ตลาดทุเรียน ASEAN ยังฮิตในจีน ดันยอดนำเข้าโตทะลุ 820,000 ตัน
ความต้องการทุเรียนจาก ASEAN ในจีนยังคงอยู่ในปริมาณที่มากและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2021 ปริมาณนำเข้าขึ้นมาอยู่ที่ 821,600 ตัน เพิ่มจากปี 2020 ถึง 42.7%
ส่วนมูลค่านำเข้าไปไกลกว่านั้น ขึ้นมาอยู่ที่ 4,205 ล้านดอลลาร์ (ราว 146,000 บาท) เพิ่มขึ้นถึง 82.4% ตามกรอบเวลาเดียวกัน และยังทำให้ทุเรียนเป็นผลไม้ที่นำเข้ามาในจีนมากเป็นอันดับ 1 ของปี 2021 อีกด้วย
การเพิ่มขึ้นดังกล่าวทำให้บรรดาสวนทุเรียนในกลุ่มประเทศ ASEAN หันมาเน้นปลูกทุเรียนเพื่อส่งออก โดยปริมาณเพาะปลูกทุเรียนในไทยปี 2021 อยู่ที่ 1.29 ล้านตัน เพิ่ม 30% จากปี 2019 ส่วนที่มาเลเซียปีนี้รัฐบาลสั่งขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อชดเชยพืชผลที่ลดลงเนื่องจากฝนตกหนัก
ด้านลาวและเวียดนามปริมาณเพาะปลูกทุเรียนก็เพิ่มขึ้น โดยบางส่วนเป็นเงินลงทุนจากจีน เพื่อให้สามารถเร่งกระบวนเก็บเกี่ยวและให้ส่งตรงไปที่จีนได้เร็วที่สุด
สอดรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ตามแผนลดอุปสรรคในการนำเข้าและเร่งกระบวนการขนส่งของประเทศสมาชิกที่อยู่ในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ประกอบไปด้วย จีน ประเทศสมาชิก ASEAN 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่ว่ากันว่าเป็นกรอบความร่วมมือในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีที่ใหญ่สุดในโลกขณะนี้ คิดเป็น 30% ของ GDP โลก
ทุเรียน ASEAN ที่หลั่งไหลเข้าไปในจีนเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจเมืองสิบสองปันนา ในมณฑลยูนนาน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเติบโต เพราะเป็นพื้นที่แรกที่ทุเรียนเข้ามาในจีน จึงมีชาวจีนแห่กันซื้อทุเรียนที่นำเข้ามาใหม่ ๆ และราคายังถูกกว่าก่อนที่จะถูกส่งต่อเพื่อกระจายไปทั่วประเทศอีกด้วย
ส่วนทุเรียนปริมาณมหาศาลที่ถูกนำเข้ามาในจีน นอกจากกินแบบสดแล้วยังถูกนำไปต่อยอดเป็นเมนูแปลกใหม่มากมาย เช่น เค้กทุเรียน เครปทุเรียน พิซซ่าหน้าทุเรียน หรือแม้กระทั่งทุเรียนหม้อไฟ ซึ่งไม่ว่าจะแพงแค่ไหนก็ยังขายได้และขายดี
ทว่าการที่จีนเป็น ตลาดทุเรียน หลักของ ASEAN ก็ไม่ได้มีแต่ข้อดี โดย Nikkei สื่อญี่ปุ่นชื่อดังวิเคราะห์ว่า นี่ทำให้ทุเรียน ASEAN พึ่งพาจีนมากเกินไป และจะส่งผลเสียต่อพื้นที่ป่าในบางประเทศ เช่น มาเลเซีย เพราะต้องขยายพื้นที่ปลูกทุเรียน เพื่อให้สามารถส่งออกไปได้ตรงตามยอดสั่งซื้อ
และหากความสัมพันธ์เกิดร้าวฉานกับประเทศใดขึ้นมา จีนอาจสั่งงดนำเข้าทุเรียนเพื่อตอบโต้และกดดันเหมือนที่เคยสั่งงดนำเข้าสับปะรดจากไต้หวันและกล้วยจากฟิลิปปินส์มาแล้ว
ส่วนกรณีแย่ที่สุด หากจีนสามารถวิจัยและพัฒนาพันธุ์จนสามารถปลูกทุเรียนได้เองขึ้นมา เกษตรกรสวนทุเรียน ASEAN อาจขาดทุน เพราะไม่สามารถทำเงินจากการส่งออกทุเรียนไปจีนได้มากเหมือนเดิม
ซึ่งเรื่องนี้ก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจากจีนคือประเทศใหญ่ที่มีงบประมาณมหาศาลพร้อมนำไปใช้วิจัยพัฒนาวงการต่าง ๆ เพื่อป้อนให้ประชาชนในประเทศ และให้เงินหมุนเวียนอยู่แต่ในประเทศ/nikkei
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



