ตลาดรองเท้าวิ่ง ในไทยเป็นอย่างไร และ Saucony มีโอกาสแค่ไหน ?

ตลาดรองเท้าวิ่งจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากซึม ๆ ไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในปีนี้คาดการณ์ว่าตลาดรองเท้าวิ่งมูลค่า 10,000 ล้านบาทเติบโต 15% อ้างอิงจาก เรฟ อีดิชั่น

การเติบโตของตลาดรองเท้าวิ่งในปีนี้ยังมาพร้อมกับนักวิ่งหน้าใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในปีที่ผ่านมาข้อมูลจาก สสส. พบว่ามีจำนวนนักวิ่งมากถึง 13 ล้านคนในประเทศไทย ส่วนปีนี้ เรฟ อีดิชั่น คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนนักวิ่งเพิ่มขึ้นเป็น 14-15 ล้านคน

รวมถึงมีอีเวนต์งานวิ่งต่าง ๆ ที่เริ่มกลับมาจัดงานเชิญชวนให้นักวิ่งหน้าเก่าและหน้าใหม่เข้ามาร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

แม้ในปีนี้กิจกรรมงานวิ่งยังมีไม่มากถึง 2,000 อีเวนต์เมื่อเทียบกับช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดก็ตาม

ทั้งหมดที่เรากล่าวมาเป็นโอกาสที่น่าสนใจของแบรนด์รองเท้าวิ่งที่จะเข้ามาสร้างโอกาสจากนักวิ่งทั้งสิ้น

เพราะยิ่งนักวิ่งหน้าใหม่เข้าสู่วงการวิ่งมากขึ้นเท่าไร และนักวิ่งหน้าเก่าออกซ้อม และออกร่วมวิ่งตามอีเวนต์งานต่าง ๆ มากขึ้น โอกาสที่พวกเขาซื้อรองเท้าวิ่งก็มีมากขึ้นตามมา

เพราะธรรมชาติของนักวิ่ง สำหรับนักวิ่งหน้าใหม่อาจจะซื้อรองเท้าวิ่งคู่แรกเพื่อทดลองวิ่ง และเมื่อวิ่งจริงจังมากขึ้น ส่วนหนึ่งจะซื้อรองเท้าวิ่งเพิ่มเติม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและรูปแบบการวิ่งมากขึ้น

ส่วนนักวิ่งหน้าเก่านอกจากซื้อรองเท้าทดแทนคู่เดิมจากอายุการใช้งานของรองเท้าวิ่งที่หมดประสิทธิภาพการใช้งานไปกับการซ้อมวิ่งเป็นประจำทุกวัน เพราะโดยเฉลี่ยรองเท้าวิ่งจะมีอายุการใช้งาน 600 กิโลเมตรต่อคู่

นักวิ่งหน้าเก่ายังมีพฤติกรรมซื้อคู่ใหม่ที่ตอบโจทย์การวิ่งในรูปแบบต่าง ๆ ตามความต้องการในเวลานั้น

เพราะรองเท้าวิ่งมีอยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบที่พัฒนาขึ้นมาตอบโจทย์การวิ่งที่แตกต่างกันไป

เช่น เทรนนิ่ง วิ่งซ้อม วิ่งแข่ง วิ่งระยะไกล วิ่งเร็ว วิ่งเทรล และอื่นๆ

เมื่อมองไปที่ ตลาดรองเท้าวิ่ง 10,000 ล้านบาท ในวันนี้เรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาดจากพฤติกรรมนักวิ่งไทยมีความรู้และความเข้าใจและศึกษาลงลึกในรองเท้าวิ่ง และเทคนิคในการวิ่งที่มากขึ้น เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา ที่นักวิ่งบางคนยังไม่ทราบถึงประเภทรองเท้าที่แตกต่างกัน

และการที่นักวิ่งไทยศึกษาลงลึกนี้เองทำให้พฤติกรรมในการเลือกซื้อรองเท้าวิ่งแต่ละคู่ของนักวิ่ง จะมองลึกไปยัง Detail ของรองเท้าแต่ละคู่เพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่แท้จริง และไม่ยึดติดกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง

พฤติกรรมที่เรากล่าวมาเป็นโอกาสของรองเท้าในกลุ่มไรซิ่งสตาร์ หรือแบรนด์รองเท้าวิ่งที่เป็นแบรนด์ทางเลือกเข้ามาต่อกรกับแบรนด์รองเท้าที่เป็นแบรนด์แมสมากขึ้น

