ตลาดอีคอมเมิร์ช 2564 โตแค่ไหนในช่วงโควิดที่คนไม่อยากออกจากบ้าน (วิเคราะห์)
ในปีที่ผ่านมาคนไทยใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 8.44 ชั่วโมงต่อวัน และเวลาที่ใช้อินเทอร์เน็ตสูงสุดอันดับ 9 ของโลก
ส่วนค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 6.54 ชั่วโมงต่อวัน
คนไทยใช้เวลากับ Mobile Internet 5.07 ชั่วโมงต่อวัน สูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ค่าเฉลี่ยโลก 3.39 นาที
สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นคนไทยผูกติดกับ สมาร์ทโฟน เป็นดีไวซ์หลักในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมอีคอมเมิร์ซไทย เล่าในงาน Lazada Seller Opportunity ให้ฟังว่า
ในปีนี้ 3 ใน 4 หรือ 74% ของคนไทยยังคงใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2563
พวกเขาใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตมากกว่าเดิม 1-2 ชั่วโมง
20% ใช้เวลาเท่าเดิม
6% ใช้เวลาน้อยลง
เวลาบนอินเทอร์เน็ตที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้จะหมดไปกับกิจกรรมยอดนิยม ได้แก่
ความบันเทิง 83%
โซเชียลและการสื่อสาร 68%
ช้อปปิ้ง 64%
ธุรกรรมทางการเงิน 64%
การศึกษาและการทำงาน 42%
เป็นเรื่องที่น่าสนใจคือในขณะที่โรคระบาดสร้างความยากลำบากให้กับผู้คน 92% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไทยกลับมองว่า เทคโนโลยีดิจิทัลตอบสนองความต้องการได้เป็นอย่างดี
หลายคนเปลี่ยนวิถีการทำงานและใช้ชีวิตโดยมีอินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในด้านนี้
และ 6 ใน 10 คนที่ทำงานที่บ้าน มองว่าพวกเขาไม่อยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลาอีก แต่อยากจะทำงานสลับกันไปทั้งที่บ้านและที่ทำงาน
44% ของคนไทยทำงานที่บ้านเป็นส่วนมาก และเข้าออฟฟิศเป็นครั้งคราว
23% ทำงานที่บ้านเป็นครั้งคราวและเข้าออฟฟิศเป็นส่วนมาก
19% ทำงานที่บ้านทุกวัน
นี่คือนัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่บอกเราว่าพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนไป
เมื่อดูไปที่พฤติกรรมการช้อปปิ้งซึ่งเป็นกิจกรรมออนไลน์อันดับ 3 ที่คนไทยใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตสูงสุด
การช้อปปิ้งบนโลกออนไลน์ของคนไทย เป็นการช้อปปิ้งในรูปแบบ Omni-Channel ที่หลากหลายช่องทาง แต่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน
และ 9 ใน 10 ของคนไทยมีพฤติกรรมหาข้อมูลและเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อ
55% เช็กข้อมูลออนไลน์
28% เช็กข้อมูลออนไลน์และไปดูที่หน้าร้าน
10% ไปดูที่หน้าร้าน
8% ซื้อเลย ไม่หาข้อมูล
จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของนักช้อปไม่ว่าจะซื้อออนไลน์หรือออฟไลน์ แต่ออนไลน์ได้มีอิทธิพลกับพวกเขาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้คาดการณ์ว่า ปี 2021 คนไทยจะกลายเป็น Digital Consumer จ่ายเงิน ซื้อสินค้า บริการบนโลกออนไลน์มากถึง 42 ล้านคน หรือ 71% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีจำนวน 59 ล้านคน
ในปีที่ผ่านมาคนไทยซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์โดยเฉลี่ย 5 กลุ่มสินค้า
ปัจจุบันมีการเติบโตมากถึง 1.5 เท่า และขยายจาก 5 กลุ่มสินค้า เป็น 8 กลุ่มสินค้า
เมื่อมองไปที่อัตราการขยายตัวของค้าปลีกไทย จะพบว่า
จากปี 2015-2019 เป็นก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
การค้าหน้าร้านมีอัตราการเติบโต 5% ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่สูง เนื่องจากค้าปลีกผ่านช่องทางหน้าร้านเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีมูลค่าที่สูง
การขายผ่านช่องทางออนไลน์เติบโต 54%
ปี 2020 ปีที่โควิด-19 แพร่ระบาด
การค้าหน้าร้านติดลบ 5% จากวิกฤตโควิด-19 ที่ต้องปิดหน้าร้านในห้างสรรพสินค้าและอื่น ๆ
ส่วนการขายผ่านช่องทางออนไลน์เติบโต 81%
ช่องทางยอดนิยมที่คนไทยช้อปออนไลน์คือ
1. อีมาร์เก็ตเพลส 32%
2. โชเชียลมีเดีย โซเชียลคอมเมิร์ซ 21%
3. ฟู้ดเดลิเวอรี่และแอปพลิเคชันครบวงจร 13%
4. เว็บไซต์แบรนด์ 12%
5. เว็บไซต์ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่
6. ร้านค้าออนไลน์ขนาดเล็ก
สำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปีนี้คาดการณ์ 356,000 ล้านบาท เติบโต 21%
ส่วนปี 2020 มูลค่า 294,000 ล้านบาท เติบโต 81% จากปี 2019 ที่มีมูลค่า 163,300 ล้านบาท
เหตุผลที่ทำให้ ตลาดอีคอมเมิร์ซ เติบโตมาจาก
1. มาตรการและข้อบังคับต่าง ๆ ในช่วงโควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนพฤตืกรรมผู้บริโภค
2. ดีลและโปรโมชั่น
3. ช้อปได้ 24/7
4. ประหยัดเวลา
5. เปรียบเทียบราคาง่าย
และเชื่อว่าถ้าโควิด-19 หมดลง พฤติกรรมช้อปออนไลน์ของผู้บริโภคยังคงอยู่
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



