงินฝากทั้งสิ้น 16.6 ล้านราย และ PayZave มีเป้าหมายดึง Supplier เข้ามาในระบบ 80,000 รายในสิ้นปี

การที่ Supplier เข้ามาในระบบ PayZave เรามองว่าเป็นหนึ่งโอกาสที่ไทยพาณิชย์จะเรียนรู้พฤติกรรมด้านสภาพคล่องทางการค้าของ Supplier ที่สามารถนำมาใช้ต่อยอดทางธุรกิจ เช่น การนำข้อมูลมาประกอบการให้สินเชื่อ เป็นต้น

 

Marketeer FYI

PayZave  ไม่ได้เกิดจากไทยพาณิชย์ แต่มาจาก สุภาพ จรัลพัฒน์ และอาลีบาบา

PayZave เกิดจากไอเดียของ สุภาพ จรัลพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ที.เอส. เอ็นจิเนียริ่ง (2004) จำกัด ที่มองเห็น Supplier หลายพันรายที่เป็นคู่ค้าของตัวเอง ที่ในปัจจุบัน 70-80% ขาดสภาพคล่องทางการเงิน

และสุภาพมีความต้องการช่วยเหลือสภาพคล่องกับ Supplier เหล่านั้น

เขาจึงได้นำปัญหาและกรณีศึกษาของ อาลีบาบาในการปล่อยเงินกู้ ที่เร็ว สะดวก เพราะมีดาต้าของผู้กู้มาเสนอให้กับไทยพาณิชย์และดิจิทัลเวนเจอร์ส

ซึ่งดาต้าในการปล่อยเงินกู้ของบริการนี้คือ Invoice จาก Supplier ที่เป็นหลักประกันได้ดีกว่าดาต้าอื่น ๆ



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online