เมื่อเอ่ยถึงรองเท้ากลุ่มแมสและรองเท้าไรซิ่งสตาร์ เราขอเล่าสักนิดว่าตลาดรองเท้าวิ่งในประเทศไทยมีคู่แข่งในตลาดประมาณ 20 ราย และเป็นแบรนด์ระดับแมสที่เป็นที่คุ้นเคยและคุ้นหูผู้บริโภคประมาณ 10-12 แบรนด์ แบรนด์เหล่านี้อย่างเช่น Nike, Adidas Asics, New Balance, Mizuno

และแบรนด์กลุ่มไรซิ่งสตาร์ ที่เป็นรองเท้าแบรนด์ทางเลือกประมาณ 8-10 แบรนด์ เช่น Hoka, Saucony, Craft

ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แบรนด์กลุ่มไรซิ่งสตาร์มีการเติบโต ได้รับการพูดถึงและถูกใช้ในวงกว้างมากขึ้น จากเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์นักวิ่งไม่แพ้แบรนด์แมส ช่องทางจัดจำหน่ายที่หาซื้อง่ายกว่าที่ผ่านมา และมีราคาไม่แตกต่างจากราคาซื้อในต่างประเทศ และการเริ่มทำตลาดของผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทย

ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ที่เรากล่าวมา ทำให้ เรฟ อีดิชั่น ผู้ทำตลาดรองเท้าวิ่งเช่น Hoka, Saucony มองว่าตลาดรองเท้าวิ่งแบรนด์ทางเลือกมีโอกาสที่จะเติบโตได้อย่างน่าสนใจในประเทศไทย

โดยล่าสุดเรฟ อีดิชั่น เปิดตัวรองเท้าวิ่ง Saucony รุ่น Endorphin Pro3 เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย เจาะกลุ่มรองเท้าในกลุ่มเรซซิ่งชูว์โดยเฉพาะ

การเปิดตัว Endorphin Pro3 ในครั้งนี้ พรศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรฟ อีดิชั่น จำกัด คาดหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้ Saucony ขึ้นมาเป็นแบรนด์ติด Top3 ในตลาดรองเท้าวิ่งในระยะเวลาอันใกล้

จากปัจจุบัน Saucony มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในอันดับ Top5 ในตลาด

เหตุผลที่พรศักดิ์มั่นใจว่า Saucony จะสามารถติดอันดับ Top3 ได้ ส่วนหนึ่งมาจาก Brand Awareness ของ Saucony ที่มีเพิ่มขึ้นในกลุ่มนักวิ่งไทย หลังจากที่ Saucony เปิดตัวรองเท้าวิ่ง Endorphin Pro ปี 2020

ซึ่งรองเท้ารุ่นนี้เป็นรุ่นที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักวิ่งทั่วโลกและไทย จากเทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพในการวิ่งให้กับนักวิ่งสายทำความเร็ว

ประกอบกับเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เรฟ อีดิชั่น เข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่าย Saucony อย่างเป็นทางการ  และมีการขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้ผู้บริโภคหาซื้อง่ายขึ้น จากเดิมที่รองเท้า Saucony ค่อนข้างหาซื้อยาก จากผู้นำเข้ารายเดิมที่ทำตลาดอยู่ในวงที่จำกัด

ไปพร้อม ๆ กับนำสินค้า Saucony รุ่นอื่น ๆ เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง

จากเทคโนโลยีของรองเท้า ความหลากหลายของรุ่น และการทำตลาดขยายช่องทางจำหน่ายให้ผู้บริโภคหาซื้อง่ายขึ้น

เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แบรนด์ Saucony เติบโตมากถึง 5-6 เท่าในปัจจุบันเมื่อเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมาก่อนเรฟ อีดิชั่นนำ Saucony เข้ามาจัดจำหน่าย

แต่การขึ้นมาติด Top3 ในตลาดของ Saucony เรามองว่ายังมีความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน

เนื่องจากตลาดนี้ยังมี Nike เป็นผู้นำตลาดที่ติดลมบน และมีแบรนด์แมสอื่น ๆ เช่น Adidas ที่มียอดจำหน่ายอันดับต้น ๆ เช่นกัน

ยังไม่รวมถึงแบรนด์แมสอื่น ๆ อย่าง Asics, New Balance, Mizuno ซึ่งเป็นแบรนด์รองเท้าวิ่งที่ผู้บริโภคทั่วไปรู้จัก ยังคงทำตลาดเข้าถึงผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งรายอื่น ๆ เช่นกัน

