eCommerce ตลาดนี้ไม่ได้มีแค่ eMarketplace และ Social นะ
คุณว่าโลกของอีคอมเมิร์ซครึ่งปีหลังนี้เป็นอย่างไรในวันที่ อีคอมเมิร์ซเริ่มเข้าสู่โลกของ Next Normal
วันนี้ถ้าเราลองถามเล่น ๆ ว่า เรา CF ของผ่านช่องทางไหน
บางคนบอกว่าฉัน #ทีมอีมาร์เก็ตเพลส ซื้อแล้วมั่นใจของคืนเงินได้
บางคน#ทีมโซเชียลคอมเมิร์ซ ซื้อแบบนี้ดูไลฟ์เพลิน ๆ หรือเลือกฟีดเจอสินค้าที่ดูก็ดีนะ แล้วป้ายยา CF กลับมาแบบงงงง
บางคนบอกก็ทั้งคู่นั้นแหละ แล้วแต่สถานการณ์
เมื่อแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลส และโซเชียลคอมเมิร์ซ คือ No.1 ในใจนักช้อปจำนวนมาก เพราะความสะดวก ง่ายในการช้อป
ดูได้จากส่วนแบ่งตลาดยอดใช้จ่านผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลส และโซเชียลคอมเมิร์ซ เป็นสองแพลตฟอร์มที่ยอดการใช้จ่ายในสัดส่วน 32% และ 21%
เหมือนบวก ๆ กันสองช่องทางช้อปออนไลน์นี้จะมีสัดส่วนรวมกันมากกว่า 50% เกินครึ่งของช่องทางช้อปปิ้งออนไลน์ทั้งหมด
แต่ความจริงแล้วในโลกการช้อปออนไลน์เกือบ 50% ที่เหลือ ยังมีช่องทางอื่น ๆ อีกหลากหลายให้เข้ามาเลือกช้อปตามอัธยาศัย ไม่ว่าจะเป็น Food Delivery ที่แปลงร่างเป็น Super App, Large Brand Site ที่ใคร ๆ เรียกกันว่า Brand.com, Large Retailer Sites และ Small Online Shops
ทั้งหมดนี้คือโลกทั้งใบของอีคอมเมิร์ซ
แต่ถ้าถามว่า วันนี้อีคอมเมิร์ซเติบโตแค่ไหนเมื่อเทียบกับช่วงโควิด-19 ระบาดในช่วงแรก ๆ
คงต้องบอกว่า เติบโตน้อยลง
ในงาน GroupM Focal 2022 ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา CEO & Co-Founder บริษัท Priceza ให้ข้อมูลกับเราว่า
ในวันนี้ อีคอมเมิร์ซมีอัตราการเติบโตที่ลดลง
จากปี 2563 ที่ตลาดนี้มีการเติบโต 150%
ปี 2564 เติบโต 75%
ส่วนปีนี้คาดการณ์ว่าเติบโต 20%
แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้การเดินทางของถนนสายอีคอมเมิร์ซมุ่งสู่คำว่าแมส ได้เร็วขึ้นจากเดิมที่ใคร ๆ ก็เคยคาดการณ์ในช่วงก่อนโควิด-19 ไว้ว่าน่าจะต้องใช้เวลาถึง 5 ปี กว่าอีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นช่องทางการซื้อขายที่แมสเหมือนที่เราเห็นทุกวันนี้
แต่บนความเติบโตที่รวดเร็วที่อีคอมเมิร์ซเป็นช่องทางที่มาตอบโจทย์คำว่า Social Distance ผู้บริโภคสามารถหาซื้อสินค้าได้ 24 X 7 หรือสามารถซื้อได้ทุกเมื่อ 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดใน 7 วัน
เมื่อโลก eCommerce ในวันนี้แตกแตกต่างจากโลกเมื่อปี 2563 ด้วยอัตราการเติบโตที่ลดลง ผู้บริโภคออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน จับจ่ายในโลกออฟไลน์มากกว่าที่ผ่านมา ด้วยข้อจำกัด Social Distance ที่แทบไม่เหลือให้เห็น
จนหลายแบรนด์เริ่มประสบกับความท้าทายในเรื่องยอดขายที่ลดลง จากเดิมที่ช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ธนาวัฒน์บอกว่าแบรนด์สามารถขายสินค้าได้สูง แม้จะปล่อยให้ยอดขายเติบโตแบบออร์แกนิค หรือแบบธรรมชาติโดยไม่ต้องทำอะไรมากนัก
ทำให้ปีนี้หลายแบรนด์เริ่มมีการวางแผนการตลาด ทำมีเดียแพลน เพื่อกู้ยอดขายให้กลับมาสูงเท่ากับช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด
อย่างที่เราบอกไปตั้งแต่แรกว่าแม้อีคอมเมิร์ซจะเติบโตลดลง แต่ก็ยังเติบโตจากความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าที่สามารถซื้อเมื่อไรก็ได้ตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องเดินทาง หรือมีข้อจำกัดด้านเวลา (ถ้าเงินในกระเป๋าเรายังมี)
และการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในปีนี้มาพร้อมกับความต้องการของผู้บริโภคที่น่าสนใจ 2 ประการ ประกอบด้วย
1. ผู้บริโภคไม่ได้ช้อปปิ้งที่แพลตฟอร์มไหนเป็นพิเศษ แต่จะช้อปในช่องทางที่มีสะดวกสบาย หรืออยู่ในอารมณ์ที่พวกเขาผ่อนคลาย
เช่น ถ้าพวกเขารู้สึกมีอารมณ์อยากจะผ่อนคลายอาจจะเข้าไปดูพ่อค้าแม่ค้าไลฟ์ขายสินค้า โดยไม่ได้ตั้งใจไปซื้อสินค้า และเมื่อดูไลฟ์นานเกิดอารมณ์ร่วมและป้ายยาตัวเอง CF สินค้ากลับไปทั้ง ๆ ที่ไม่มีความต้องการมาก่อน
2. Quick Commerce ที่ขยายขอบเขตการให้บริการไปยังสินค้าอื่น ๆ ที่มากกว่าฟู้ดเดลิเวอรี่ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าทันที และไม่จำกัดเวลา อย่างเช่น เมาส์คอมพิวเตอร์ที่ใช้เสียกะทันหันระหว่างเล่นเกม ผู้บริโภคมีความต้องการที่จะได้เมาส์ตัวใหม่ทันที โดยไม่ต้องรอเป็นวัน ๆ ทำให้บริษัทขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มัลติแบรนด์มีบริการส่งสินค้าภายใน 3 ชั่วโมง ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ดี ความท้าทายของแบรนด์กับผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คือผู้บริโภคยังมองการซื้อสินค้า ไม่ได้คิดว่าช่องทางการขายของแบรนด์ คือแบรนด์ในอีมาร์เก็ตเพลส แบรนด์ในโซเชียลคอมเมิร์ซ แบรนด์ดอตคอม หรือออฟไลน์ แต่มองแบรนด์คือแบรนด์ แม้จะซื้อผ่านช่องทางไหนก็ตาม และพวกเขาต้องการประสบการณ์การซื้อสินค้าในแต่ละช่องทางได้เป็นหนึ่งเดียว รวมถึงการบริหารหลังการขายและการคืนสินค้า
ซึ่งการที่แบรนด์สามารถรู้จักผู้บริโภคว่าผู้บริโภคที่ดูสินค้าในช่องทางออฟไลน์ และไปซื้อผ่านออนไลน์ เป็นคนคนเดียวกัน รวมถึงบริการหลังการขาย อาจจะเป็นงานยากลำบากสำหรับแบรนด์ในการเชื่อมโยงระบบหลังบ้าน
แต่ถ้าทำได้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สร้างความประทับใจ และความแตกต่างจากคู่แข่งได้เป็นอย่างดี
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



