ฟ้าเสรี ประพันธ์ธา “เเม่ปิ๋ม” เปิดใจว่าการเข้าร่วมงานเสวนาของงาน“พลังหญิง” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยั่งยืน “Women Empowerment” ที่จัดขึ้นโดย SCG นั้นเธอกลัวมาก

เพราะเป็นการขึ้นเวทีร่วมกับผู้หญิงเก่ง ๆ หลายท่าน เช่น “ศุภจี สุธรรมพันธุ์”  ซีอีโอกลุ่มดุสิตธานี  “เจ๊เกียว” เจ้าแม่รถทัวร์ที่มีทรัพย์สินนับหมื่นล้าน หรือ “อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย” ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ   

แต่ละท่านสุดยอดมาก เธอเอาอะไรไปเทียบไม่ได้เลย

 “แต่ที่ตัดสินใจมา เพราะคิดว่าความกลัวคืออุปกรณ์ชิ้นหนึ่ง ถ้าเราก้าวข้ามความกลัวนี้ไปได้ เราจะได้มีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไปกับทั้ง 3 ท่านที่เป็นคนเก่งมาก ๆ และทำให้ตัวเองเกิดการพัฒนาทางความคิดเพิ่มขึ้นไปอีกเช่นกัน” 

ฟ้าเสรี เป็นประธานบริษัท “ไร่นา ฟ้าเอ็นดู” ซึ่งเป็นบริษัทเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่กลางท้องนา ในจังหวัดอุบลราชธานี มีพนักงานเป็นชาวบ้าน ชาวนา แม่บ้าน รวมถึงผู้สูงอายุ แบ่งเป็นงานประจำ และงานตามฤดูกาล เช่น ขุดเหง้ากระเจียว, คัดเมล็ดผักหวานป่า, นำสินค้าไปโพสต์ขายบนออนไลน์, เก็บกระบก และคัดเมล็ดกระบก เป็นต้น

จุดเริ่มต้นในเรื่องราวของเธออาจจะไม่ต่างกับสาวชาวนาทั่วไปที่จำใจจากบ้านเกิด ทิ้งไร่นา ไปแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในเมืองหลวง ด้วยความหวังที่ว่าชีวิตคงจะดีขึ้น

แต่เมื่อผิดหวังกลับมาต้องยึดการทำนาเป็นอาชีพเหมือนเดิม เกือบทุกปีเธอต้องเจอกับวิกฤตต่าง ๆ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ความหวังที่จะปลดหนี้ลงกลายเป็นหนี้เพิ่ม

เมื่อเจอกับปัญหาเธอพร้อมที่จะลุกขึ้นมาสู้กับปัญหา และการกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง  

จนในที่สุดวันหนึ่งเธอก็ลุกขึ้นมาได้ ตั้งบริษัทขึ้นมาเป็นของตนเอง มีอาชีพที่สามารถเลี้ยงครอบครัวให้มีความสุขได้

ที่สำคัญเป็นที่พึ่งให้กับครอบครัวอื่น ๆ ในชุมชนได้ด้วย

เธอมีวิธีคิดในการก้าวผ่านอุปสรรคนั้น ๆ อย่างไร

 ช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตมีแต่ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ถาโถมเข้ามาจนแทบตั้งตัวไม่ติด

ตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดไปหางานทำที่เมืองหลวง หวังว่าชีวิตจะดีขึ้น แต่เมื่อไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ก็เลยกลับมาบ้านเกิดด้วยเงินที่ติดตัวกลับมามาเพียง 8 พันบาทเท่านั้น

 คราวนี้เริ่มอาชีพใหม่ ทำกล้วยทอดขาย มุมานะทำงาน จนสามีไม่สบาย เงินจากขายกล้วยทอดไม่เพียงพอในการรักษาตัว ก็เริ่มหาอาชีพอื่น ๆ มาทำแทน และมาลงตัวกับการทำไร่ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เพื่อจะได้เป็นการดูแลสุขภาพของครอบครัวไปด้วย

 แต่เกือบทุกปีก็เกิดภาวะน้ำท่วม  ฝนแล้ง นาล่ม ข้าวเสียหายเกือบหมด ไม่เหลืออะไรเลย นอกจากหนี้สินที่เพิ่มขึ้น

จากชาวนามาขายน้ำพริก สินค้าแรกบนออนไลน์

วันหนึ่งเธอไปเดินบนที่นา เดินไปเรื่อย ๆ น้ำตาก็ไหลออกมา เพราะรู้สึกเป็นทุกข์กังวลใจที่ครอบครัวไม่มีข้าวจะขายแล้ว จะทำอย่างไรดี เธอนึกไปถึงคำสอนของอาจารย์ในโครงการพลังชุมชนที่บอกว่า ทุก ๆ อย่างรอบตัวเราสามารถสร้างเป็นมูลค่าเพิ่มได้หมด ช่องทางการขายไม่มีก็ให้ไปเรียนรู้การค้าขายในออนไลน์

 หันไปดูรอบ ๆ ตัว สิ่งที่มีก็คือพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านที่ขึ้นอยู่ตามท้องไร่ท้องนา  เลยมีความคิดที่จะเอามาทำเป็นน้ำพริกสมุนไพรขาย

 โดยขายทางออนไลน์ ผ่านเรื่องเล่าของตัวเองว่าชีวิตต้องเจอกับอะไรมาบ้าง จนกระทั่งมาทำน้ำพริกขาย ในช่วงแรกหลายคนอาจจะไม่สนใจว่าน้ำพริกของเธอรสชาติ ดี หรือไม่ดี แต่ก็ช่วยกันซื้อเพราะต้องการให้โอกาสชาวนาผู้เดือดร้อนจากการถูกน้ำท่วม

 เธอไม่หยุดแค่นั้น แต่ต้องการมีน้ำพริกที่ไม่เหมือนคนอื่น เลยไปหาองค์ความรู้เพิ่มเติมจากคนที่มีความรู้ด้านสมุนไพรเพื่อเอามาปรับปรุงสูตรน้ำพริกให้แตกต่าง

 “คือเป้าหมายของปิ๋มไม่ต้องการให้ลูกค้ามองว่าเป็นแค่น้ำพริก แต่จะต้องเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพด้วย ดังนั้นสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบทั้ง 23 ชนิดนั้นเราก็ได้ไปถามอาจารย์แพทย์แผนไทยว่าเหมาะสมหรือเปล่า ต้องเพิ่มตัวไหน เอาตัวไหนออกหรือไม่”

 ก็ได้คำแนะนำมาว่า ให้เราเอาสมุนไพรบางชนิดออกไป เพื่อไม่ให้มีรสชาติเผ็ดร้อนจนเกินไป และให้ผัดน้ำพริกด้วยน้ำมันมะพร้าวที่มีคุณสมบัติในการช่วยล้างพิษ  

 หลังจากมั่นใจในตัวสินค้าเพราะได้ผู้รู้จริงมาช่วยเป็นที่ปรึกษา เธอถีบจักรยานแจกน้ำพริกไปตามหมู่บ้าน พร้อมกับแจกแบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลเอามาใช้ปรับปรุงสินค้าเพิ่มเติม เริ่มตั้งแต่ต้องการให้น้ำพริกชื่ออะไร ชอบรสชาติแบบไหน รับประทานแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

“พบว่าชาวบ้านเขาไม่ได้รับประทานเพื่อสุขภาพ แต่เขารับประทานเพื่ออยู่ความรอด และเขาไม่ได้รับประทานมังสวิรัติ แต่รับประทานเนื้อสัตว์ ดังนั้นคำตอบก็เลยออกมาว่าถ้าใส่ปลาร้าจะดีมากเลย ทำให้เรารู้ว่าคนกลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นจึงเปลี่ยนไปแจกตามมูลนิธิที่เขารับประทานเจและเป็นมังสวิรัติ รวมถึงโพสต์แจกตามโซเชียล  จากนั้นปิ๋มใช้เวลาประมาน 1 เดือนในการพัฒนาน้ำพริกตามข้อมูลที่ได้ รวมไปถึงการออกแบบกระปุกจนได้ขายน้ำพริกในปัจจุบัน”

ฟ้าเสรี ประพันธ์ธา ขายน้ำพริกอยู่ประมาณ 6 เดือน ประมาณ 1 หมื่นกระปุก มีรายได้มากกว่าขายข้าวทั้งปี 3 เท่า ถึงวันนั้นทำให้เธอมั่นใจยิ่งขึ้นว่า “เรารอดแน่นอน”

