ส่วนธุรกิจที่เคยรุ่งของอดีตค่าย Smartphone สัญชาติแคนาดาต้องถูก ‘ถอดปลั๊ก’ หลังเสื่อมความนิยม

BlackBerry ได้ยุติให้บริการข้อมูลทั้งในส่วนของข้อความและระบบปฏิบัติการทั้งหมด ส่งผลให้ผู้ใช้ส่วนน้อยที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลทั้งหมดได้อีกต่อไป ตามแผนปิดธุรกิจที่ไม่ทำกำไร แม้เคยสร้างชื่อช่วงรุ่งเรืองก็ตาม

BlackBerry ได้เตือนผู้ใช้ที่ยังหลงเหลืออยู่มาหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อ 22 ธันวาคม ระบุว่า เสียดายที่ต้องปิดบริการ ระบบและซอฟต์แวร์ที่เป็นตำนานของบริษัท โดยหลังจาก 4 มกราคม 2022 ที่ผ่านมาทุกอย่างในระบบ ตั้งแต่ฐานข้อมูล การโทร SMS หรือการโทรฉุกเฉิน รวมไปถึงการสื่อสารด้วยข้อความผ่านรหัส PIN จะใช้งานไม่ได้อีกต่อไป   

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นการปิดฉากทั้งอุปกรณ์ ระบบและซอฟต์แวร์ Smartphone ทั้งหมดของ BlackBerry ซึ่ง ณ จุดสูงสุดระหว่างปี 2009-2010 ครองส่วนแบ่งตลาด Smartphone ทั่วโลกถึง 20% โดยหนึ่งในผู้ใช้ BlackBerry ทั่วโลกช่วงขาขึ้น มีอดีตประธานาธิบดี Barack Obama ของสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย  

แต่หลัง Apple เปิดตัว iPhone ที่มาพร้อมระบบหน้าจอสัมผัสเต็มรูปแบบ ขณะที่แบรนด์ Technology อื่น ๆ ก็ทำตาม ทำให้เทรนด์ตลาดเปลี่ยนและ BlackBerry ตกยุค

John Chen

ปี 2013 ที่ BlackBerry ตกต่ำสุด ๆ เหลือส่วนแบ่งในตลาดโลกเพียง 5% จนนำมาสู่การยกเครื่องครั้งใหญ่ โดย John Chen – CEO ชาวฮ่องกงที่เข้ามากู้วิกฤตในปีเดียวกันนั้นเอง สั่งให้ทิ้งส่วนธุรกิจ Smartphone ฐานข้อมูลดิจิทัลและการสื่อสาร (Data) ที่ขาดทุนสะสม แล้วหันไปมุ่งกับซอฟต์แวร์ความปลอดภัยและต้านไวรัสคอมพิวเตอร์ (Cybersecurity) แทน 

แนวทางดังกล่าวถูกต้อง โดยแม้ BlackBerry ไม่ทำเงินมหาศาลเหมือนสมัยรุ่งเรือง แต่ก็ทยอยฟื้นตัว และมีแนวโน้มว่าจะดีวันดีคืนในยุคที่ Cybersecurity ทวีความจำเป็น หลังสถานการณ์โควิดทำให้คนทั่วโลกต้องทำงานออนไลน์กันมากขึ้นและภัยคุกคามจากแฮกเกอร์รูปแบบต่าง ๆ

การฟื้นตัวของ BlackBerry ยืนยันได้จากไตรมาสล่าสุดทำเงินได้ 184 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6,210 ล้านบาท) มากกว่าที่บริษัทวิเคราะห์การลงทุนคาดไว้ โดยแน่นอนว่าธุรกิจที่ทำเงินให้มากสุดที่คือ นี้ Cybersecurity นั่นเอง

John Chen เชื่อมั่นว่าต่อไปอนาคตของบริษัทจะยิ่งทวีความสดใส เพราะ QNX ซอฟต์แวร์ความปลอดภัยในรถยนต์ที่ค่ายรถใหญ่ ๆ อย่าง BMW Ford  และ Volkswagen ซื้อไป จะได้รับการติดตั้งมากขึ้น เมื่อสายการผลิตยานยนต์เดินหน้าต่อ หลังวิกฤต Supply Chain ทุเลา

 

ย้อนรอยอดีตแบรนด์ Smartphone ดัง

ขาขึ้นและขาลงของ BlackBerry แทบจะเหมือนกับ Nokia และ LG ที่เริ่มจากธุรกิจอื่น แต่ก็มาดังไปทั่วโลกจาก Smartphone และท้ายที่สุดเผชิญวิกฤตจนต้องยุบหรือพัก Smartphone แบบยาว แล้วหันไปมุ่งกับธุรกิจอื่นแทน

Nokia ก่อตั้งเมื่อปี 1865 ธุรกิจเริ่มต้นคือโรงงานกระดาษ จากนั้นก็รุกสู่ธุรกิจอื่น ๆ โดยเทคโนโลยีและโทรคมนาคมกลายเป็นธุรกิจหลักในยุค 80 จนได้ชื่อว่าเป็นญี่ปุ่นแห่งยุโรปเหนือ (Nordic Japan) แบบที่ญี่ปุ่นชาติชั้นนำด้านเทคโนโลยีของเอเชีย

ช่วงปลายยุค 90 Nokia ก็กลายเป็นแบรนด์โทรศัพท์เคลื่อนที่เต็มตัว ไม่ว่าจะออกรุ่นไหนมาก็ขายดี ขณะเดียวกันบางรุ่นก็เป็นที่จดจำคู่กับภาพยนตร์ดัง เช่น รุ่น 8110 ที่ Keanu Reeves ใช้ใน The Matrix ภาพยนตร์ระดับปรากฏการณ์ของปี 1999

ปี 2007 Nokia ขึ้นสู่จุดสูงสุดด้วยส่วนแบ่งในตลาดมากถึง 40% แต่หลัง iPhone เปิดตัวเทรนด์ตลาดโลกก็เริ่มเปลี่ยนโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบปุ่มกดที่ใช้งานได้จำกัด (Feature Phone) ก็เปลี่ยนเป็นโทรศัพท์อัจฉริยะ (Smartphone) จอสัมผัส

ปี 2014 Nokia ตัดสินใจขายส่วนธุรกิจอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ให้ Microsoft แล้วหันไปเน้นธุรกิจเครือข่ายโทรคมนาคม โดยปัจจุบันส่วนธุรกิจ Smartphone ของ Nokia อยู่ในความดูแลของ HMD Global ซึ่งเป็นกลุ่มอดีตพนักงาน Nokia เดิม แม้สถานการณ์ดีขึ้นกว่าช่วงวิกฤตมาก และทยอยฟื้นตัว แต่ยอดขายก็ยังน้อย และเทียบไม่ได้เลยกับยุครุ่งเรือง

ส่วน LG ก่อตั้งเมื่อปี 1947 เริ่มจากบริษัทเคมี และมีครีมทาหน้าภายใต้แบรนด์ Lucky เป็นสินค้าตัวแรก จากนั้นปี 1958 ก็แตก Goldstar ออกมาเพื่อเน้นรุกตลาดโทรทัศน์และสินค้าเทคโนโลยี พอปี 1983 ทั้งสองบริษัทก็รวมกันเป็น Lucky Goldstar หรือ LG

ต่อมา LG ก็พัฒนาสู่เครือธุรกิจใหญ่ที่มี Smartphone เป็นธุรกิจสร้างชื่อ โดยปี 2013 ขึ้นสู่จุดสูงสุดด้วยตำแหน่งแบรนด์ Smartphone ขายดีสุดทั่วโลกอันดับ 3 แต่จากนั้นก็ตกต่ำ แพ้ให้กับ Smartphone แบรนด์จีนอย่าง Huawei และตามหลัง iPhone กับ Samsung แบบกู่ไม่กลับ

ที่สุดช่วงกรกฎาคมปี 2021 LG ก็ยุบธุรกิจ Smartphone และหันไปเน้นผลิตแบตฯ รถ EV แทน/thegurdian, techcrunch, cnn, bbc, cnbc



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online