ซึ่ง Saucony มี Brand Awareness เป็นรองแบรนด์ที่เรากล่าวมาทั้งหมด

นอกจากนี้ Saucony ยังมีความท้าทายด้านช่องทางจัดจำหน่ายที่เข้าถึงผู้บริโภคมากกว่า เนื่องจากแบรนด์แมสส่วนใหญ่จะมีรองเท้าหลายรูปแบบ ทั้งสนีกเกอร์ รองเท้าวิ่ง รองเท้าเทรนนิ่ง และอื่น ๆ ซึ่งทำให้ช่องทางจัดจำหน่ายเปิดกว้างมากกว่า จากการนำรองเท้าวิ่งเข้าไปเป็นรองเท้าประเภทหนึ่งของแบรนด์เพื่อวางขายในร้านรองเท้า ร้านอุปกรณ์กีฬาที่เป็นมัลติแบรนด์ได้

เรามองว่าการที่ Brand Awareness และช่องทางจัดจำหน่าย ของ Saucony เป็นรองแบรนด์แมสอื่น ๆ ทำให้ Saucony อาจจะพลาดโอกาสในการเป็นรองเท้าที่นักวิ่งมือใหม่ หรือนักวิ่งบางคนที่ไม่ทราบว่ารองเท้า Saucony มีจุดเด่นที่แตกต่างจากแบรนด์แมสอย่างไร และเลือกซื้อแบรนด์แมสเพราะสามารถหาซื้อและเข้ามาทดลองสินค้าได้ง่ายกว่า

จากความท้าทายที่กล่าวมาทำให้ Saucony วางกลยุทธ์การตลาด สร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ตัวเอง แข่งขันกับแบรนด์ในกลุ่มแมสหลากหลายด้าน ได้แก่

1. จัดกิจกรรมการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ล่าสุดจัดงาน House of Speed BKK 2022 เป็นกิจกรรมเปิดตัวรองเท้ารุ่น Endorphin Pro3 เพื่อให้นักวิ่งที่รู้จักแบรนด์ Saucony เข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์ และเกิดการพูดถึงรองเท้า Endorphin Pro3 ที่เปิดตัวใหม่ในวงกว้างของหมู่นักวิ่ง และเกิดการแชร์ไปยังโซเชียลมีเดียของนักวิ่งเอง และเรามองว่าการแชร์โซเชียลมีเดียยังทำให้เพื่อนกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นนักวิ่งเห็นและคุ้นเคยกับแบรนด์ Saucony ได้เช่นกัน

2. เปิดแฟลกชิปสโตร์ของตัวเองขึ้นมาเป็นแห่งแรกที่เซ็นทรัลเวสต์เกต เพื่อวางจำหน่ายสินค้าทุกรุ่นของแบรนด์

เรามองว่าการเปิดแฟลกชิปสโตร์ทำให้กลุ่มลูกค้าที่รู้จักแบรนด์ Saucony เห็นภาพมากขึ้นว่า Saucony มีไลน์สินค้าที่หลากหลายตั้งแต่สนีกเกอร์ไปจนถึงรองเท้าวิ่งที่เน้นเทคโนโลยี

และทำให้ผู้บริโภคทั่วไปรับรู้ในแบรนด์ Saucony จากการเห็นช็อป ไปพร้อมกับสร้างโอกาสให้ลูกค้ากลุ่มนี้เข้ามาแวะชมสินค้า และอาจจะกลายเป็นลูกค้าในอนาคตได้

3. ขยายช่องทางการขายไปยังช่องทางออนไลน์ นำสินค้าวางจำหน่ายผ่านร้านค้าในเครือเรฟ อีดิชั่น และขยายไปยังคู่ค้าที่เป็นร้าน Running Specialty เพื่อให้ลูกค้าหาซื้อได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น เพราะลูกค้าบางกลุ่มโดยเฉพาะลูกค้าต่างจังหวัดเลือกที่จะไปซื้อรองเท้าวิ่งแบรนด์แมสที่ตอบโจทย์การวิ่งได้เหมือนกัน เพราะความง่ายและสะดวกในการซื้อที่มากกว่า

4. ตอกย้ำแบรนด์ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ทั้งกูรูในวงการวิ่ง นักวิ่ง และอินฟลูเอนเซอร์สายไลฟ์สไตล์ เพื่อสร้างการรับรู้ ประกอบการตัดสินใจซื้อ

แม้ในวันนี้ Saucony ยังไม่แมสเท่าไรนักในประเทศไทย แต่พรศักดิ์บอกกับเราว่าในต่างประเทศโดยเฉพาะอเมริกาประเทศต้นกำเนิด Saucony ถือเป็นรองเท้าประจำบ้านของนักวิ่งที่ 80% ของนักวิ่งต้องมีติดบ้าน

ส่วนประเทศไทย Saucony จะแมสกว่านี้ได้มากแค่ไหน คงต้องดูกันยาว ๆ เพราะหนทางของนักวิ่งยังอีกยาวไกล

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน