เดือนมิถุนายนในทุก ๆ ปี เป็นเดือนที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เรียกว่า Pride Month” เดือนแห่งความภูมิใจในตัวเอง ความเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งสำคัญที่ต้องการผลักดันให้มนุษย์ทุกเพศมีความภูมิใจในการเป็นตัวเอง และเรียกร้องการปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมโดยปราศจากอคติ

ในช่วงเวลานี้จะสังเกตได้ถึงบรรยากาศความสนุกสนานของเทศกาล Pride Month มีการรวมตัวและแต่งตัวแสดงออกอย่างอิสรเสรี การเฉลิมฉลองด้วยธงหลากสี แสดงถึงความภาคภูมิใจของชาว LGBTQ+ รวมไปถึงบริษัท องค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยก็ได้ออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้อย่างเต็มที่

ดูเผิน ๆ แล้วเหมือนกับว่าสังคมให้การยอมรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีเสียงสะท้อนจากกลุ่ม LGBTQ+ ในเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติมาโดยตลอด เพียงเพราะมีความแตกต่างจากขนบเดิม โดยเฉพาะหากโฟกัสในเรื่องอาชีพการงาน และอุปสรรคในที่ทำงานที่กลุ่ม LGBTQ+ ต้องเผชิญตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครงาน ไปจนถึงถูกปิดกั้นโอกาสความเจริญก้าวหน้ากันเลยทีเดียว

ภาพจาก : https://shorturl.asia/hX5Bu

ผลสำรวจจากธนาคารโลกที่มีชื่อว่า “การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่มหลากหลายเพศในประเทศไทย”[1] ว่าด้วยบทบาทและทัศนคติของสังคมทำงานที่มีต่อกลุ่มคน LGBTQ+ ทางธนาคารโลกได้ทำการสำรวจกลุ่มคน LGBTQ+ จำนวน 2,302 ราย และคนที่ไม่ใช่ LGBTQ+ จำนวน 1,200 รายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 3,502 คน พบว่า

  • 77% ของคนข้ามเพศ (Transgender) ถูกปฏิเสธงานเหตุเพราะตนเองเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ
  • 22.7% ของเกย์ที่ตอบแบบสอบถาม บอกว่า ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งงานเพราะเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ
  • 24.5% ของเกย์และเลสเบี้ยนที่ตอบแบบสอบถาม บอกว่า ถูกห้ามไม่ให้เปิดเผยตัวตนในที่ทำงาน

จากผลสำรวจดังกล่าวทำให้เห็นว่า ต่อให้องค์กรและธุรกิจให้ความสำคัญกับนโยบายสวัสดิการเท่าเทียมสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ มากเพียงใด ก็ยังพบในเรื่องวิถีการเลือกปฏิบัติ หรือ บรรยากาศการทำงาน ที่อาจกระทบความรู้สึกของกลุ่ม LGBTQ+ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้

ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคการแชร์ทุกอย่างผ่านสื่อโซเชียล การเลือกปฏิบัติเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กรอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ องค์กรจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศ[2] รวมไปถึงการตั้งปณิธานให้บริษัทกลายเป็นอีกพื้นที่ความปลอดภัยให้กับกลุ่ม LGBTQ+ ได้ใช้ศักยภาพพัฒนาตนเองในที่ทำงานได้อย่างเต็มที่

นอกเหนือจากนี้ การที่บริษัทออกมาเฉลิมฉลอง Pride Month เฉพาะในเดือนมิถุนายนนั้นอาจไม่มากพอที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านมิติเพศในสังคมได้ องค์กรจะต้องใส่ใจในความหลากหลายตั้งแต่สภาพแวดล้อม บรรยากาศในที่ทำงาน การคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน การสนับสนุนโอกาสความก้าวหน้าด้านการงาน รวมไปถึงแนวคิดหรือกิจกรรมที่ส่งเสริมให้กลุ่ม LGBTQ+ หรือเพศใด ๆ ก็ตาม รู้สึกสบายใจที่ได้ทำงานในองค์กร

