ขณะที่ค่ายรถทั่วโลกยังกล้าๆกลัวๆ ว่า Electric Vehicle (EV) จะเป็นจริงได้แค่ไหน Tesla Motors เหยียบคันเร่งมิดไมล์ ผลิตรถไฟฟ้ารูปทรงโฉบเฉี่ยว มาพร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและปั๊มชาร์จ ทำยอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจน Elon Musk ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร (CEO) ได้รับการยกย่องให้เป็นคนดังในวงการ EV ส่วนกับรถจักรยานยนต์ Gogoro ก็กำลังเร่งเครื่องสร้างชื่อขึ้นมาผ่าน Scooter ไฟฟ้าขนาดกระทัดรัดสัญชาติไต้หวัน เจ้าของยอดขายหลายพันคันในเวลาไม่ถึงปี ส่งให้ Horace Luke ผู้ร่วมก่อตั้งซึ่งควบตำแหน่ง CEO ด้วย เริ่มเป็นที่สนใจแม้ยังไม่เท่านักธุรกิจหนุ่มใหญ่ต้นแบบ Tony Stark มหาเศรษฐีนักประดิษฐ์จากภาพยนตร์ Super Hero เรื่องดัง Iron Man ก็ตาม
World Marketeer คนล่าสุดเป็นชาวฮ่องกง เกิดในครอบครัวนักบัญชี อายุ 13 ปีย้ายตามแม่ไปอยู่ที่นคร Seattle ของสหรัฐ ช่วงแรกใน “ดินแดนแห่งเสรีภาพ” ฐานะครอบครัวยังไม่ดีนักจึงต้องทำของเล่นไว้ให้ตัวเองและพี่น้องอีก 3 คนได้เล่นกัน นี่เองปูพื้นฐานให้เขาสนใจงานออกแบบ ต่อยอดสู่การการศึกษาระดับปริญญาตรีในคณะออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย Washington โดยองค์ความรู้ด้านนี้ที่ยังถูกนำไปใช้กับการออกแบบเครื่องประดับส่งตัวเองเรียนอีกด้วย งานแรกหลังพ้นรั้วมหาวิทยาลัยคือการเป็นฝ่ายการตลาดให้ Nike แต่ทำได้ไม่นานก็เปลี่ยนทั้งสายงานและบริษัทไปอยู่กับ Microsoft
ภายใต้ชายคาขององค์กรที่ Bill Gates ร่วมก่อตั้ง Luke รับผิดชอบงานย่อขนาดเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะให้เล็กลงจนใส่กระเป๋าเสื้อได้ ในชื่อโปรเจ็ค GoPC แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากเพราะวิทยาการขณะนั้นยังไม่เอื้ออำนวย โดยหนุ่มเอเชียซึ่งต่อมาจะกลายมาเป็นบุคคลที่ร่วมผลักดันยานยนต์พลังงานไฟฟ้า กล่าวว่าการที่โลกไม่หมุนเร็วอย่างใจก็มีข้อดีเหมือนกัน “ผมเรียนรู้ว่าจังหวะเวลาเป็นเรื่องสำคัญ แม้คุณจะมีทุกอย่างพร้อม ไม่ว่าจะเป็นไอเดีย ไฟในตัวและเงินทุน แต่ถ้าโลกยังไม่พร้อม สิ่งที่เราทำได้คือการรออย่างใจเย็น”
ช่วงท้ายในการทำงานกับ Microsoft Luke มีส่วนช่วยพัฒนาเครื่องเล่นเกม Xbox จากนั้นปี 2006 เก็บกระเป๋าย้ายกลับทวีปของบรรพบุรุษ เพื่อรับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายนวัตกรรมของ HTC โดยเขาคือผู้มีส่วนสำคัญในการพาแบรนด์คอมพิวเตอร์สัญชาติไต้หวัน รุกสู่อุตสาหกรรม Smartphone หน้าจอสัมผัสบนระบบปฏิบัติการ Android ซึ่งยังเปิดโอกาสให้เขาได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Andy Rubin หัวหน้าทีมสร้างระบบบปฏิบัติดังกล่าวของ Google ด้วย แต่เพราะทนแรงเสียดทานจากการแข่งขันอันดุเดือดในอุตสาหกรรม “โทรศัพท์อัจฉริยะ” ไม่ไหวปี 2011 จึงลาออกไปหาความท้าทายใหม่
ความท้าทายที่ Luke มองไว้คือธุรกิจเกี่ยวกับการคมนาคม พลังงานไฟฟ้า Smartphone อภิมหาข้อมูล (Big Data) เมืองใหญ่ และเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มาก ทั้งหมดกลายมาเป็น Gogoro – Scooter ไฟฟ้าอัจฉริยะในกรุงไทเปที่มาพร้อม GoStation สถานีเปลี่ยนลูกแบตฯทรงลูกบาศก์ เกือบ 200 แห่งทั่วเมือง ใช้เวลาเปลี่ยนไม่ถึง 1 นาที ซึ่งสีหน้าปัดดิจิตอลและเสียงเตือน รวมถึงข้อมูลจำเป็นอื่นๆ เช่นพิกัดของ GoStation ที่ใกล้สุดและปริมานไฟฟ้าคงเหลือในลูกแบตฯ สามารถปรับแต่งและรับรู้ได้จาก App บน Smartphone โดยเจ้าของความคิดกล่าวว่า “เป็นการพัฒนาระบบการคมนาคมให้ฉลาด ใช้งานง่ายเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรเมืองใหญ่ ใกล้เคียงกับระบบของ Tesla แต่ราคาย่อมเยากว่ามาก” ส่วนที่เลือกไต้หวันเพราะเป็นประเทศเต็มไปด้วยโรงงานผลิตสินค้าเทคโนโลยีและมีสัดส่วนการใช้ Scooter ต่อจำนวนประชากรสูงสุดในโลก (ประชากร 23 ล้าน / Scooter 14 ล้านคัน)
กระแสตอบรับยานยนต์ไฟฟ้าสองล้อซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2015 ถือว่าดีมาก ขายได้แล้วเกือบ 5,000 คัน จนอดีตนายกรัฐมนตรี เหมา ฉี-กั๋ว ของไต้หวันชื่นชมว่า “เป็นผลิตภัณฑ์เพื่ออนาคต ซึ่งอาจเป็นทางออกด้านการคมนาคมในอีกหลายประเทศ” โดยล่าสุดขยายสู่กรุงเบอร์ลินของเยอรมนีแล้ว และตั้งเป้ารุกต่อไปยังมหานคร (Megacity) อื่นๆทั่วโลกซึ่งคาดว่า จะเพิ่มจาก 28 เมืองในปัจจุบัน เป็น 42 เมืองเมื่อถึงปี 2020
ที่มา : cnet.com ,wsj.com ,theverge.com ,wikipedia.com
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



