เทคนิคเป็นผู้นำ ผ่านจอ Virtual Work รับกระแส Work From Home
นักวิจัยแห่ง School of Business, George Washington University เผยการบริหารแบบ Relationship-Focused Leadership สามารถนำทีมได้ดีกว่าการบริหารแบบ Task-Focused Leadership พร้อมทั้งแนะแนวทางในการบริหารดังนี้
ในปีที่ผ่านมามีปัจจัยเร่ง Virtual Work ให้เกิดขึ้นในเกือบจะทุกองค์กร Virtual Work นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย พนักงานไม่ได้ทำงานที่ออฟฟิศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่างานจะไม่เดิน หรือ ไม่ Productive เพราะเราบริหารงานและคนผ่านทาง Virtual นั้นเอง
แล้วเรารู้จัก Virtual Leadership กันดีแค่ไหนกัน? รู้จักไม่ดีพอแน่ ๆ แหละ แต่ยังโชคดีที่มีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่เรานำมาปรับใช้ได้
การทำงานแบบ Virtual Work อาจส่งผลให้พนักงานทำงานแบบ Task-Focused หรือ มุ่งแต่ผลลัพธ์ที่เป็นเนื้องาน เนื่องจากการพบปะพูดคุยที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้าง หรือระหว่างคนในทีมนั้นหายไป ไม่ได้คุยเล่นกันก่อนประชุม หรือตอนเลิกประชุม คุยกันตอนไปชงกาแฟ หรือ Hang Out กันหลังเลิกงาน เป็นต้น
ผู้นำทีมอาจจะใช้การ สั่ง มากกว่าแต่ก่อน เพราะจะได้รู้สึกว่าเป็นผู้ควบคุมทีมมากขึ้น และเมื่อไม่ได้เห็นพนักงานนั่งทำงานอาจจะเพิ่มกรอบ หรือกฎเกณฑ์ในการทำงานเพื่อควบคุมการทำงานของพนักงานมากขึ้นไปอีก
แต่อย่างไรก็ดี ยิ่งเราควบคุม หรือ สั่ง มากเท่าไร การบริหารผ่านทาง Virtual ยิ่งได้ผลน้อยลงเท่านั้นงานวิจัยพบว่าผู้นำทีมควรจะให้อำนาจพนักงาน และส่งเสริม Self-Leadership ผู้นำทีมควรให้กรอบและแนวทางในการทำงาน แต่ในขณะเดียวกันผู้นำทีมก็ต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยพนักงานให้ทำงานด้วยเช่นกัน
จากงานวิจัยล่าสุด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมภาษณ์จำนวน 3,909 จากหลากหลายสายอาชีพ พบว่าการบริหารแบบ Relationship-Focused Leadership (การมีส่วนร่วมในการทำงาน และการให้อำนาจพนักงาน) ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการบริหารแบบ Task-Focused Leadership (การสั่ง และการควบคุม) โดยเฉพาะกับทีมขนาดใหญ่ ที่ “เห็น” การทำงานของแต่ละบุคคลได้ยากกว่า เหตุผลคือ การบริหารแบบ Relationship-Focused Leadership ช่วยลบข้อด้อย และเสริมจุดเด่นของการทำงานแบบ Virtual ได้
บริการข้อดี และข้อด้อยของการทำงานแบบ Virtual Work
ไม่เห็นการทำงานของพนักงาน ในออฟฟิศเราสามารถตรวจงานของพนักงานได้ทันที พร้อมทั้งให้คำแนะนำ และพูดคุยกันได้โดยตรง งานเหล่านี้ทำได้ยากขึ้นเมื่อผ่านหน้าจอ ดังนั้นแทนที่เราจะควบคุมพนักงานมากเกินไป ผู้นำองค์กรควรจะสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ให้พนักงานรู้สึกมีอำนาจในการทำงาน, ทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของทีม, หรือให้อำนาจในการตัดสินใจมากขึ้น
สร้างความมุ่งมั่น และความไว้เนื้อเชื่อใจกันในทีม นั้นทำได้ยากผ่านทางออนไลน์ ผู้นำทีมควรหากิจกรรมที่ช่วยในการสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพนักงานในทีม และสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี
ใช้ประโยชน์จากการให้อิสระในการทำงาน Virtual Work Virtual Work ช่วยให้อิสระในการทำงานกับพนักงานมากขึ้น พนักงานสามารถเลือกเวลา สถานที่ และวิธีการ ทำงานได้เอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น การควบคุมมากเกินไปจะทำให้พนักงานรู้สึกถูกลดทอนอำนาจในการทำงาน
เราได้สัมภาษณ์ผู้นำทีมจากหลากหลายสายงานที่ต้องบริหารทีมแบบ Virtual เราได้ เทคนิคเป็นผู้นำ 5 ข้อที่จะช่วยให้การบริหารทีมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการบริหารแบบ Relationship-focused มากขึ้น
- ให้อำนาจในการตัดสินใจแก่พนักงานมากขึ้น เราต้องยอมรับว่า Micromanagement ไม่ได้ผลเลยในการบริหารงานแบบ Virtual เราควรให้อำนาจพนักงาน และให้พนักงานสามารถบริหารการทำงานของตัวเองได้ จากงานวิจัยพบว่า ผู้นำทีมมักกลัวว่าตัวเองจะไม่เป็นที่ต้องการในองค์กรหากให้อำนาจพนักงานมากเกินไป หรือคิดว่าพนักงานไม่มีความสามารถในการทำงานได้ดีพอ ซึ่งความคิดเหล่านี้ทำให้การทำงานแบบ Virtual ไม่ได้ประสิทธิภาพ การให้อำนาจพนักงานช่วยให้พนักงานรู้สึกมั่นใจว่าเราทำได้ และรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจผู้นำทีมมากขึ้น
- อัปเดตแต่ไม่ Micromanage พนักงานอยากจะรู้สึกว่าผู้นำทีม Support และ ใส่ใจในตนเองอยู่เสมอ ดังนั้น เราควรสอบถามความคืบหน้าในการทำงานของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ และสนับสนุนให้พนักงานเล่าถึงงานที่ตนเองทำอยู่ รวมถึงปัญหาต่าง ๆ ให้คนในทีมได้รับรู้ และทำให้พนักงานรับรู้ว่าเราพร้อมจะให้ความช่วยเหลือเขาอยู่เสมอ
- ใส่ใจในผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ เราควรประเมินพนักงานจากผลของงานมากกว่า วิธีการ หรือสถานที่ที่พนักงานทำงาน จำไว้เสมอว่าพนักงานให้ความสำคัญกับอิสระในการทำงานเป็นอย่างมากเพราะพนักงานจะบริหารเวลาสำหรับเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัวได้ดีขึ้น เราต้องไว้ใจให้พนักงานได้ทำงานในแบบที่ตัวเองต้องการ ตราบใดที่พนักงานยังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ Viktor E. Frankl, ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ Holocaust และผู้เขียน เรื่อง Man’s Search for Meaning กล่าวไว้ว่า เทพีเสรีภาพ ควรอยู่คู่กับ เทพีภาระหน้าที่ พนักงานควรจะตอบแทนอิสระในการทำงานด้วยความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน
- ให้อำนาจพนักงานในการพูดความคิดเห็นของตนเอง Jordi Cruz เชฟ Michelin Stars อายุน้อยเป็นอันดับ 2 ของโลก เชฟ Jordi เป็นหนึ่งในผู้ตัดสินของรายการ Master Chef Version สเปน ในรายการ Alberto เชฟผึกหัดกล่าวกับเขาว่า “เชฟครับ ผมขออนุญาตบอกอะไรเชฟสักหน่อยนะครับ ผมว่าหลัง ๆ มานี้เชฟดูจะทำตัวงี่เง่านะครับ” แน่นอนเชฟ Jordi ไม่พอใจกับคำพูดของเชฟฝึกหัด แต่คำพูดนี้ก็ทำให้เขาได้หันมามองตัวเอง “ถ้าเชฟฝึกหัดคนนี้ที่ชื่นชมเราอยู่เป็นทุนเดิม กล้าที่จะบอกเราแบบนี้ แสดงว่ามันก็น่าจะมีเค้าความจริงอยู่” เชฟ Jordi พยายามสร้างบรรยากาศการทำงานที่เอื้อให้คนในทีมกล้าแสดงความคิดเห็น หรือแม้แต่วิจารณ์เขาก็ตาม เพราะนั้นคือเคล็ดลับที่ทำให้เขาได้ Michelin Stars และความกล้าแสดงความคิดเห็นแบบนี้ยิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการทำงานในแบบ Virtual Work ซึ่งการให้ Feedback อาจจะทำได้ไม่ทันที ดังนั้นผู้นำทีมควรจะพยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างบรรยากาศให้คนกล้าแสดงความคิดเห็น และพยายามที่จะหาคนแบบ “Alberto” ไว้ในทีม เพราะคนแบบนี้นี่แหละ ที่จะสะท้อนความจริงออกมาให้เห็น (และตอนนี้ Alberto ทำงานในตำแหน่ง Head Chef ที่ร้าน Angle ร้านอาหาร Michelin Star ระดับ 2 ดาวของเชฟ Jordi)
- เลิกพยายามควบคุมทุกอย่าง แน่นอนคำแนะนำทั้งหลายทั้งปวงจะสำเร็จไม่ได้เลยถ้าผู้นำทีมยังคงต้องการควบคุมทุกสิ่งอย่าง ถ้าเรารู้สึกว่าการปล่อยเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ลองหาเวลากลับมาดูตัวเองบ้าง ทำไมต้องมานั่ง Micromanage และ ทำลายความเชื่อมั่นของพนักงาน ทำไมต้องเช็กตลอดว่าพนักงานออนไลน์อยู่ไหม (ใช่เราพูดถึง Status ไฟเขียวตอนที่พนักงาน Active ในโปรแกรม Chat และ ไฟแดงเวลาประชุม หรือไฟเหลืองเวลาที่ไม่อยู่หน้าจอ) พนักงานรู้แหละว่าเวลาไหนที่ผู้นำทีมเช็กเพราะอยากช่วยงาน หรือแค่เช็กเพราะอยากควบคุม
ผู้นำทีมแบบ Virtual Work ต้องใช้ไม้อ่อนมากกว่าไม้แข็ง เราเข้าใจได้ว่าผู้นำยังโหยหาการทำงานแบบต่อหน้า ที่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ แบบที่ทำงานที่ออฟฟิศ แต่อย่างไรก็ดี จากงานวิจัยพบว่าพนักงานสามารถทำงานออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต่างจากเวลาทำงานที่ออฟฟิศ โลกเราได้เปลี่ยนไปแล้ว แน่นอนว่าการปรับตัวต่อการทำงานแบบใหม่นั้นจะไม่ง่าย แต่ถ้าเราเริ่มทำ และทำอย่างเห็นอกเห็นใจพนักงาน เราก็จะสามารถปรับตัวได้ในที่สุด
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