ความพยายามและรายละเอียดเล็กน้อยเหล่านี้เองจะช่วยผลักดันให้ไม่ว่าคนเพศใดก็มีสิทธิในการใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมและมีความสุขได้ ซึ่งผลที่ได้ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์องค์กรเท่านั้นที่จะได้รับความเชื่อมั่นจากคนในสังคม องค์กรยังช่วยขับเคลื่อนสิทธิกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมในที่สุด

หากองค์กรต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการปรับเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานให้เป็นมิตรกับทุกเพศ ผู้เขียนมีคำแนะนำเบื้องต้นที่สามารถทำตามได้ไม่ยากและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง ดังต่อไปนี้

  1. ทบทวนนโยบายต่าง ๆ ขององค์กรเพื่อประเมินว่ามีส่วนใดเข้าข่ายการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ความสำเร็จขององค์กรจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อสถานที่ทำงานประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีประสบการณ์และอัตลักษณ์ที่หลากหลาย ดังนั้น ก่อนที่องค์กรจะให้ความสำคัญกับสวัสดิการของกลุ่ม LGBTQ+ ผู้เขียนอยากให้องค์กรกลับมาดูแนวทางปฏิบัติภายในที่ทำงานว่ามีส่วนใดที่กลายเป็นอุปสรรคการทำงานต่อกลุ่ม LGBTQ+ บ้าง รวมไปถึงตรวจสอบพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในที่ทำงานว่าได้ส่งผลกระทบต่ออัตลักษณ์ของคนกลุ่มนี้ หรือได้สร้างบาดแผลทางกายและจิตใจหรือไม่[3] หากองค์กรมีหลักการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและชัดเจน ก็จะสามารถปกป้องสิทธิและความเสมอภาคของพนักงาน LGBTQ+ ได้สำเร็จ
  2. การตลาดขององค์กรจะต้องสะท้อนถึงการสนับสนุน LGBTQ+ อย่างแท้จริง ในขณะที่ข้อแรกอาจเปรียบได้เป็นการที่องค์กรหล่อเลี้ยงพนักงานภายในให้เติบโตไปด้วยกัน แคมเปญการตลาดขององค์กรก็เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือที่สื่อสารให้กลุ่มคน LGBTQ+ และคนกลุ่มอื่น ๆ ได้รับรู้ถึงความสำคัญด้านความหลากหลาย รวมไปถึงมีบทบาทในการขับเคลื่อนการยอมรับในมิติเพศให้กว้างขวางมากขึ้น โดยองค์กรจะต้องยึดถือแคมเปญที่มีการสื่อสารเกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ อย่างจริงจัง ไม่ควรมองว่าการตลาดดังกล่าวเป็นไปสำหรับช่วงเวลาการเฉลิมฉลองในช่วงเดือนมิถุนายนเท่านั้น แต่จะต้องมองว่าแคมเปญมีการดำเนินได้ต่อไปในอีก 11 เดือนข้างหน้าและมีส่วนช่วยสร้างสังคมที่น่าอยู่และปลอดภัยสำหรับกลุ่มความหลากหลายทางเพศได้อย่างยั่งยืน

Merz Aesthetics ประเทศไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญในการยอมรับความหลากหลายทางเพศ และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เปิดใจรับความแตกต่างและเป็นพื้นที่ปลอดภัยแก่กลุ่ม LGBTQ+ โดยตลอดที่ผ่านมา Merz ไม่เพียงแต่ยกระดับสวัสดิการด้านสุขภาพของพนักงานให้เกิดอิสระในการเลือกใช้กับพนักงานทุกเพศ แต่ยังสนับสนุนความหลากหลายในองค์กร เปิดรับพนักงานในทุกเพศสภาพ สร้างบรรยากาศความเป็นหนึ่งเดียวกันที่หลากหลาย (Inclusion with diversity) รวมถึงการไม่บังคับเพศสภาพพนักงาน หรือการแสดงออกในที่ทำงานตามความเหมาะสมและกาลเทศะ ซึ่งทำให้ทุกคนสามารถเป็นตัวเองได้อย่างสบายใจระหว่างที่ทำงานในองค์กร

