ทีวีโฮมช้อปปิ้ง ตลาดนี้ใหญ่แค่ไหน ทำไมเราจึงเจอโฆษณาทุกวัน ?

เราคงจะรู้สึกแปลกที่เปิดดูฟรีทีวีแล้วไม่เห็นโฆษณาทีวีโฮมช้อปปิ้งที่ออกมาขายของให้เราเห็นเป็นประจำ

เพราะโฆษณาเหล่านั้นคือหนึ่งที่เข้ามาช่วยชีวิตธุรกิจทีวีดิจิทัล ในช่วงเวลาที่สลอตเวลาและแอร์ไทม์โฆษณาเหลือเป็นจำนวนมาก

ย้อนหลังในหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งเป็นแบรนด์ที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดประจำปีมาอย่างต่อเนื่อง

อ้างอิงข้อมูลจากนีลเส็นพบว่า

ปี 2561

3 อันดับแรกแบรนด์ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดประกอบด้วย

1. ทีวีไดเร็ค 2,085  ล้านบาท

2. ธนาคารออมสิน 1,108 ล้านบาท

3. เครื่องดื่มโค้ก 981 ล้านบาท

 

 

ปี 2562

3 อันดับแรกแบรนด์ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดประกอบด้วย

1. ช้อป 1781 (ชื่อเดิมของอาร์เอสมอลล์) 2,548 ล้านบาท

2. ทีวีไดเร็ค 2,108 ล้านบาท

3. เครื่องดื่มโค้ก 1,136 ล้านบาท

 

ปี 2563

3 อันดับแรกแบรนด์ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดประกอบด้วย

1. อาร์เอส มอลล์ 1,765.67 ล้านบาท

2. ทีวีไดเร็ค 1,711.08 ล้านบาท

3. 29 ช้อปปิ้ง 1,537.18 ล้านบาท

 

ปี 2564

3 อันดับแรกแบรนด์ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดประกอบด้วย

1. 29 ช้อปปิ้ง 1,862 ล้านบาท

2. โอช้อปปิ้ง 1,279 ล้านบาท

3. เครื่องดื่มโค้ก 1,169 ล้านบาท

 

มกราคม-กุมภาพันธ์ 2565

3 อันดับแรกแบรนด์ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดประกอบด้วย

1. 29 ช้อปปิ้ง 356 ล้านบาท

2. ยาสีฟันเทพไทย 247 ล้านบาท

3. โอ ช้อปปิ้ง 228 ล้านบาท

 

มูลค่างบโฆษณาทั้งหมดนี้เป็นมูลค่าที่นีลเส็นคิดจากจากเรทการ์ด หักส่วนลดปกติที่ช่องทีวีในแต่ละช่อง

 

จากข้อมูลมูลค่าโฆษณาที่เราอ้างอิงมา จะเห็นได้ว่าทีวีโฮมช้อปปิ้ง ธุรกิจที่ครองแชมป์อันดับหนึ่งใช้เงินโฆษณาสูงสุดมาอย่างต่อเนื่อง

 

และนับวันจะมีรูปแบบการขายและสินค้าที่หลากหลายขึ้นจากผู้เล่นรายเก่า รายใหม่ รายใหญ่ และเล็ก ที่เห็นโอกาสในการขายผ่านช่องทางทีวี

รวมถึงมีผู้ประกอบการที่เป็นสื่อทีวีใช้ช่องทางทีวีของตัวเองขายสินค้าในรูปแบบทีวีโฮมช้อปปิ้งด้วย

 

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MI Group มองว่าการที่แบรนด์ทีวีโฮมช้อปปิ้งต่าง ๆ เลือกที่จะขายสินค้าผ่านสื่อทีวีเป็นหลัก เพราะสื่อทีวีเป็นสื่อที่มี Performance ในระดับหนึ่ง

จากความแมสในการเข้าถึงคนทั่วประเทศ

และสามารถวัดผลได้ทันที ทั้งยอดผู้สนใจที่โทรเข้ามาสั่งซื้อ และยอดปิดการขาย ในขณะที่โฆษณาขายสินค้ายังออนแอร์ หรือเพิ่งออนแอร์จบลง

 

 

ซึ่งถ้าแบรนด์ทีวีโฮมช้อปปิ้ง มีสินค้าที่ใช่ รูปแบบการสื่อสาร และรายการที่ถูกต้องจริง ผู้ชมและผู้ซื้อ ก็จะประสบความสำเร็จด้านยอดขาย

จนเกิดการจองเวลาต่อสัญญาในสลอตเวลาที่เชื่อว่ามีประสิทธิภาพการขายกลับมาอยู่เสมอ จนในบางสลอตเวลาเต็ม และไม่สามารถเปิดรับแบรนด์รายใหม่ ๆ เข้ามาได้

 

พร้อมการเติบโตด้านมูลค่าของธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด

จากปี 2562 มูลค่า 10,000 ล้านบาท

ขึ้นเป็น 16,000 ล้านบาท ในปี 2563

ส่วนปี 2564 เราเชื่อว่าเติบโตมากกว่านั้นจากพฤติกรรมที่คนไทยยังคงทำงานที่บ้าน เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

สำหรับรูปแบบรายการทีวีโฮมช้อปปิ้งในประเทศไทยจะประกอบด้วย 5 รูปแบบ ได้แก่

1. ขายสินค้าตรง ๆ ในคอนเทนต์ที่จะโฆษณา

2. การไทอินสินค้าเข้าในคอนเทนต์ หรือรายการต่าง ๆ

3. การฝากให้พิธีกรในรายการต่าง ๆ พูดถึงสินค้าในรูปแบบพีอาร์

4. สกู๊ปรายการเข้ามาคั่นระหว่างรายการประจำต่าง ๆ และอาจจะใช้พิธีกรในรายการนั้นเป็นผู้พูดชงขายสินค้า เพื่อให้เกิดความเนียนเหมือนเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ของรายการ

5. ซื้อเวลาจากสถานีเพื่อทำรายการเฉพาะกิจของตัวเองในรูปแบบ Branded Program ที่ตอบโจทย์แบรนด์ในด้านต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ในเวลานั้น

 

ปรากฏการณ์ทีวีโฮมช้อปปิ้งบนสื่อทีวี เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่เรามองว่าเป็นน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า เพราะแบรนด์ทีวีโฮมช้อปปิ้งต้องพึ่งแอร์ไทม์ของฟรีทีวีเพื่อขายสินค้า

ส่วนทีวีก็ต้องพึ่ง ทีวีโฮมช้อปปิ้ง เพื่อเติมเต็มรายได้ให้กับธุรกิจ

 

แต่การที่ทีวีมีขายสินค้าจากทีวีโฮมช้อปปิ้งมากเกินไป อาจจะส่งผลเสียในระยะยาวด้านเรตติ้ง ที่ทำให้คนดูรายการรู้สึกเบื่อ และออกไปดูคอนเทนต์อื่น ๆ ในสื่ออื่น ๆ ที่มีโฆษณาหรือขายสินค้าน้อยลงแทน

ซึ่งขึ้นอยู่กับช่องทีวีว่าจะหาสมดุลของการขายทีวีโฮมช้อปปิ้งและคอนเทนต์อื่น ๆ ได้มากแค่ไหน

เพราะเราเปิดทีวีก็ไม่อยากจะมาดูคนขายของทั้งวัน

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online