มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกกำลังจะมีบริษัทในมือเพิ่มมาอีกแห่ง โดยแห่งล่าสุดคือ Social Media ที่เขาใช้อยู่เป็นประจำจนมีจำนวนผู้ติดตามมากเป็นอันดับต้น ๆ ของแพลตฟอร์มนั่นเอง

Elon Musk บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการซื้อกิจการ Twitter หลังบอร์ดบริหารรับข้อเสนอ 44,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) ทั้งที่ก่อนหน้านี้ต่อต้านเขาและกีดกันไม่เกิดการซื้อกิจการครั้งนี้

Elon Musk

คนทั่วโลกรู้จัก Elon Musk ในฐานะ CEO มหาเศรษฐีที่สร้างตัวมาจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยบริษัทที่สร้างชื่อให้เขามากสุดคือ Tesla ค่ายรถที่ปลุกกระแส EV นอกจากนี้ เขายังมี SpaceX ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันธุรกิจการท่องอวกาศให้เริ่มคึกคักอีกด้วย

Elon Musk มักแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ตัวเองสนใจ และสื่อสารกับกลุ่มคนที่ชื่นชอบอยู่เสมอ ซึ่งแพลตฟอร์มที่เขาใช้ประจำคือ Twitter แต่ก็มีบางครั้งที่เขาเองก็ถูกวิจารณ์ว่าใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อปั่นกระแส

ตัวอย่างชัดเจนที่สุดของเรื่องนี้คือการปั่นจน Dogecoin คริปโทสกุลรองได้รับความนิยมขึ้นมา

การใช้อย่างสม่ำเสมอและความต้องการให้เป็นกระบอกเสียง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Elon Musk อยากซื้อกิจการ ต้นเมษายนที่ผ่านมาเรื่องนี้เริ่มถูกจับตามอง หลัง Elon Musk ทุ่มเงิน 2,890 ล้านดอลลาร์ (ราว 96,900 ล้านบาท) ซื้อหุ้น 9.2% ของ Twitter จนขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นมากสุดอันดับ 2 รองแค่เพียงกองทุน Vanguard Group ที่ถือครองหุ้นอยู่ 10.3%

แน่นอนว่า Elon Musk ไม่หยุดแค่นั้น โดยเขาแสดงออกเลยว่าต้องซื้อกิจการ Twitter แต่ความพยายามดังกล่าวก็ถูกสกัดไว้ หลังบอร์ดบริหาร Twitter ออกหุ้นปริมาณมหาศาลสู่ตลาดเพื่อให้ผู้ที่มุ่งจะเข้ามาซื้อกิจการต้องใช้เงินก้อนใหญ่กว่าเดิมตามซื้อหุ้นจากนักลงทุนรายย่อย ที่เรียกกันว่า กลยุทธ์ยาพิษ (Poison Pill)

ทว่า Elon Musk ที่มีจำนวนผู้ติดตามใน Twitter มากถึงกว่า 80 ล้านบัญชีผู้ใช้ ก็ไม่ละความพยายาม โดยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (22-24 เม.ย.) เริ่มมีข่าวหนาหูว่าบอร์ดบริหาร Twitter กลับลำ กำลังพิจารณาข้อเสนอของ Elon Musk

จนล่าสุดวานนี้ (25 เม.ย.) บอร์ดบริหาร Twitter รับข้อเสนอซื้อกิจการแล้ว และรับอย่างเป็นเอกฉันท์เสียด้วย โดย CNN คาดว่าการซื้อกิจการครั้งนี้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในปี 2022

ข่าวการซื้อกิจการครั้งนี้บรรดานักลงทุนต่างขานรับ จนดีดหุ้น Twitter ระหว่างการซื้อ-ขายวานนี้ขึ้นมา 6% โดยจากนี้ต้องจับตาดูว่า Elon Musk จะพา Twitter ไปในทิศทางใด จะทำให้แพลตฟอร์มนี้เป็นช่องทางที่เปิดกว้างและโปร่งใสต่อการแสดงความคิดเห็นได้จริงตามที่เคยกล่าวไว้จริงหรือไม่

อีกประเด็นที่ถูกจับตามองคือ Elon Musk จะดันตัวเองหรือทาบทามใครมาเป็น CEO ของ Twitter เพราะเขาเคยกล่าวว่าไม่มั่นใจกับทีมบริหารชุดปัจจุบัน โดยหากเป็นไปตามนี้ Parag Agrawal–CEO ชาวอินเดียที่เพิ่งขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของ Twitter เมื่อปลายปี 2021 อาจต้องพ้นตำแหน่ง  

ด้านรัฐบาลสหรัฐฯ แม้ไม่กีดกันการซื้อกิจการครั้งนี้เพราะไม่ได้เป็นการผูกขาดตลาด และบริษัทที่ Elon Musk บริหารก็อยู่ในธุรกิจที่แตกต่างกัน ได้แก่ รถ EV–Tesla บริษัทขนส่งอวกาศ SpaceX และบริษัทคมนาคมผ่านทางอุโมงค์ Boring Company แต่ก็แสดงความกังวล

Jen Psaki

Jen Psaki โฆษกทำเนียบขาวก็สะท้อนความกังวลของชาวอเมริกัน ซึ่งน่าจะเป็นทิศทางเดียวกับคนส่วนใหญ่ทั่วโลกว่า ผู้ที่บริหาร Twitter ควรตระหนักว่า ครอบครอง Social Media ที่อำนาจมากมายอยู่ในมือ/bbc, cnn, theguardian



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน