ปัจจุบันไทยยังคงเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี ค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ในขณะที่ค่าเงินบาทกลับอ่อนค่าลงมากสุดในรอบ 5 ปี ไม่นับรวมอัตราการว่างงานที่ยังน่าเป็นห่วงและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด 10 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังมีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.50 เป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ในขณะเดียวกันสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็ยังไม่มีทีท่าจะยุติ

ซึ่งล้วนส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ การดำเนินชีวิต และการดำเนินธุรกิจที่ต่างได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ธุรกิจ SMEs เป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากผู้ประกอบการทั้งหมดจำนวน 3.192 ล้านราย ส่วนใหญ่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 3.178 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 99.6% ในธุรกิจ SMEs ยังเป็นแหล่งการจ้างงานที่สูงถึง 12.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 71.9% จากจำนวนการจ้างงานทั้งระบบกว่า 17.5 ล้านคน*

แม้ว่า SMEs จะถือเป็นภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน SMEs ก็มีความเปราะบางในการทำธุรกิจอยู่สูงเช่นกัน ซึ่ง 3 ข้อเสียเปรียบที่กดดันให้ SMEs มีความเปราะบางจากการทำธุรกิจ คือ “กำไรต่ำ ดอกเบี้ยสูง และความต้องการเงินทุนมากแต่เข้าถึงได้ยาก”

ในขณะที่ธุรกิจรายใหญ่มีช่องทางหาแหล่งเงินทุนจากหลายทาง ทั้งการออกหุ้นกู้ หรือการกู้ยืมจากบริษัทในเครือ แต่สำหรับ SMEs แหล่งเงินทุนหลักมาจากธนาคารพาณิชย์ถึง 99.7% และในปัจจุบันการขอสินเชื่อยังยากขึ้นอีกด้วย

เมื่อผนวกกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นข้างต้น ทั้งค่าครองชีพที่พุ่งสูงอันสืบเนื่องมาจากราคาพลังงานที่ผันผวน อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงไม่แพ้กัน โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนพฤษภาคม 2565 เพิ่มขึ้น 7.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 13 ปี

รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นเป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี และสภาพคล่องทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตโควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จึงเป็นการสร้างแรงกดดันและเป็นเสมือนระเบิดเวลาที่ SMEs ต้องเผชิญ

นั่นทำให้ SMEs จำนวนไม่น้อยประสบปัญหาในการบริหารจัดการต้นทุน และขาดสภาพคล่อง บางรายสามารถยืนหยัดอยู่ได้ แต่ก็มีไม่น้อยที่ต้องปิดตัวลง ซึ่งนั่นย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่ผ่านมาหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างหามาตรการที่จะเข้ามาช่วยพยุงและทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ที่ผลักดันและเปิดโอกาสให้กับ SMEs ไทยได้ร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ รวมถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่ออกมาตรการช่วยเสริมสภาพคล่องให้กลุ่ม SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

หนึ่งในนั้นคือโครงการ “CPF x BBL เสริมสภาพคล่อง…เคียงข้างคู่ค้า” เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อสนับสนุนส่งเสริมสภาพคล่องแก่ธุรกิจ SMEs ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้น อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ต้นทุนต่ำให้แก่คู่ค้าซีพีเอฟ

โครงการดังกล่าวเป็นการมอบสินเชื่อหมุนเวียนพิเศษเฉพาะสำหรับคู่ค้าของซีพีเอฟ ผ่านบริการ Supplier Payment and Finance ของธนาคารกรุงเทพ เพื่อสนับสนุนให้คู่ค้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้

สินเชื่อในโครงการ “CPF x BBL เสริมสภาพคล่อง…เคียงข้างคู่ค้า” เป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยพิเศษ, วงเงินสูง อนุมัติไว, เบิกใช้วงเงินได้มากถึง 90% ตามข้อมูลการค้าที่ธนาคารได้รับ และที่สำคัญคือไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เชื่อมต่อในกระบวนการให้บริการ ทำให้สามารถเบิกใช้และตรวจสอบวงเงินสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น รับเงินเร็ว–สามารถเบิกใช้สินเชื่อได้ทันทีตามวงเงินที่ธนาคารแจ้งทางอีเมล, บริหารง่าย–ทยอยเบิกใช้วงเงินสินเชื่อได้ตามต้องการ โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง, ยืดหยุ่น–ชำระหนี้คืนธนาคารได้ทุกวัน ลดความกังวลกับภาระดอกเบี้ย, ตรวจสอบได้–สามารถตรวจสอบวงเงินสินเชื่อออนไลน์ได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับคู่ค้าที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ของซีพีเอฟ ซึ่งถือเป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการ “Faster Payment” ช่วยลดระยะเวลาเครดิตเทอม หรือการชำระเงินค่าสินค้าและบริการภายใน 30 วันให้แก่คู่ค้าผู้ประกอบการ SMEs ที่จัดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 และขยายระยะเวลาจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อบรรเทาผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากวิกฤตโควิด-19 อีกด้วย ให้มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี มีกำลังรักษากิจการและการจ้างงานไว้ได้ จนกระทั่งฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง

ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามจากทั้งภาคเอกชนและสถาบันการเงินที่เข้ามาช่วยเพิ่มช่องในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SMEs เพื่อให้กลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างยั่งยืน

สามารถดูรายละเอียดและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง https://www.cpfworldwide.com/th/media-center/list/cpfxbbl

* ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics)



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน