เศรษฐกิจตุรกี ทำไมยังปั่นป่วน เงินเฟ้อพุ่งไม่หยุดใกล้แตะ 80%
ประเทศที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างยุโรปกับเอเชียกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูงมากเป็นประวัติการณ์ แต่รัฐบาลกลับใช้วิธีสวนกระแสในการแก้ปัญหา
มิถุนายนที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อของตุรกีขึ้นมาอยู่ที่ 78.6% เพิ่มจาก 73.5% ของช่วงพฤษภาคม ซึ่งเพิ่มมากสุดในรอบ 24 ปี และอาจจะมากสุดในโลก ทำให้ประชาชนต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง
เพราะราคาอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ น้ำมันและค่าน้ำค่าไฟปรับขึ้นแบบรายวัน ในยุคที่เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โลก
Recep Tayyip Erdogan ประธานาธิบดีตุรกีคนปัจจุบัน เริ่มไต่เต้าทางการเมืองมาจากปี 1998 ที่ตุรกีเผชิญวิกฤตหนี้ จากนั้นเขาก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2003 และมีส่วนพาประเทศพ้นวิกฤตการเงินปี 2008 มาได้ด้วยการปล่อยให้ค่าเงินลิราอ่อนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ
ปี 2012-2013 เศรษฐกิจตุรกีก็สะเทือนอีกจากวิกฤตหนี้ทวีปยุโรปและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ
Recep Tayyip Erdogan ขึ้นเป็นประธานาธิบดี 2014 ต่อมาปี 2018 เขาก็ปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้น และลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการส่งออก และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
นโยบายดังกล่าวประสบความสำเร็จ โดยตามข้อมูลสำนักสถิติตุรกีระบุว่าไตรมาส 2 ปี 2021 เศรษฐกิจของประเทศโตขึ้นถึง 21.7% ถือเป็นอัตราที่มากสุดนับจากปี 1999
ประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdogan ยังคงใช้นโยบายดังกล่าวเรื่อยมา แต่ทว่าปีนี้เศรษฐกิจตุรกีเผชิญความท้าทายจากนอกประเทศ โดยเฉพาะปัญหาน้ำมันแพงที่สืบเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และภาวะข้าวยากหมากแพงจากเศรษฐกิจโลก
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ตุรกีเผชิญภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อขึ้นมาอยู่ที่ 78.6% สูงสุดในรอบ 24 ปี แต่ประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdogan ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไป และขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 30% ให้อยู่ที่ 328 ดอลลาร์ (ราว 12,000 บาท)
ประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdogan กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยเป็นปีศาจร้ายที่ทำให้คนจนยิ่งจน แต่กลับไปเพิ่มความมั่งคั่งให้คนรวย และมองว่าตอนนี้ประเทศเผชิญปัญหาค่าครองชีพไม่ใช่ปัญหาเงินเฟ้อ
นโยบายดังกล่าวถือว่าสวนกระแส เพราะถ้าเกิดภาวะเงินเฟ้อ แนวทางที่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ใช้กันคือ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อ ช่วยกระตุ้น เศรษฐกิจตุรกี
นอกจากนี้ ประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdogan ยังใช้มาตรการเด็ดขาดกับนักการเงินหรือผู้บริหารระดับสูงของภาคธนาคาร โดยตั้งแต่ปี 2018 ได้สั่งปลดประธานธนาคารกลางที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งไปแล้ว 3 คน
พรรคฝ่ายค้านวิจารณ์นโยบายสวนกระแสของประธานาธิบดี แต่ Nureddin Nebati รัฐมนตรีคลังตุรกี พยายามลดกระแสวิจารณ์และฟื้นฟูความเชื่อมั่น ด้วยการออกมากล่าวว่าธันวาคมนี้เป็นต้นไป อัตราเงินเฟ้อในประเทศจะทยอยลดลง
ขณะที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ในตุรกีเห็นตรงกันว่า ตามจริงแล้วอัตราเงินเฟ้อในประเทศน่าจะสูงกว่าที่รัฐบาลประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ โดยเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมาอาจสูงถึง 175%
ทั้งนี้หากนโยบายการเงินแบบสวนกระแสของประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdogan ประสบความสำเร็จ ก็อาจทำให้พรรค AKP ชนะเลือกตั้งใหญ่ปี 2023 และตัวประธานาธิบดีอยู่ในอำนาจได้ต่อไป/ theguardian, wikipedia, bbc
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



