ท่ามกลางข่าวสารมากมายในแวดวงธุรกิจสหรัฐฯ ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เทรนด์อย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือการให้ชาวอินเดียโดยเฉพาะที่อยู่ในสหรัฐฯ มานานจนเข้าใจสภาพสังคม วัฒนธรรมและโลกการทำงานใน “เมืองลุงแซม” มาเป็น CEO
เทรนด์ดังกล่าวขยายจากบริษัทกลุ่มเทคโนโลยี อย่าง Microsoft Google และ Twitter ที่มี Satya Nadella, Sundar Pichai และ Parag Agrawal กุมบังเหียน ไปสู่บริษัทธุรกิจอื่น เช่น Logistics อย่าง FedEx ที่เพิ่งดัน Raj Subramaniam ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งฝ่ายบริหารเมื่อต้นปี
Raj Subramaniam
ล่าสุดเทรนด์เดียวกันนี้ข้ามมาถึงธุรกิจเชนร้านกาแฟแล้ว โดย Starbucks เผยว่าได้คว้าตัว Laxman Narasimhan มาเป็น CEO คนใหม่ ซึ่งเริ่มเข้ามาทำงาน 1 ตุลาคมนี้ พร้อมกับปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรและเรียนรู้งานจาก Howard Schultz ผู้ก่อตั้งซึ่งกลับมารักษาการในตำแหน่ง CEO พักใหญ่
สำหรับ Laxman Narasimhan เกิดเมื่อ 15 เมษายน 1967 โดยหลังมาศึกษาต่อในสหรัฐฯ ก็มาลงหลักปักฐานเพื่อทำงานในประเทศนี้หลายปี และเคยขึ้นเป็นประธานฝ่ายการค้าของ Pepsi จากนั้นในปี 2019 ก็ย้ายไปเป็น CEO ของ Reckitt Benckiser
Laxman Narasimhan
พร้อมข้อมูลที่น่าสนใจว่า ระหว่างอยู่กับ Pepsi เขาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ Indra Nooyi – CEO หญิงเก่งชาวอินเดีย และพอย้ายไป Reckitt Benckiser เขาก็ไปรับงานต่อจาก Rakesh Kapoor ซึ่งก็เป็นเพื่อนร่วมชาติอีกเช่นกัน
ระหว่างนั่งเก้าอี้ CEO ของ Reckitt Benckiser บริษัทแม่ของแบรนด์น้ำยาฆ่าเชื้อ Dettol และถุงยางอนามัย Durex นั้น Laxman Narasimhan คือยุคขาขึ้นของบริษัทจากสินค้าใช้ในการรักษาสุขอนามัย ซึ่งขายดีอย่างมากจนขาดตลาด
ทว่าเขาก็ถูกวิจารณ์ว่าหันหลังให้บริษัทช่วงที่ยอดขายกำลังตกช่วงสินค้าราคาแพงเพราะปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยผู้ที่ขึ้นมารักษาการแทนเขาไปจนกว่าจะได้ตัว CEO คนใหม่คือ Nicandro Durante หนึ่งในสมาชิกบอร์ดบริหาร
สื่อในสหรัฐฯ วิเคราะห์ว่าประสบการณ์ที่หลากหลายและความเข้าใจผู้บริโภคของ Laxman Narasimhan ผ่านการทำงานกับทั้ง Pepsi และ Reckitt Benckiser น่าจะเป็นประโยชน์ต่อ Starbucks ในปัจจุบัน ที่เผชิญความท้าทายมากทั้งการดื่มกาแฟที่หลากหลายขึ้น การสู้กับเชนร้านกาแฟเจ้าถิ่นในจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของบริษัท
และการตั้งสหภาพของพนักงาน รวมไปถึงยอดขายที่ลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจและการถอนตัวจากรัสเซียเพราะผลกระทบของสงคราม
Leena Nair
การไว้ใจให้ชาวอินเดียเป็น CEO ไม่ได้อยู่แต่ในสหรัฐฯ เท่านั้นและผู้บริหารผู้ชายเท่านั้น โดย Chanel แบรนด์แฟชั่นหรูสัญชาติฝรั่งเศสมี Leena Nair เป็น CEO ขณะที่ OnlyFans แพลตฟอร์มวิดีโอในอังกฤษที่ดังมาจากคอนเทนต์แนว 18+ ซึ่งยังคงทำเงินได้ก้อนใหญ่ ก็มี Amrapali Gan หญิงเก่งรุ่นใหม่ชาวอินเดียเป็น CEO
Amrapali Gan
อย่างไรก็ตาม เทรนด์การคว้าตัวชาวอินเดียเป็นผู้บริหารก็มองได้สองด้าน ด้านหนึ่งคือความรู้ความเข้าใจและฝีมือการบริหารชั้นยอดจนบริษัทดัง ๆ ของชาติตะวันตกไว้วางใจ แต่ด้านหนึ่งก็เป็นการยืนยันว่าเศรษฐกิจและบริษัทอินเดียยังไม่พัฒนาก้าวหน้าพอที่จะรั้งคนเก่ง ๆ ไว้ได้
นี่ทำให้ปัญหาสมองไหลยังเป็นเรื่องที่แก้ไม่ตกของอินเดีย ซึ่งถือว่าน่าเสียดายมาก เพราะอินเดียกำลังจะแซงจีนขึ้นเป็นประเทศประชากรมากสุดในโลก/cnn, cnbc, wikipedia, theguardian
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