การจับตามองสถานการณ์ในยุโรปท่ามกลางวิกฤตสงคราม โยกกลับมาอยู่ที่กลุ่มความร่วมมือทางทหารขนาดใหญ่ของทวีปอีกครั้ง หลังอุปสรรคในการเพิ่มสมาชิกหมดไป

องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) แถลงข่าวแสดงความยินดีที่ความต้องการเข้าเป็นสมาชิกของฟินแลนด์กับสวีเดนขยับเข้าใกล้ความเป็นจริงเข้าไปอีกขั้น หลังตุรกียุติการใช้สิทธิต่อต้าน เพราะสองประเทศยุโรปเหนือยอมทำตามข้อเรียกร้อง

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือว่ามีนัยสำคัญเพราะ NATO จำเป็นต้องเพิ่มความแข็งแกร่งและความเป็นปึกแผ่นเพื่อรับมือกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ฟินแลนด์กับสวีเดนวางตัวเป็นกลางทางการทหารมาโดยตลอด แต่นับจากรัสเซียบุกยูเครนจนนำมาสู่สงครามยืดเยื้อ ความหวาดกลัวรัสเซีย และการสนับสนุนอย่างท่วมท้นให้เปลี่ยนท่าทีของประชาชน ทั้งสองประเทศจึงตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิก NATO

แต่ฟินแลนด์กับสวีเดนก็ยังไม่ได้สมใจ เพราะตุรกีไม่เห็นด้วย โดยตามกฎของ NATO กำหนดไว้ว่า ประเทศสมาชิกทุกประเทศมีสิทธิคัดค้านการเพิ่มสมาชิกใหม่

และตุรกีก็ใช้สิทธิดังกล่าว ด้วยการระบุว่าจะไม่ยอมรับฟินแลนด์กับสวีเดนเป็นสมาชิกใหม่ ตราบใดที่ทั้งสองประเทศยังให้ที่พักพิงกับชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ซึ่งในจำนวนนี้มีกลุ่ม PKK ที่ตุรกีมองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายรวมอยู่ด้วย

NATO จัดการเจรจาเพื่อคลายปมปัญหาดังกล่าวขึ้นที่กรุง Madrid ของสเปน โดยที่สุดการเจรจาก็จบลงด้วยดี หลังฟินแลนด์กับสวีเดนให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกับตุรกีในการสกัดภัยก่อการร้าย ด้วยการตรวจสอบอย่างเข้มงวดว่าชาวเคิร์ดที่มาลี้ภัยอยู่คนใดเกี่ยวข้องกับกลุ่ม PKK หรือไม่

หากฟินแลนด์กับสวีเดนพบว่าเป็นพวกหัวรุนแรงและเกี่ยวข้องกับกลุ่ม PKK ก็จะส่งตัวไปให้ทางการตุรกี  พร้อมกันนี้ทั้งสองประเทศยุโรปเหนือยังจะปลดล็อกมาตรการไม่ขายอาวุธให้ตุรกีอีกด้วย

ผู้นำของทั้ง 3 ประเทศคือประธานาธิบดี Sauli Niinisto ของฟินแลนด์ นายกรัฐมนตรี Magdalena Anderson ของสวีเดน และประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdogan ของตุรกี รวมถึง Jens Stoltenberg เลขาธิการ NATO ต่างร่วมแสดงความยินดีหลังสามารถคลายปมขัดแย้งลุล่วง

ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ NATO จะมีสมาชิกใหม่เพิ่มเป็น 32 ประเทศ ถัดจากมาเซโดเนียเหนือที่เข้าเป็นสมาชิกเมื่อปี 2020 โดยในทางปฏิบัติฟินแลนด์กับสวีเดนถือว่าเป็นสมาชิกของ NATO แล้ว เพราะสามารถเข้าร่วมการประชุม NATO ครั้งล่าสุดในสเปนด้วย

จากจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นแน่นอนว่าจะทำให้ NATO แข็งแกร่งขึ้น และรับมือสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฟินแลนด์กับรัสเซีย ประเทศเพื่อนบ้านที่พรมแดนติดกันเป็นทางทอดยาวถึงกว่า 1,300 กิโลเมตร ร้าวฉานจนอาจไม่สามารถกลับไปอยู่จุดเดิมได้ เพราะรัสเซียมองว่า NATO ที่มีสหรัฐฯ เป็นสมาชิกสำคัญคือศัตรู

อีกประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจต่อเรื่องนี้ คือบทบาทของตุรกี โดยตุรกีมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผ่านการสลับบทบาทไปมา ทั้งปิดทางออกทะเลไม่ให้เรือรบรัสเซียเข้าไปโจมตียูเครน และเมื่อสงครามทำให้การส่งออกข้าวสาลีทางทะเลของยูเครนชะงักไปจนส่งผลต่อ Supply chain อาหารทั่วโลก ตุรกีก็เสนอตัวเป็นคนกลางพาเรือยูเครนออกมา  

สุดท้ายคือ ตุรกีบีบให้ฟินแลนด์กับสวีเดนช่วยจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายชาวเคิร์ดได้สำเร็จ แลกกับการยินยอมให้ทั้งสองประเทศเข้าเป็นสมาชิก NATO เพื่อไปช่วยคลายวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdogan ของตุรกี

ท่ามกลางรายงานว่าตุรกียังได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนไม่ใช่น้อยต่อการที่ชาวรัสเซียและยูเครนเข้ามาอยู่ และใช้เป็นทางผ่านหรือตั้งธุรกิจ หลังเกิดสงคราม/theguardian, wikipedia, aljazeera



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน