ตามข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้รายงานว่า ตั้งแต่ 3 เดือนที่แล้วต้นทุนวัตถุดิบอาหารทั่วโลกกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ราคาอาหารนั้นก็นับว่ายังคงสูงเป็นประวัติการณ์อันเป็นผลมาจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

FAO จึงยังคงประกาศเตือนในขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารทั่วโลกลดลงว่า ปัจจัยที่ผลักดันราคาโลกให้สูงขึ้นตั้งแต่แรกยังคงมีบทบาทอยู่ อย่างในสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ราคาอาหารจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งของ Nomura (โนมูระ) ซึ่งเป็นกลุ่มบริการทางการเงินระดับโลกที่มีเครือข่ายแบบบูรณาการครอบคลุมกว่า 30 ประเทศ แสดงความเห็นว่า ในตอนแรกเอเชียยังไม่ค่อยได้รับผลกระทบเท่าไร แต่ในไตรมาสที่ 3 ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน เอเชียจะได้รับผลกระทบจนทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น

Sonal Varma (โซนัล วาร์มา) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระอธิบายเพิ่มเติมว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาอาหารในเอเชียมีแนวโน้มที่จะล่าช้ากว่าทั่วโลก เนื่องจากรัฐบาลให้เงินอุดหนุนและควบคุมราคา เพื่อลดราคาชั่วคราว

เมื่อเทียบจากดัชนีราคาอาหารของ FAO ซึ่งติดตามการเปลี่ยนแปลงรายเดือนในราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารทั่วโลก พบว่าลดลง 2.3% ในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า รวมถึงราคาน้ำมันพืช ธัญพืช และน้ำตาลลดลงเช่นกัน แต่ก็ยังสูงกว่าปีที่แล้วถึง 23.1%

ผลกระทบในเอเชีย

จากข้อมูลของโนมูระ ประเทศในแถบเอเชียอย่างสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และอินเดีย มีแนวโน้มว่าราคาอาหารจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

เห็นได้จากการนำเข้าอาหารสุทธิคิดเป็นกว่า 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของฟิลิปปินส์ (GDP) ซึ่งสูงเป็นอันดับสองในเอเชีย รองจากฮ่องกง เช่นเดียวกับดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศ (CPI) ที่สูงเกือบ 35%

นอกจากนี้ เกาหลีใต้และสิงคโปร์ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบราคาสูงมากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากทั้งสองประเทศมีการนำเข้าอาหารเป็นจำนวนค่อนข้างมาก

ในขณะที่อินเดียมีทรัพยากรเป็นของตัวเองอย่างข้าวและข้าวสาลี แต่เนื่องจากคลื่นความร้อนที่ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องและความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ส่งผลให้ฤดูฝนเกิดความล่าช้า ทำให้มีแนวโน้มราคาอาหารอื่น ๆ เพิ่มสูงขึ้น อย่างเช่น เนื้อสัตว์และไข่

นักเศรษฐศาสตร์ Sonal Varma จึงแนะนำว่า รัฐบาลของแต่ละประเทศควรสนับสนุนช่วยเหลือทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในช่วงเวลานี้ แทนที่จะสั่งห้ามส่งออกอาหาร เนื่องจากเธอคิดว่า ในแต่ละครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมักใช้เงินจำนวนมากไปกับการบริโภคอาหาร ดังนั้น การปกป้องพวกเขาจึงสำคัญกว่า

ราคาข้าวสาลีขึ้นเกือบ 50% เมื่อเทียบปีต่อปี

 ตามดัชนีราคาอาหารของ FAO ราคาธัญพืชซึ่งเป็นประเภทข้าวสาลี ลดลง 4.1% ในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม แต่ยังคงสูงกว่าปีที่แล้วถึง 27.6%

สำหรับราคาข้าวสาลีลดลง 5.7% ในเดือนมิถุนายน แต่ยังคงสูงถึง 48.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวสาลีทั่วโลกรวมกันถึง 28.47% ในปี 2020 จากการสำรวจของ Observatory of Economic Complexity

ส่วนราคาข้าวสาลีที่ลดลง FAO เผยว่าเป็นผลมาจากสภาพการเพาะปลูกที่ดีขึ้น ความพร้อมตามฤดูกาลในการเก็บเกี่ยว  และการส่งออกข้าวสาลีที่เพิ่มขึ้นของรัสเซีย

ราคาน้ำมันพืชลดลง 7.6% จากเดือนก่อนหน้า ราคาน้ำมันปาล์มก็ลดลง เนื่องจากอุปทานทั่วโลกเพิ่มขึ้น ในขณะที่อุปสงค์ของน้ำมันดอกทานตะวันและน้ำมันถั่วเหลืองลดลง จึงทำให้ราคาลดลงเช่นกัน ส่วนราคาน้ำตาลร่วง 2.6% ต่อเดือน เนื่องจากอุปทานเพิ่มขึ้นและอุปสงค์หดตัว

ราคาเนื้อสัตว์สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

ราคาเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมิถุนายน โดยสูงกว่าเดือนก่อนหน้าถึง 1.7% และ 12.7% จากปีที่แล้ว เนื่องจากสงครามทำให้อุปทานเนื้อสัตว์ลดลงอย่างต่อเนื่อง การระบาดของไข้หวัดนกก็ส่งผลกระทบต่อราคาเนื้อสัตว์เช่นกัน

ผลิตภัณฑ์นมก็มีราคาแพงกว่าเดือนพฤษภาคม 4.1% และมีราคาแพงกว่าปีที่แล้ว 24.9% ขณะที่ราคาชีสพุ่งสูงสุด เพราะเกิดจากการกักตุนและคลื่นความร้อนในยุโรป

บทสรุป

แมกซิโม โตเรโร (Maximo Torero) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ FAO อธิบายเพิ่มเติมว่า อุปสงค์ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก สภาพอากาศเลวร้ายที่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูกของบางประเทศ ต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานเนื่องจากการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด -19 และปัจจัยที่ไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากสงครามต่อเนื่องในยูเครน ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น

 

ที่มา:

cnbc.com



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online