ยิ้มได้ไม่นานเธอเริ่มเห็นปัญหาใหม่

 “คือน้ำพริกไม่ใช่ของที่ต้องรับประทานทุกวัน กระปุกหนึ่งบางคนเก็บไว้รับประทานได้เป็นเดือน เราเลยเจอยอดที่ตกลงไปหลังจาก 6 เดือนแรก เพราะเราไม่เก่งเรื่องขยายฐานตลาด จึงหันกลับมามองว่าเราจะไม่รอแค่น้ำพริก เพราะถ้ามัวแต่มานั่งรอขายน้ำพริกอย่างเดียวก็จะเหมือนการที่เรานั่งรอเวลาปลูกข้าว”

เริ่มมองหาสินค้าตัวใหม่ที่มีคุณค่ามาขาย เพื่อที่จะได้มีรายได้แบบรายวัน รายเดือน และรายปี และเงินบำนาญ ตามวิธีคิดของเศรษฐกิจพอเพียงที่ความมั่นคงต้องมีรายได้ 4 ระดับ 

จากการหาสินค้าในหมู่บ้าน เริ่มมองไกลไปในระดับอำเภอว่าในอำเภอมีของดีอะไรบ้างที่จะนำมาพัฒนาต่อยอดได้

 สินค้าตัวใหม่ของเธอคือ เม็ดกระบก สมุนไพรท้องถิ่นที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแพร่หลาย มีเปลือกแข็งรูปร่างเหมือนเมล็ดอัลมอนด์

 เริ่มจากมีคุณยายท่านหนึ่งมาฝากขาย เธอก็รับซื้อไว้ด้วยความสงสาร ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้คิดจะขายสินค้าตัวนี้เพราะมีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก ต้องมากะเทาะ มาคั่ว แล้วไม่แน่ใจว่าจะขายได้

 “แต่พอเราได้ช่วยคุณยาย เลยกลับมานั่งคิดว่าถ้าเราจะทำธุรกิจก็ไม่จำเป็นต้องมองว่าเราต้องได้กำไรเยอะแยะ เราเอาที่พอดี ที่สำคัญคือช่วยคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านให้มีรายได้บ้าง ตรงจุดนี่สิน่าจะเป็นการเริ่มต้นของธุรกิจที่ดี”

 หลังจากนั้นก็ถามไปในโซเชียลว่าถ้าจะรับประทานกระบก ต้องการรสชาติอะไร ซึ่งได้มา 3 รสคือ รสธรรมชาติ รสเกลือหิมาลัย และรสกระบกคาราเมล โดยรสคาราเมลนั้นมีอาจารย์ ทอรุ้ง จรุงกิจอนันต์ เป็นคนบอกสูตรมา

 จุดขายกระบกถูกสื่อไปกับคนในโซเชียลว่าคนเมืองต้องการรับประทานกระบกใช่ไหม ถ้าไม่ต้องการแกะเองให้ยุ่งยาก เรามีพ่อเฒ่า แม่เฒ่า คุณป้า คุณยายแกะขายให้นะ กลายเป็นว่าคนเมือง ก็ยอมที่จะจ่ายเงินซื้อ และคนในหมู่บ้านก็มีรายได้ ถึงแม้ปีแรกทำรายได้ไม่มาก แต่หลังจากนั้นจากเพียงแค่คนในหมู่บ้านเอากระบกมาขายขยายไปเป็น 7 หมู่บ้าน จนถึงวันนี้ ต้องบอกว่าทั่วอีสานก็เอากระบกมาขายให้เธอ 

การไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค พยายามพลิกวิกฤตเป็นโอกาสจากการเรียนรู้ศาสตร์การพึ่งพาตนเองจากสิ่งที่มีอยู่รอบตัว จนสามารถเปลี่ยนทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน  

เธอยังมีวิธีคิดที่ว่า 

 “ปิ๋มไม่เอาความโลภเป็นตัวนำในการดำเนินธุรกิจ เพราะปิ๋มคือชาวนามาก่อน แต่เริ่มจากความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงในการดำเนินงาน เราไม่ต้องการเติบและหลุดพ้นจากความลำบากเพียงคนเดียว  แต่เพื่อนบ้านและคนในชุมชนจะต้องก้าวไปพร้อมกันกับเราด้วย ถึงจะเป็นความยั่งยืนของสังคมโดยแท้”

เชื่อมั่นว่าทุกคนมีศักยภาพมากพอที่จะก้าวข้ามวิกฤต

 ทุกครั้งที่ชีวิตต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรคแม่ปิ๋มเชื่อว่าคนเรามีศักยภาพมากพอที่จะทำให้ตัวเองมีความสุขและแบ่งปันความสุขสู่คนรอบข้างได้ ถ้าเราคิดที่จะลงมือทำ อาจจะยากสำหรับคนที่ยังไม่เคยลองทำ หรือคนที่เจอปัญหาแล้วท้อแท้ แต่สำหรับเธอทุกครั้งที่ตัวเองผชิญกับปัญหาสามีจะคอยเตือนให้ตั้งสติ ค่อย ๆ คิดเพื่อให้ก้าวออกจากปัญหานั้น  

 “เชื่อว่าทุกคนทำได้ ทุกคนมีความงดงาม มีความกล้าในตนเอง เพียงแต่ยังไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาเผชิญกับสถานการณ์นั้นๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของจิตใจแต่ละคน”

ต้องการออกจากปัญหาเพื่อไปเจอสิ่งที่ดีกว่า คือแรงผลักดันสำคัญ

แรงผลักดันที่สำคัญของเธอคือ ต้องการออกจากปัญหาที่เผชิญอยู่เพื่อไปเจอสิ่งที่ดีกว่า รองลงมาคือครอบครัว เพราะหากรายได้ครอบครัวไม่ดี เศรษฐกิจมีปัญหา อาจจะทำให้ครอบครัวแตกแยกได้  ดังนั้นตัวปัญหาและความต้องการมีครอบครัวที่มีความสุข คือสิ่งที่จะทำให้เธอสู้เพื่อก้าวต่อไป   และถ้าครอบครัวมีความเข้าใจกัน พร้อมที่จะก้าวไปในทิศทางเดียวกัน ครอบครัวก็จะยิ่งแข็งแกร่ง

 ความต้องการที่จะออกจากปัญหากลายเป็นแรงจูงใจที่คิดทำสินค้าต่าง ๆ ขายตลอดเวลาในโลกออนไลน์

 “จริง ๆ แล้วตัวปิ๋มเองไม่ได้มีพลังมากมายอะไรขนาดนั้น ไม่ได้ต้องการตั้งหน้าตั้งตาขาย ไม่ได้วางเป้ายอดขายไว้สูง ๆ แต่ปิ๋มออกแบบชีวิตของตนเองให้มีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ โดยรักษาสมดุลระหว่างครอบครัว รายได้ก็ต้องทำ ครอบครัวก็ต้องดูแล ในความเป็นแม่ก็ต้องแสดงศักยภาพให้ลูกเห็น แต่ถ้าหากมุ่งตรงที่รายได้อย่างเดียวปิ๋มอาจจะเป็นนักธุรกิจที่เก่งมากแต่ในองค์ประกอบอื่นจะไม่ได้เลย”

อุปสรรคที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเติบโต คือตัวผู้หญิงเอง

 เธอยกตัวอย่างที่เห็นจากภาพยนตร์ของบางประเทศที่วัฒนธรรมประเพณีของประเทศนั้น ๆ จำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงอย่างมาก ซึ่งเมืองไทยโชคดีที่ไม่มีสิ่งเหล่านั้น

 “เป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ สำหรับผู้หญิงไทย เมื่อไม่มีกฎหมายที่ครอบงำ หรือกดขี่เรา ทำไมเราถึงกดขี่ตัวเอง ทำไมเราต้องสร้างกฎขึ้นมาครอบงำจิตใจตนเองว่า ‘ไม่ใช่ ไม่ได้ ไม่ควร’ จนไม่กล้าที่จะก้าวออกมาให้คนอื่นเห็นว่าเรามีคุณค่า มีความงดงามและเฉิดฉายแค่ไหน ถ้าเรามัวแต่ไปโทษคนอื่นเรื่องก็ไม่จบ ให้หันกลับมาดูตัวเราและแก้ที่ตัวเราจะทำให้ประสบความสำเร็จได้เร็วกว่า”

 สุดท้ายเธอกล่าวว่าการที่เธอสนใจไปฟังการบรรยายของผู้รู้หรือคนเก่ง ๆ ในเรื่องต่าง ๆ  ทำให้เธอต้องการพัฒนาตัวเอง  และเป็นแรงบันดาลใจให้เธอลงมือทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ   

–   

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online