เก็บตกงาน DAAT DAY 2022 บนเวที Creative Stage ที่ผ่านมา มีหนึ่งหัวข้อที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก คือ “Idea that creates Engagement of Community” โดยมีผู้พูดเป็น คุณณัฏฐ์ กลิ่นมาลี หรือฟาโรส เจ้าของช่อง FAROSE & FAROSE Podcast Channel กับรายการ “ไกลบ้าน” และ “People you may know” ยูทูบเบอร์ที่โด่งดังในหมู่คนรุ่นใหม่มากที่สุดในขณะนี้

 

เริ่มกันที่จุดเริ่มต้นของช่อง

FAROSE & FAROSE Podcast Channel เป็นช่องยูทูบสายประวัติศาสตร์ ที่มีคอนเทนต์บอกเล่าความเป็นมาของทั้งตัวบุคคลและสถานที่ รายการแรกในช่องยูทูบของฟาโรสคือรายการท่องเที่ยวต่างประเทศชื่อ “ไกลบ้าน”

โดยรายการมีเนื้อหาหลัก พาผู้ชมไปเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และจะสอดแทรกเล่าประวัติ ณ ที่แห่งนั้นจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก็คือเพื่อนของคุณฟาโรสเจ้าของช่อง

หลังจากที่รายการแรกประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง จึงเกิดการต่อยอดสู่อีกรายการ ในชื่อ  “People you may know” อันเป็นคอนเทนต์เกี่ยวกับอัตชีวประวัติของบุคคลทางประวัติศาสตร์  ในรายการคุณฟาโรสและแขกรับเชิญจะเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจของบุคคลภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง  และด้วยความถูกต้อง แน่นหนาของข้อมูล ทำให้รายการได้รับความสนใจและให้การยอมรับ

ทำให้ในปัจจุบันช่อง FAROSE มีผู้กดติดตามอยู่ที่ 4.46 แสนคน คลิปที่มียอดรับชมสูงสุดอยู่ที่ 1.3 ล้าน views ขณะที่ช่อง FAROSE Podcast Channel ซึ่งเปิดมาได้ไม่นาน มีจำนวนผู้ติดตาม 1.27 แสนคน คลิปยอดรับชมสูงสุด คือประวัติเอลิซาเบธที่ 1 มีจำนวน views อยู่ที่ 4.5 แสน

 

เริ่มต้นจากความชอบ จะทำได้ดี และมีความสุข

คุณฟาโรสกล่าวว่า จุดเริ่มต้นการทำช่องยูทูบมาจากการท่องเที่ยวต่างประเทศกับเพื่อนฝูง และเมื่อเจอสถานที่ทางประวัติศาสตร์ก็จะพูดคุยถึงประวัติความเป็นมาอย่างเพลิดเพลิน สนุกสนาน

ในตอนนั้นเองได้เกิดไอเดียขึ้น เพราะเล็งเห็นว่าทั้งตนเองและเพื่อนมีความรู้ทางประวัติศาสตร์ ความหลงใหล ยิ่งไปกว่านั้นคือทุกคนมีคาแรกเตอร์ที่น่าสนใจ จึงคิดอยากสร้างพื้นที่ถ่ายทอดสาระความรู้ และเกิดเป็นช่องยูทูบของฟาโรสขึ้นมา

ซึ่งตัวรายการก็มีความเรียบง่าย อัดคลิปถ่ายตอนเที่ยวชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์กับเพื่อน และนำมาตัดต่อคลิปด้วยตัวเอง แม้จะดูไม่ได้หวือหวา แต่กลับมีสาระความรู้อัดแน่น และมีมุกตลกแทรกปนมาบ้าง แต่ก็เป็นมุกที่คนพูดภาษาเดียวกันเท่านั้นจะเข้าใจ

ต่อยอดสู่การสร้างคอมมูนิตี้

หลังจากที่มีผู้ติดตามหรือลูกค้าขาประจำจำนวนหนึ่ง ขั้นตอนต่อมาคือการสร้างคอมมูนิตี้กับคนที่พูดภาษาเดียวกันให้ได้เข้ามารวมกลุ่มกัน เพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้คนเหล่านี้ได้แสดงออก หรือแชร์ข้อมูลความรู้ที่สนใจเหมือน ๆ กัน ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างให้ช่อง เกิดแบรนด์ Loyalty

ขณะที่คอนเทนต์ที่ไม่ก่อให้เกิดคอมมูนิตี้ก็ไม่สามารถชี้ได้ว่า คอนเทนต์นั้นดี หรือไม่ดี มีแค่เพียงว่า ได้วางพื้นที่สำหรับกลุ่มคนที่เข้าใจข้อมูลชุดเดียวกันหรือเปล่า

คอนเทนต์ที่จะได้ Engagement ดี คือคอนเทนต์ที่ Relate กับคนดู

เป็นธรรมดาที่มนุษย์จะให้ความสนใจกับสิ่งใกล้ตัว หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตนเองก่อนสิ่งอื่นใดอยู่แล้ว ดังนั้น ในการสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาอย่างหนึ่ง หากอยากได้ยอดเอนเกจเมนต์ที่สูง จำเป็นต้องวิเคราะห์หา Topic ที่เกี่ยวพันกับสังคมของกลุ่ม Target ของตนเอง  รวมถึงดูเวลา สถานการณ์ประกอบไปด้วย

ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของรายการ People You May Know คอนเทนต์เรื่อง “จิตร ภูมิศักดิ์” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ในช่วงแรกที่อัปโหลดวิดิโอ ถือได้ว่าเป็นคลิปที่มียอดเอนเกจน้อยที่สุดของช่อง

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เกิดประเด็นการเมืองต่าง ๆ ที่ทำให้คนในสังคมเริ่มหันมาให้ความสนใจกับเรื่องราวทางการเมืองมากขึ้น ทำให้ตอนของจิตร ภูมิศักดิ์ มีการรับชมเลื่อนขึ้นมาอยู่ใน Top5 ของช่อง สะท้อนให้เห็นว่าคอนเทนต์ที่ดีต้องอาศัยจังหวะเวลาที่ดีด้วย

ต้องทำให้คนดูรู้สึก ฉลาดกว่าเรา เหนือกว่าเรา

นอกจากจะสร้าง Topic ให้ Relate กับคนดูแล้วนั้น สิ่งสำคัญในมุมมองของคุณฟาโรสคือ ต้องระมัดระวังต่อ Feeling ของกลุ่มผู้บริโภค เพราะการเสพคอนเทนต์ใช้อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวทั้งนั้น

โดยได้ยกตัวอย่างรายการร้องเพลงที่โด่งดังอยู่ ณ ขณะนี้  มาเป็นเคสแสดงให้เห็นว่า การที่เราผลิตรายการที่ทำให้คนดูรู้สึกฉลาดกว่า หากเป็นงานเขียนก็เปรียบได้กับการเล่าแบบมุมมองของพระเจ้า ซึ่งหมายความว่าผู้อ่านจะรู้ความเป็นไปเป็นมาทั้งหมด ขณะที่ตัวละครไม่รู้

ซึ่งการทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกเหนือกว่าจะทำให้มีส่วนร่วมกับงานของเราได้ดีกว่า ดังเช่นในรายการร้องเพลง ที่ผู้ชมจะทราบว่าข้างหลังกำแพงคือใคร โดยที่นักร้องผู้อยู่อีกฝั่งยังไม่ทราบ ผู้ชมจะรู้สึกลุ้นและเอาใจช่วย ด้วยความรู้สึกที่ว่าตนเหนือกว่า

ฉะนั้นแล้วควรสร้างพื้นที่ให้ผู้ชมได้ตอบกลับ มีช่องว่างให้ผู้บริโภครู้สึกเป็น A part of รายการ บางครั้งไม่จำเป็นต้องทำให้เพอร์เฟกต์ โชว์ความรู้เป็นแผง อัดแน่นตลอดขนาดนั้นก็ได้ เพราะอาจทำให้ผู้ชมรู้สึกด้อยกว่า

การเหลือพื้นที่ให้ผู้ชมได้แสดงความคิดเห็น หรือมุมมองบางอย่างของเขา ให้ช่องว่างผู้บริโภคได้รู้สึกเป็น A part of รายการ จะทำให้เกิด Brand Loyalty หรือลูกค้าขาประจำของช่องเราได้ดีกว่า

 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน