กาวตราช้าง ไม่มีจริง แต่ ตลาดซูเปอร์กลู กลับเรียกกันติดปากทั่วประเทศ

พรุ่งนี้ที่โรงเรียนมีจัดบอร์ดความรู้…ซื้อกาวตราช้างมาด้วยนะ

ลูกบิดประตูหลุด ต้องซ่อมแก้ขัดก่อน…หยิบกาวตราช้างให้หน่อยสิ

เด็กใหม่เพิ่งย้ายเข้ามาว่ะ…เอากาวตราช้างไปหยอดเก้าอี้มันหน่อยดิ

 

บทสนทนาง่าย ๆ ที่เราอาจไม่ได้คิดอะไรมาก พูดคำว่า ‘กาวตราช้าง’ ก็หมายถึงกาวหลอดจิ๋ว เขียนด้วยตัวหนังสือภาษาญี่ปุ่นบ้าง อังกฤษบ้าง มีปลายแหลมสำหรับบีบ เอาไว้ซ่อมพวกของใช้ เชื่อมสิ่งที่ต้องการเข้าด้วยกัน เป็นสุดยอดกาวสามัญประจำบ้านราคายี่สิบบาทที่ทุกคนต่างยอมรับว่าเหนียวหนึบทนนา

บางคนอาจพอรู้ว่ากาวหลอดที่ตนใช้อยู่ไม่ใช่ตราช้าง แต่เกิดจากการเรียกติดปาก

จากการสื่อสารในช่วงเวลาเข้ามาทำตลาดแรกๆ จนกลายเป็น generic name

 

แล้วซูเปอร์กลูมาจากไหน ทำไมติดปากเรียก กาวตราช้าง กันทั้งประเทศ?

เดิมทีมันคือ ‘ไซยาโนอะคริเลต’ เป็นสารที่ถูกคิดค้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดย ดร .แฮร์รี่ คูเวอร์ จุดประสงค์เพื่อผลิตศูนย์เล็งปืนจากพลาสติกใส นำไปใช้ประกอบอาวุธให้ฝ่ายสัมพันธมิตร ทว่าสุดท้ายก็ไม่ได้ถูกใช้ เพราะระดับความเหนียวที่มากไป ไม่เหมาะจะใช้นำไปประกอบศูนย์เล็งปืนที่กำลังค้นคว้าอยู่

ราวสิบปีหลังจากนั้น ดร. คูเวอร์ทำงานอยู่ที่บริษัท Eastman Kodak (แบรนด์กล้องฟิล์มที่เราคุ้นชื่อ) เขาได้รับมอบหมายให้คิดค้นสารอะคริเลตโพลีเมอร์ที่ทนความร้อนได้ดี เพื่อนำไปใช้กับหลังคาเครื่องบินเจ็ต

ไซยาโนอะคริเลตจึงถูกรื้อกลับมา คุณภาพความเหนียวของมันดีจน ดร. คูเวอร์ต้องกลับมาพัฒนามันอีกครั้ง และในปี 1958 อีสต์แมน โกดัก ก็จัดจำหน่ายซูเปอร์กลูในชื่อ Eastman #910

ในขณะที่ซูเปอร์กลูใช้กันอย่างแพร่หลายในฝั่งตะวันตก เจ้ากาวพลังช้างเข้ามาในไทยโดยบริษัท พี. เกรท มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2526 กับผลิตภัณฑ์ กาวช้าง เคนจิ เจ้าซูเปอร์กลูหลอดจิ๋วมีรูปช้างแปะอยู่บนแพ็กเกจจิ้ง และโฆษณาโทรทัศน์ที่แม้แต่เด็กรุ่นใหม่ก็อาจได้เห็นกันมาบ้าง

ชื่อกาวตราช้างมาจากการสื่อสารของเคนจิ ที่สื่อสารว่ากาวนี้เป็นกาวช้าง คือติดแน่น ทรงพลัง และคำว่ากาวช้าง และรูปช้าง ทำให้คนไทยเรียกแทนกาวช้างตราเคนจิว่ากาวตราช้าง จนกลายเป็น Generic Name

 

โฆษณากาวตราช้างเคนจิ

โดยเนื้อกาวของกาวช้างเคนจินำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น แต่ฐานการผลิตและจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย

แล้วแต่ละแบรนด์ที่เราเห็นตามท้องตลาดมาจากไหน มีรายได้เท่าไรกันบ้าง?

มีแบรนด์ซูเปอร์กลูเกิดขึ้นมาหลายเจ้า และพวกเขาพยายามสื่อสารว่า ‘ฉันก็เป็นกาวพลังช้างเหมือนกันนะ’ ด้วยการติดคำว่า ‘Elephant’ และรูปช้างตัวเบิ้มไว้บนแพ็กเกจจิ้ง ที่เรามักเห็นกันตามท้องตลาดก็มีหลายยี่ห้อ เช่น

บริษัท พี. เกรท มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เจ้าของ กาวช้าง เคนจิ  เป็นบริษัทผลิตกาวที่มีสินค้าอื่น ๆ เช่น กาวร้อน ไดโก้, กาวช้าง คาโต้, มีดโกนหนวด Glittor รายได้ปี 2563 อยู่ที่ 172 ล้านบาท กำไร 24 ล้านบาท

บริษัท อัลฟ่า ยูนิเทรด จำกัด ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์กาวยี่ห้อ Alteco แบรนด์ซูเปอร์กลูจาก Alteco Group of Companies บริษัทญี่ปุ่น รายได้ปี 2563 อยู่ที่ 218 ล้านบาท กำไร 13 ล้านบาท

และบริษัท แฮมก้า มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ตัวแทนนำเข้าและจัดจำหน่ายกาว Hanka (ผลิตโดยบริษัท Hebei chengxin.CO.LTD)  รายได้ปี 2563 อยู่ที่ 34 ล้านบาท กำไร 4,000 บาท

 บริษัท ซูปา (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย SUPA กาวซูเปอร์กลู รายได้ปี 2563 อยู่ที่ 1 ล้าน 6 แสนบาท ขาดทุน 400,000 บาท

ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า


อ้างอิง

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online