ธุรกิจโรงหนัง คือหนึ่งในธุรกิจที่ต้องฝ่าฟันมรสุมหลายต่อหลายครั้ง แต่ยังสามารถยืนหยัดการเป็น First Window ที่สามารถมอบประสบการณ์ในการชมภาพยนตร์ที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภคเสมอ
ย้อนกลับไปดูมรสุมลูกแรก คือการมาของสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม ที่ตอนนั้นถูกมองว่าจะมาชิงส่วนแบ่งเวลาและสายตาคนดูจากโรงหนังไป ลูกที่สอง คือการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยมาตรการความปลอดภัยทำให้โรงหนังคือสถานที่แรก ๆ ที่ถูกสั่งปิดและหยุดให้บริการไปหลายต่อหลายรอบ
แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปจนถึงตอนนี้ ธุรกิจโรงหนังได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่ายังคงเป็นสถานที่มอบความบันเทิงและประสบการณ์การดูหนังที่ผู้บริโภค ‘ต้องการ’ อยู่เสมอ
สิ่งที่สะท้อนคำกล่าวนี้อย่างแรกคือ ข้อมูลจากเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ทุกสาขาทั่วประเทศ ระบุรายได้หนังใหญ่ที่เข้าฉายในปีนี้เริ่มแตะที่ 100-200 ล้านบาทได้ง่ายและเร็วขึ้น ทำให้เห็นว่าผู้คนหันกลับมาดูหนังที่โรงกันมากขึ้น
ถัดมาคือ โมเดลการฉายหนังของค่ายหนังเองที่ก่อนหน้านี้ทดลองฉายแบบ Hybrid คือฉายในโรงและสตรีมมิ่งไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ จึงปรับเปลี่ยนมาเป็นการเข้าฉายในโรงหนังก่อนจากนั้น 2-6 เดือนค่อยฉายในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง เกิดเป็น Win-Win-Win Solution นั่นหมายความว่า โรงหนังยังเป็นช่องทางสำคัญและช่องทางแรกสำหรับค่ายหนังทั่วโลก
อีกหนึ่งปัจจัยที่สะท้อนความสำเร็จของโรงหนังในยุคนี้คือ ผลการสำรวจ Marketeer No.1 Brand 2021-2022 หมวดโรงภาพยนตร์ยังคงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และชื่อของ ‘เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์’ ยังคงเป็นแบรนด์โรงภาพยนตร์อันดับ 1 ในใจผู้บริโภคอีกครั้ง
‘เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์’ แบรนด์ใหญ่ที่คอยสร้าง Movement ใหม่ ๆ ให้ตลาด
“Key Success ของ ‘เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์’ คือ Never Stop Learning เราไม่หยุดเรียนรู้ และพยายามหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด สิ่งที่เราคิดอยู่เสมอคือทำอย่างไรจึงจะสามารถแก้ Pain point และสามารถทำให้ลูกค้ามีความสุขไปจนถึงการสร้างประสบการณ์ที่เกิดความคาดหมายให้กับลูกค้าได้ ดังนั้นจะเห็นว่าเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ให้ความสำคัญและทำ Customer Research อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเข้าใจ Insight แก้ปัญหาและตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด”
นรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวย้ำกับ Marketeer ถึงกุญแจสำคัญที่ทำให้ ‘เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์’ เป็นเบอร์หนึ่งในใจผู้บริโภค
นรุตม์ยังบอกอีกว่า ความท้าทายของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ในตอนนี้คือ “เวลา”
“ปัจจุบันจะเห็นว่าจำนวนผู้คนที่ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านไม่ว่าจะเป็นการทำงาน กินข้าว เดินห้าง ช้อปปิ้ง หรือดูหนังเกือบเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งความท้าทายของเราคือ ทำอย่างไรเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าสนใจเข้าดูหนัง หรือให้การดูหนังเป็นหนึ่งใน Key activity ของเขา ดังนั้นสิ่งที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ทำคือ
เสิร์ฟคอนเทนต์ที่หลากหลาย
ที่ผ่านมาเราได้เห็นเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์สร้างภาพยนตร์ป้อนตลาดอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์มองเห็นโอกาสในการสร้างหนัง Regional Film ตอบโจทย์ Localization ซึ่งเคสตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จคือภาพยนตร์เรื่อง “มหาลัยวัวชน” (Song from Phatthalung) ที่ได้รับการตอบรับทั้งยอดคนดูและรายได้จากผู้บริโภคในภาคใต้เป็นอย่างดี
“หนึ่งสิ่งที่เราโฟกัสคือ การ Build อุตสาหกรรมหนังไทยให้เติบโต เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์มีค่ายหนังของตัวเอง ในเครือ M Picture มีราว 6 สตูดิโอ ซึ่งในปีนี้เราสร้างหนังประมาณ 20 เรื่อง ตั้งเป้าเพิ่มปีละ 10 เรื่อง ซึ่งเรามีการผลิตหนัง Regional Film เจาะกลุ่ม Localization ในภาคต่าง ๆ ซึ่งหนังเหล่านี้สามารถขยายตลาดไปในประเทศกลุ่มอาเซียนได้และตัวเลขค่อนข้างดี หนังบางเรื่องได้ขายสิทธิ์ที่เกาหลีหรือญี่ปุ่นด้วยซ้ำ ดังนั้น เป้าหมายของเราคือ อยากเอาหนังไทยไปฉายในเอเชียครบทุกประเทศให้ได้ และนำรายได้จากการขายสิทธิ์เหล่านี้กลับมาลงทุนในการสร้างหนังในอนาคตเพิ่มอีก”
อีกประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องการ Build อุตสาหกรรมหนังไทย คือ การเป็นเจ้าภาพงาน “CineAsia 2022” ในวันที่ 5-8 ธันวาคม 2565 ที่ Icon Siam ซึ่งเป็นงานอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับนานาชาติ ที่เป็น Soft Power ก่อให้เกิดธุรกิจต่อเนื่อง ส่งต่อประโยชน์ให้กับหลากหลายภาคส่วน เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมและความมุ่งมั่นที่จะเดินนำหน้าเพื่อนำพาอุตสาหกรรมให้ฟื้นฟูและเติบโตไปด้วยกันของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ได้อย่างชัดเจน
ขยายช่องทางลงทุน ส่งป๊อปคอร์นลุยตลาดนอกโรงหนัง
หนึ่งในการทรานส์ฟอร์มตัวเองให้เป็น “ไลฟ์สไตล์แบรนด์” ผ่านการขยายธุรกิจนอกเหนือจากโรงภาพยนตร์ที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ให้ความสำคัญคือ การสร้าง “ป๊อปคอร์น คัลเจอร์” ผ่านการขยายช่องทางการขายป๊อปคอร์นออกไปนอกโรงภาพยนตร์ (Popcorn Out of Cinema) แตกไลน์เป็นป๊อปคอร์นกึ่งสำเร็จรูป ที่สามารถซื้อไปเก็บไว้รับประทานได้ตามต้องการ รวมถึงการออกรสชาติใหม่ ๆ เพื่อปลุกกระแสต่อเนื่อง
ปัจจุบันเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายป๊อปคอร์นโรงหนังสู่ช่องทางการขายอื่น ๆ ครอบคลุมทุกช่องทาง เดลิเวอรี่ผ่าน Grab, Food Panda, Line Man, Shopee Food, Robinhood และ Air Asia Food อีคอมเมิร์ซ Shopee, Lazada โมเดิร์นเทรด โลตัส, บิ๊กซี, วิลล่า มาร์เก็ต, กูร์เมต์ มาร์เก็ต, โฮม เฟรช มาร์ท, ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และ ฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ล่าสุดเพิ่งวางจำหน่ายป๊อปคอร์นโรงหนังแบรนด์ “ป๊อปสตาร์” ในเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วประเทศไป
“ในปีที่ผ่านมายอดขายป๊อปคอร์นนอกโรงหนังเราเติบโตอย่างก้าวกระโดด ปัจจุบันรายได้จากการขายป๊อปคอร์นนอกโรงหนังเฉลี่ยประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน เราตั้งเป้าไว้ว่าอยากสร้างยอดขาย 100 ล้านบาทต่อเดือน เป็นอีกหนึ่ง Pillar ที่เราพยายามที่จะขยายธุรกิจเพิ่ม”
อัปเกรดเทคโนโลยีในทุกมิติ
ย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 ปีก่อนโรงหนังเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ได้นำนวัตกรรม Laser Projection System เทคโนโลยีการฉายหนังที่ช่วยเพิ่มความสมจริงและความสดใสของภาพมาเติมเต็มประสบการณ์การดูหนังของคนไทย
มาปีนี้นอกจากแผนขยายจำนวนโรงหนัง Laserplex แล้ว เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ยังเปิดตัวโรงหนัง ScreenX PLF พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ที่ให้ความคมชัดสมจริงและความสดใสของภาพจากเครื่องฉายระบบเลเซอร์ และเป็น ScreenX ที่มีจอภาพใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดกว่าสิบเรื่องต่อปีที่เข้าฉายในระบบ ScreenX
“จะเห็นว่าเราลงทุนเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการฉายหนังอย่างต่อเนื่อง อีกหนึ่งเรื่องคือ ความสะดวกสบายในการจ่ายเงินซื้อตั๋วหนัง โดยการซื้อตั๋วออนไลน์จากเดิมช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 18% ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็น 35% และอีก 65% คือซื้อที่หน้าโรงหนัง ใน 65% ดังกล่าวมีเพียง 5% เท่านั้นที่ใช้เงินสด ซึ่ง 60% ที่เหลือคือการจ่ายแบบ Cashless สามารถใช้บัตร Credit, Debit, PromptPay, QR Payment, Wallet ต่าง ๆ ได้
“เราตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้อยากให้การจ่ายเงินเป็นแบบ Cashless 100% ซึ่งจะทำให้เราสามารถ Connect กับลูกค้าได้ 100% เช่นกัน หมายความว่าเราจะมีข้อมูลอินไซต์ของลูกค้าและทำให้สามารถนำเสนอโปรโมชั่นถึงลูกค้าในรูปแบบ Personalized ที่เป็น One to One Offering ที่เฉพาะเจาะจงได้มากขึ้น”
ปัจจุบันเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์เริ่มทำการตลาดแบบ Personalized กับลูกค้าผ่าน Major Cineplex Application ก่อน และกำลังขยายไปยังลูกค้าที่ซื้อตั๋วผ่านตู้จำหน่ายหน้าโรงหนัง ซึ่งการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามานอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแล้ว ยังทำให้เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคได้ครอบคลุมและตรงจุด
สุดท้ายแล้ว สำหรับผู้บริโภคโรงหนังยังคงเป็น First Window ที่นำเสนอหนังสดใหม่อยู่เสมอ โดยในปีนี้ สตูดิโอ ฮอลลีวู้ด ทุกสตูดิโอประกาศไว้แล้วว่าจะนำภาพยนตร์ทุกเรื่องฉายที่โรงภาพยนตร์เป็นวินโดว์แรก และจะไม่มีการฉายแบบคู่ขนานกับสตรีมมิ่งอย่างเด็ดขาดเหมือนในช่วงโควิดที่ผ่านมา เพื่อมอบประสบการณ์ในการชมภาพยนตร์ที่ดีที่สุดเสมอ ขณะเดียวกันในสายตาผู้สร้างหนังหรือค่ายหนังต่าง ๆ มองว่าโรงภาพยนตร์คือ ไข่ทองคำ ในการสร้างรายได้จากการฉายหนังที่สำคัญที่สุดเช่นกัน
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