นอกจากนี้ แคมเปญการตลาดของ Merz ที่ทำเพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางเพศนั้นไม่ได้ยุติหลัง Pride Month เท่านั้น แต่เป็นแผนการตลาดระยะยาวที่ Merz ต้องการจะจุดประกายแบรนด์และนักการตลาดให้เห็นถึงความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสู่ความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย ซึ่งจากการที่ทีมการตลาดได้พูดคุยกันเพิ่มเติมกับ รองศาสตราจารย์ ดร. ณัฐวุฒิ พิมพา ผู้ช่วยคณบดีด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และหัวหน้าสาขาวิชา Managing for sustainability วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาชิกคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ได้ข้อแนะนำถึงการทำแคมเปญการตลาดที่ส่งเสริมกลุ่ม LGBTQ+ ให้ได้ผล และไม่กลายเป็น Rainbow Washing หรือความพยายามใช้สีรุ้งซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่มความหลากหลายทางเพศกับสินค้าและบริการเพียงเพราะจุดประสงค์ทางการตลาด

“การที่องค์กรจะทำแคมเปญการตลาดเพื่อชาว LGBTQ+ ให้เกิดประสิทธิภาพได้นั้นจะต้องทำอย่างต่อเนื่องและบ่งบอกถึงผลกระทบที่องค์กรคาดหวังนั้น อธิบายตามแนวทางการตลาดก็คือ แคมเปญต่าง ๆ ขององค์กรไม่ว่าจะเป็นแนวทางการบริหาร การผลิต หรือ การตลาด จะต้องคำนึงถึงหลักการ Inclusive Marketing อยู่เสมอ องค์กรจะต้องตระหนักถึงการมีตัวตนของคนทุกกลุ่มตลอดทุกครั้ง ซึ่งน่าเสียดายที่องค์กรบางส่วนตื่นตัวถึงหลักการดังกล่าวเฉพาะเพียงแค่เดือน Pride Month หรือเดือนมิถุนายน

ผมมองว่าไม่ผิดหากต้องการเน้นเฉพาะเดือนที่เฉลิมฉลองกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่การหยุดทำใน 11 เดือนที่เหลืออย่างชัดเจน คุณจะกลายเป็นองค์กรที่ปลอม สินค้าที่ปลอมในสายตาของ LGBTQ+ และบุคคลที่เข้าใจประเด็นความหลากหลาย อีกทั้งสินค้าและบริการต่าง ๆ ขององค์กรจะต้องให้ความสำคัญถึงมิติของเพศอย่างละเอียด อย่ามองว่า LGBTQ+ คือกลุ่มก้อนเดียว มีทัศนคติหรือไลฟ์สไตล์ในทิศทางเดียวกันหมด

ซึ่งตัวอย่างองค์กรที่ผมมองว่าเข้าใจสังคม LGBTQ+ คือ ธนาคาร ANZ ในประเทศออสเตรเลีย โดยได้ทำตู้เอทีเอ็มสีรุ้งทั่วประเทศ 1 เดือนเต็ม และอีก 11 เดือนที่เหลือ เขาได้คิดผลิตภัณฑ์การเงิน การประกันและสินเชื่อที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับกลุ่ม LGBTQ+ ในการเข้าถึงการเงิน ในส่วนของภายในองค์กร ANZ ได้สนับสนุนให้มีนโยบายการทำงานที่เหมาะสมกับคนทุกเพศ มันเลยไปพร้อมกัน เติมเต็มสังคม LGBTQ+ ได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าดูดี ๆ แค่เราเปลี่ยนจากคำว่า LGBTQ+ เป็นผู้ชาย เด็กวัยรุ่น หรือคนต่างชาติ เราก็จะเข้าใจทันทีว่า สุดท้าย เราทำการตลาดโดยคำนึงถึงความต้องการ หรือมูลค่าที่เขามองหา”

บทสรุป

Pride Month ในเดือนมิถุนายนของทุก ๆ ปี จะมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ซึ่งเป็นการผลักดันให้มนุษย์ไม่ว่าจะเพศใดก็ตามต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน รวมไปถึงองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนให้ LGBTQ+ ได้รับสิทธิตามที่ควรจะเป็นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ก็ยังไม่รอดพ้นจากการถูกเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะสังคมภายในการทำงานที่มอง LGBTQ+ ด้วยมุมมองการแบ่งแยกที่แฝงไปด้วยอคติ

ด้วยเหตุนี้ ถ้าแบรนด์ หรือองค์กรต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นพื้นที่แห่งความปลอดภัยแก่ LGBTQ+ อย่างมีประสิทธิภาพ ควรพิจารณาคำแนะนำดังต่อไปนี้

  1. ทบทวนนโยบายภายในองค์กรว่ามีส่วนใดเข้าข่ายการเลือกปฏิบัติ LGBTQ+ หรือไม่ ก่อนที่องค์กร หรือ ธุรกิจต่าง ๆ จะออกแคมเปญส่งเสริมกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้ลองพิจารณาดูก่อนว่าองค์กรมีแนวทางปฏิบัติ หรือนโยบายใดที่เป็นอุปสรรคความก้าวหน้าทางการทำงาน รวมไปถึงได้กระทบต่อจิตใจของคนกลุ่มนี้หรือไม่
  2. การตลาดองค์กรต้องสะท้อนถึงการสนับสนุน LGBTQ+ ได้อย่างแท้จริง องค์กรจะต้องใช้แคมเปญการตลาดเปรียบเสมือนการสื่อสารไปถึงคนภายนอกว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำให้สังคมเปิดกว้างและให้สิทธิเท่าเทียมกันในมิติเพศ ทั้งนี้ องค์กรจะต้องยึดถือแคมเปญการตลาดดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้น่าเชื่อถือ รวมไปถึงมีส่วนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างเห็นผลชัดเจนมากขึ้น

บทความโดย : เภสัชกรหญิง กิตติวรรณ รัตนจันทร์ รองประธานบริหาร บริษัท Merz Aesthetics ประเทศไทย

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทบริหารธุรกิจจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ เภสัชกรหญิงกิตติวรรณคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมยาและนวัตกรรมความงามมานานกว่า 20 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองประธานบริหาร บริษัท Merz Aesthetics ประเทศไทย บริษัทชั้นนำระดับโลก ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องอัลเทอร่า และเวชภัณฑ์สำหรับใช้ในคลินิกเสริมความงาม เพื่อทุกความมั่นใจของคนไทย ก่อตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2015 โดยเป็นบริษัทในเครือ Merz ฟาร์มา เยอรมนี

กลุ่มบริษัท Merz ฟาร์มา ประเทศเยอรมนี สั่งสมประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญทางด้าน เวชภัณฑ์ยา และเทคโนโลยีความงาม มากว่า 114 ปี ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งในองค์กรชั้นนำ อันเป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือของแพทย์ความงามและผู้บริโภค ทางด้านนวัตกรรมความงามและ เวชภัณฑ์ยากลุ่มโบทูลินั่มท็อกซิน และเครื่องมือแพทย์เพื่อการดูแลรักษาผิวพรรณและรูปร่างได้รับความไว้วางใจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความงามกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

Confidence to be คือปณิธานองค์กรที่เรายึดมั่น Merz ตั้งอยู่เพื่อขับเคลื่อนทุกความมั่นใจของคนไทย ผ่านพันธกิจองค์กร 3 ประการ ได้แก่ การทำให้ทุกคน ‘Look better, Feel better, Live better’ และเรายังคงเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีความงามและนวัตกรรมการรักษาระดับโลกสู่คนไทยทุกคน

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.merzclubthailand.com

และติดตาม Merz Aesthetics ได้ที่
Facebook: Merz Aesthetics Thailand
Instagram: @merzaesthetics_th
YouTube: Merz Aesthetics Thailand

[1] https://documents1.worldbank.org/curated/en/527451521822208295/pdf/124554-v1-THAI-Executive-Summary-Thai-23-March-format.pdf?fbclid=IwAR3qoic26Cq1GDA_cJn741ZOU0NIFVxxOAWE2xcUmAJhkIeFoNZaOmOtLAQ

[2] https://www.kazoohr.com/blog/celebrate-pride-month

[3]  https://lgbt-speakers.com/news/event-planning/5-ways-to-celebrate-pride-month-in-your-workplace



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online