หลายประเทศในโลกเริ่มปล่อยตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ประเทศจีนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัว 12.7% ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน โหมฉีดวัคซีนขนานใหญ่ ทำให้ตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจอเมริกา กลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีแนวโน้มขยายตัวถึง 7%

ต่างกับประเทศไทยที่การประเมินทุกครั้ง ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจถูกปรับลดลงมาโดยตลอด โดยล่าสุด ตัวเลข GDP ประเทศไทย เติบโตเพียง 1% ซึ่งแน่นอนว่า ธุรกิจ เล็ก กลาง ใหญ่ ในประเทศไทย ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้กระทั่งเครือซีพีที่เหมือนเรือลอยอยู่ในน้ำลง ที่เรือทุกลำ ได้รับผลกระทบตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย

แต่หลายคนเกิดคำถามว่า ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ธุรกิจขนาดใหญ่อย่าง ซีพี ประคองตัวอย่างไร ก็ต้องนับว่าการเป็นผู้เล่นระดับโลกมีธุรกิจในหลายประเทศเป็นเหมือนการกระจายไข่ในตะกร้าหลายใบ

เป็นความโชคดีที่ธุรกิจของซีพีในหลายประเทศ มาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นของธุรกิจในประเทศไทย ที่เกิดจากผลกระทบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

“วันนี้ ซีพี เป็นบริษัทที่ลงทุนกว่า 20 ประเทศ ทำตลาดกว่า 100 ประเทศทั่วโลก เพราะเป็นธุรกิจอาหารและการเกษตรจึงสามารถไปได้ทุกแห่ง และรายได้ส่วนใหญ่กว่า 60-70% ของบริษัทมาจากต่างประเทศ” ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าว

วิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ซีพีต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด “ไม่ควรวางไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว”

นี่คือยุทธศาสตร์การลงทุนของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียหรือต้มยำกุ้งผ่านพ้นไป

โดยเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องกระจายความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจของเครือ

อย่างไรก็ตาม เมื่อทั่วโลกประสบวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจในอาณาจักรของเครือซีพี ก็สั่นสะเทือนไม่น้อย โดยเฉพาะในประเทศไทย เมื่อวิกฤตมาในครั้งนี้ เจ้าสัวธนินท์พยายามรักษาธุรกิจในยามวิกฤตให้อยู่รอด โดยการนำรายได้ที่ได้จากต่างประเทศมาประคองการจ้างงาน และยังรับพนักงานเพิ่ม ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากการบริหารความเสี่ยง ยามมืดต้องคิดถึงยามสว่าง และเมื่อยามสว่างต้องเตรียมพร้อมสำหรับยามวิกฤต

 

ซีพีเอฟ ยอดขายในไทยเติบโตลดลง
แต่ในต่างประเทศเติบโตก้าวกระโดด

นอกจากเรื่องการส่งออกแล้ว ประเทศไทยพึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การบริการ ร้านอาหาร แต่ในภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยที่เข้ามากระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นอย่างรุนแรงมากที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี นับจากเกิดการระบาดของโรคซาร์ส

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ​ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ท่ามกลางโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาด ทำให้ภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงักและกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง แต่สินค้าของซีพีเอฟเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพและได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น ทำให้ผลการดำเนินงานไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคเท่าใดนัก

แต่ยอมรับว่า ยอดขายในประเทศโดยรวมลดลงราว 5%  โดยเฉพาะช่องทางในกลุ่มร้านอาหาร และโรงแรม ที่ยอดขายตกลงอย่างหนัก

แต่เนื่องจากโมเดลธุรกิจในประเทศไทยมีช่องทางจำหน่ายที่หลากหลาย รวมทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนไปซื้อสินค้าในหมวดอาหารจากช่องทาง Retailer ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายในช่องทางดังกล่าว เติบโตได้ค่อนข้างดี และมาช่วยบาลานซ์ในส่วนที่หดหายลงไปได้

ด้วยเหตุนี้ภาพรวมผลประกอบการของบริษัทเมื่อนับรวมจากทุกประเทศแล้วยังเป็นบวกอยู่ เนื่องจากสัดส่วนยอดขายส่วนใหญ่เกือบ 70% เป็นยอดขายจากต่างประเทศ ทั้งในส่วนของการส่งออกไปกว่า 30 ประเทศ​ และจากการไปตั้งธุรกิจในอีก 17 ประเทศ​ ซึ่งช่องทางจำหน่ายในต่างประเทศส่วนใหญ่ อยู่ในรูปแบบ Retailer ซึ่งมีประชาชนไปซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารเช่นเดียวกัน ทำให้ภาพรวมของธุรกิจยังคงเป็นบวกได้อยู่

 

ซีพีออลล์ ไม่ต่างจากผู้ประกอบการทุกราย
รับผลกระทบโควิดสะเทือนรายได้

โควิดกระทบทุกหย่อมหญ้า ไตรมาสแรกปีนี้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวม 133,431 ล้านบาท ลดลง 8.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น “กลุ่มร้านสะดวกซื้อ” มีรายได้รวม 70,450 ล้านบาท ลดลง 14.97% แม้ว่าจะมีการเปิดสาขาใหม่รวม 155 สาขา รวมทั้งรุกเจาะตลาดออนไลน์มากขึ้น แต่ไม่สามารถชดเชยยอดขายเฉลี่ยของสาขาเดิมที่ลดลง 17.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผู้คนระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงการหายไปของลูกค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวส่งผลโดยตรง และมาตรการควบคุมโรคระบาดที่ทำให้ เซเว่นอีเลฟเว่น ไม่สามารถเปิดได้ 24 ชั่วโมง สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า ผู้ประกอบการทุกรายต่างได้รับผลกระทบ และกระทบต่อกันเป็นลูกโซ่

ดังนั้น การกลับมาของเศรษฐกิจ ล้วนเป็นความท้าทาย หากนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา การจับจ่ายใช้สอยผ่านโครงการภาครัฐที่สงวนให้ประโยชน์กับร้านค้ารายย่อยเท่านั้น ทำให้เซเว่นฯ ได้รับผลกระทบสองทาง จากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และจากนโยบายภาครัฐที่ช่วยเหลือเพียงกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ทำให้โจทย์นี้เซเว่นฯ ต้องปรับตำราหาทางออก

ในส่วนของ “กลุ่มค้าส่งแบบชำระเงินสดและบริการตนเอง” ของ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO

 ยอดขายชะลอตัวเล็กน้อยอยู่ที่ 55,878 ล้านบาท ลดลง 0.48% จากช่วงไตรมาสแรกปี 2563 ที่มีรายได้ทั้งหมด 56,148 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิลดฮวบเหลือ 2,599 ล้านบาท ลดลง 53.95% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 5,645 ล้านบาท สะท้อนภาพปัญหาโควิด-19  เป็นไวรัสร้ายที่กัดกร่อนธุรกิจเกินกว่าที่ประมาณการไว้ ดังนั้น อย่ามองว่า ผู้เล่นรายใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด แต่อุปสรรคในครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก แต่ด้วยมีธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้ยังสามารถรักษาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจ้างงานไว้ได้

ทรู เจอวิกฤตโควิด ทำให้ยังไม่สามารถพลิกมากำไร

แม้ว่ากลุ่มทรูอยู่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและเทคโนโลยี ที่น่าจะได้อานิสงส์จากการทำงานที่บ้าน หรือ Work from home ที่ทุกบ้านต้องใช้อินเทอร์เน็ต แต่ต้องยอมรับว่า ทรูมีความกดดันจากการลงทุนต่อเนื่อง และจ่ายเงินค่าไลเซนส์ 5G ให้กับรัฐบาลจำนวนมาก นอกจากนี้ ทรูยังได้ลงทุนขยายเครือข่ายในช่วงโควิดอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรกปี 2564 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีผลกำไรติดลบถึง 581 ล้านบาท รายได้ปี 2563 ลดลงจากปีก่อน 4.20%

นอกจากการแข่งขันที่สูงมากในกลุ่มธุรกิจสื่อสารแล้ว โควิด-19 ยังทำให้ยอดผู้ใช้บริการในส่วนของลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติลดน้อยลงจนแทบจะเป็นศูนย์ ทำให้ธุรกิจเข้าสู่การเป็นผู้เล่นด้านดิจิทัลมากขึ้น โดยหวังการเติบโตในธุรกิจใหม่ ที่มีตัวคูณมูลค่าธุรกิจสูงขึ้นหลังโควิด นอกจากต้องรอดแล้วต้องทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปในตัว

ด้านหัวเรือใหญ่แห่ง CP Group ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีมุมมองต่อวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นว่า

“วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้ทุก ๆ ภาคส่วนประสบกับอุปสรรคและปัญหามากขึ้น รวมทั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วยที่ได้รับผลกระทบไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และอาจจะมีบางภาคส่วนที่รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ คือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการหายไปของนักท่องเที่ยว และการหดตัวของธุรกิจโดยรวม นอกจากนี้ เครือได้มีการแจกจ่ายอาหารให้กับผู้เดือดร้อน ตั้งแต่เริ่มมีการระบาด จนถึงปัจจุบัน และประคองธุรกิจคู่ค้า ให้อยู่รอดไปด้วยกัน รวมถึงรักษาการจ้างงาน

การจะก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ ความมั่นใจของเอกชนไทยมีความสำคัญ ตั้งแต่ผู้บริหาร พนักงาน คู่ค้า ตลอดจนผู้บริโภค และที่สำคัญ คือการกลับมาของการลงทุนจากต่างประเทศ และการกลับมาของนักท่องเที่ยว ต้องแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถบริหารจัดการ และอยู่กับสถานการณ์โควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีกระบวนการในการให้บริการ และความเชื่อมโยงกับสาธารณสุขอย่างครบถ้วนในทุกมิติของอุตสาหกรรม”

ทั้งนี้ อยากฝากถึงภาครัฐว่า ต้องรักษาธุรกิจ เล็ก กลาง ใหญ่ ให้อยู่รอด ควบคู่กับการจัดหาวัคซีน มาเร่งฉีดให้กับประชาชน รวมถึงการสื่อสารแผนการกระจายวัคซีน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ดังนั้น การประคองเศรษฐกิจ ดูแลปากท้องประชาชน และการดูแลด้านสุขภาพ จึงเป็นงานสำคัญที่ต้องเดินคู่กัน



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online