Tupperware พลาสติกเหลือใช้ สู่กล่องอเนกประสงค์คู่ครัวทั่วโลก

กวาดตามองเข้าไปในครัว นอกจากจานชามช้อนส้อมและเครื่องปรุงที่ทุกบ้านมีเหมือนกันแล้ว อีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือ กล่องพลาสติกหลายขนาดพร้อมