ในช่วงวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา Gazprom บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซียอ้างว่าพวกเขาค้นพบการรั่วไหลของน้ำมันในการขนส่งน้ำมันผ่านท่อ Nord Stream 1 ที่เชื่อมตรงไปยังเยอรมนีทำให้สถานการณ์เรื่องพลังงานในภาคพื้นยุโรปกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่ามีทฤษฎีสมคบคิดได้ว่ารัสเซียกำลังเล่นเกมการเมืองระหว่างภูมิภาคกับยุโรปเข้าให้แล้ว เนื่องจากยุโรปเองก็กำลังใกล้ที่จะเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว

 

 

ดูเหมือนว่าราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นจะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อค่าครองชีพขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวยุโรป และจะยิ่งส่งผลกระทบหนักขึ้นไปอีกเมื่อสัญญาซื้อขายพลังงานฉบับล่าสุดกำลังจะหมดอายุลงและยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่บอบช้ำอยู่แล้วให้ยิ่งแย่ลงไปอีก

ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ภาพความไม่สงบทางการเมืองและการทะเลาะวิวาทในหมู่ประเทศสมาชิกยุโรปกำลังค่อย ๆ ปรากฏภาพชัดขึ้นเรื่อย ๆ

และดูเหมือนว่าจนถึงตอนนี้ปฏิกิริยาของของคณะกรรมาธิการยุโรปดูยังไม่มีมูฟเมนต์ใด ๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเรื่องราคาพลังงานมากพอ โดยแนวทางการแก้ปัญหาล่าสุดคือการกำหนดราคาก๊าซที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะหารือในที่ประชุมสุดยอดรัฐมนตรีในวันที่ 9 กันยายนที่จะถึงนี้ คณะกรรมาธิการอาจพยายามยกเครื่องตลาดพลังงานเพื่อให้ราคาสปอตไม่ถูกกำหนดโดยต้นทุนส่วนเพิ่มของผู้ผลิตซึ่งมักจะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

การกำหนดเพดานราคาสูงสุดในการซื้อขายพลังงานดูจะเป็นทางออกที่ส่งผลดีต่อประชาชน แต่อาจส่งผลร้ายต่อการผลิตของบริษัทเอกชนได้ เพราะผลิตไปก็อาจจะไม่คุ้มทุน นั่นก็เป็นเพราะว่าการกำหนดเพดานราคาจะไม่ทำให้ความต้องการใช้พลังงานลดลงแต่อย่างใด

ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า การกำหนดเพดานราคาพลังงานในสเปนส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นและบริษัทผลิตไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงต้องผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 42% นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน

แล้วยุโรปต้องแก้ปัญหานี้อย่างไร

จากความเห็นของนักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าแทนที่จะไปกำหนดเพดานราคาซื้อขายพลังงาน รัฐบาลในหลายประเทศควรเน้นที่เรื่องใหญ่  ๆ 2 เรื่อง เรื่องแรก ได้แก่ การปล่อยให้ราคาซื้อขายพลังงานเป็นไปตามกลไกตลาด ในขณะเดียวกันก็ยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีสถานะทางการเงินอ่อนแอที่สุด เพื่อให้ยังสามารถดำเนินกิจการผลิตไฟฟ้าต่อไปได้

จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ชี้ให้เห็นว่านโยบายคืนเงิน (Cash Back) และการโอนเงินสดไปช่วยเหลือคนยากจนโดยตรงจะใช้เงินน้อยกว่าการใช้นโยบายที่หลากหลายมาบูรณาการร่วมกันอย่างเช่นปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ที่รัฐบาลทำอยู่จะเป็นการลดภาษีน้ำมัน หรือไม่ก็กำหนดราคาขายปลีกไม่ให้เกินเพดานที่รัฐบาลกำหนด

เรื่องที่ 2 รัฐบาลของชาติในยุโรปควรหันมาเพิ่มอุปทาน ซึ่งต้องไม่ใช่การอ้อนวอนขอให้ Vladimir Putin ปล่อยก๊าซธรรมชาติและน้ำมันมาให้อย่างแน่นอน ซึ่งจะว่าไปยุโรปก็พอจะหาแหล่งก๊าซธรรมชาติอื่น ๆ นอกเหนือจากรัสเซียได้ ไม่ว่าจะเป็นในทวีปแอฟริกา หรือตะวันออกกลาง นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมประธานาธิบดีของฝรั่งเศส Emmanuel Macron จึงออกเดินทางไปเยือนแอลจีเรีย

นอกจากนี้ ชาติต่าง ๆ ในยุโรปสามารถจะช่วยกันบรรเทาปัญหาการขาดแคลนพลังงานนี้ได้ ด้วยการเชื่อมต่อโครงข่ายก๊าซธรรมชาติข้ามพรมแดน ซึ่งจะว่าไปแล้วทุกวันนี้ในยุโรปยังมีการการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานที่ยังไม่เพียงพอ จึงทำให้เกิดความแตกต่างในด้านมาตรฐานของการขนส่งพลังงานผ่านท่อจากสเปนและฝรั่งเศสไปยังเยอรมนี และยุโรปตะวันออก

ถ้าสวีเดนก้าวพลาด เดิมพันครั้งใหญ่อาจเป็นการพังทลายของเศรษฐกิจของประเทศ

ในขณะที่สวีเดนจำเป็นจะต้องอัดฉีดสภาพคล่องฉุกเฉินเป็นจำนวนกว่า 6,000 ล้านโครนาสวีเดน หรือประมาณ 661 ล้านดอลลาร์ ให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหาที่ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าในสวีเดนหลายรายถูกเรียกหลักประกันเพิ่ม หรือที่นักลงทุนรู้จักกันดีในชื่อ Margin Call ซึ่งมาจากราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเช่นก๊าซธรรมชาติ มีราคาสูงขึ้น

Magdalena Andersson นายกรัฐมนตรีของสวีเดนเตือนว่าการตัดสินใจของรัสเซียในการหยุดส่งก๊าซมายังยุโรปอาจทำให้ระบบการเงินของสวีเดนตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียดที่รุนแรง และรัฐบาลอาจต้องใช้วงเงินหลายแสนล้านโครเนอร์เพื่อชดเชยให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าที่ต้องนำเอาหลักประกันในส่วนของบริษัทเพื่อไปแลกเปลี่ยนกับพลังงานในการผลิตไฟฟ้าเพื่อสร้างเสถียรภาพทางพลังงานให้กับประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลอาจจะให้การช่วยเหลือประชาชนโดยให้เงินสนับสนุนค่าไฟฟ้าต่อครัวเรือน ซึ่งอาจจะต้องให้เงินสนับสนุนมากถึง 6,000 โครนาสวีเดน (553 ดอลลาร์ต่อครัวเรือน) และมีมากถึง 1.8 ล้านครัวเรือนที่รอรับการช่วยเหลือ และแต่ละครัวเรือนใช้ไฟฟ้าสูงถึง 2,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเป็นผลมาจากภัยหนาวที่กำลังจะมาถึงทำให้ประชาชนจำเป็นจะต้องเปิดมิเตอร์เพื่อให้ความอบอุ่น

โดยนาง Andersson เตือนว่า ความต้องการหลักประกัน (Margin Call) ที่เพิ่มขึ้นของบรรดาผู้ผลิตไฟฟ้าอาจส่งผลกระทบแบบโดมิโนต่อตลาด Nasdaq Clearing House* ในสตอกโฮล์ม ซึ่งถ้าในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตทางการเงินได้

โดยหลังจากที่เมื่อวันศุกร์ที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา รัสเซียแถลงว่าจะไม่จ่ายก๊าซผ่านท่อส่ง NordStream 1 อีกต่อไปจนกว่าจะซ่อมท่อแล้วเสร็จซึ่งก็ยังไม่มีกำหนดการที่แน่นอน และการประกาศดังกล่าวก็มีขึ้นภายหลังจากตลาดสัญญาซื้อขายพลังงานล่วงหน้าปิดทำการในช่วงสุดสัปดาห์ แน่นอนว่าหากตลาดเปิดทำการอีกครั้งในช่วงวันจันทร์จะต้องเกิดความโกลาหลขึ้นอย่างแน่นอน

นายกรัฐมนตรีของสวีเดนพร้อมด้วยผู้กำกับดูแลด้านการเงินของสวีเดน ผู้ว่าการธนาคารกลาง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวฉุกเฉินเมื่อวันเสาร์ที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา  โดยมีใจความสำคัญว่า

“การประกาศ (ของรัสเซีย) เมื่อวานนี้ไม่เพียงแต่จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ ‘วิกฤตพลังงานในช่วงฤดูหนาว’ แต่ยังเป็นการคุกคามความมั่นคงทางการเงินของเราด้วย”

มาตรการที่สวีเดนงัดออกมาใช้นี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความร้ายแรงของสถานการณ์ที่ยุโรปกำลังเผชิญอยู่ ในขณะที่สหภาพยุโรปเองก็พยายามดิ้นรนเพื่อให้มีพลังงานเพียงพอก่อนจะเข้าสู่ฤดูหนาว และทางภาครัฐก็พยายามหาทางช่วยผู้ผลิตไฟฟ้าอย่างสุดความสามารถเช่นกันเพื่อไม่ให้พวกเขาต้องตกอยู่ในความเสี่ยงที่ธุรกิจอาจต้องล้มละลาย

Erik Thedéen หัวหน้าหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการเงินของสวีเดนกล่าวว่า ราคาไฟฟ้าในสวีเดนเพิ่มขึ้น 11 เท่าในปีที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่ความต้องการหลักประกันที่พุ่งสูงขึ้น และถ้าหากรัฐบาลไม่ช่วยเหลือทางด้านสภาพคล่องแก่ผู้ผลิตไฟฟ้า บรรดาผู้ผลิตไฟฟ้าหลายรายก็อาจต้องล้มละลายและนั่นหมายถึงการสูญเสียครั้งใหญ่ที่อาจสะเทือนไปถึงเศรษฐกิจของประเทศได้เลย

ในขณะเดียวกัน ในช่วงเดือนกรกฎาคมรัฐบาลเยอรมนีตกลงมอบเงินช่วยเหลือมูลค่า 15,000 ล้านยูโรให้กับ Uniper ซึ่งเป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของยุโรปจากรัสเซีย โดยรัฐบาลจะเข้าถือหุ้นในจำนวน 30% ของบริษัท โดยก่อนหน้านี้ืทาง Uniper ก็ต้องสูญเสียเงินหลายสิบล้านยูโรต่อวันนับตั้งแต่ Gazprom ลดปริมาณการจ่ายก๊าซไปยังเยอรมนีผ่าน NordStream เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาปลายเดือนที่แล้ว Uniper ได้ขอให้รัฐบาลอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมอีก 4 พันล้านยูโร เนื่องจากราคาก๊าซที่พุ่งทะยานได้ทำให้เงินสดสำรองของบริษัทหายไปหลายล้านยูโร

Uniper บริษัทพลังงานสัญชาติเยอรมันที่ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท Fortum รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานจากฟินแลนด์แถลงว่า พวกเขาได้ขอเบิกวงเงินสินเชื่อฉุกเฉินกว่า 9 พันล้านยูโรจากธนาคารเพื่อการพัฒนาของรัฐเพื่อพยุงสถานการณ์ของบริษัทไปแล้ว

ทั้งนี้ Fortum เองก็ได้ออกมาบอกว่า สำนักหักบัญชีได้เรียกหลักประกันเพิ่มขึ้นจาก 1 พันล้านยูโรเป็น 5 พันล้านยูโรในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ และการผิดนัดชำระหนี้ของบรรดาผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบไฟฟ้านอร์ดิก (ระบบการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่มีแหล่งพลังงานจาก น้ำ, นิวเคลียร์ และลม ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าหล่อเลี้ยงกลุ่มประเทศนอร์ดิก ได้แก่ เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, ไอซ์แลนด์, นอร์เวย์ และ สวีเดน)”

ต้องจับตาดูต่อไปว่าด้วยสถานการณ์ที่ตึงเครียดในขณะนี้จะนำไปสู่หนทางในการแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อย่างไร ซึ่งการที่รัสเซียออกแอกชั่นในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับนักวิเคราะห์แต่อย่างใด เพราะก่อนหน้านี้สหภาพยุโรปก็ได้ออกสารพัดคำขู่ว่าจะไม่ซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย และเมื่อรัสเซียเริ่มเอาจริงโดยไม่สนใจคำขู่ของสหภาพยุโรปดูเหมือนคนที่ตกอยู่ในสถานะยากลำบากกลับกลายเป็นยุโรปเสียเองที่เอาความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นเดิมพัน

หมายเหตุ * “Clearing-House” หมายถึงหน่วยงานทางการเงินที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเช็ค การนำเช็คไปขึ้นเงินสด และรวมไปถึงใบสำคัญทางการเงินระหว่างประเทศในรูปแบบอื่น ๆ ในปัจจุบันคำนี้ยังมีความหมายเพิ่มเติมถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางระหว่างผู้รับและผู้ส่งสินค้า บริการ และข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่อย่างเป็นรูปธรรม

 

 

อ้างอิง

www.ft.com

www.bloomberg.com

apnews.com

guardian.ng



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน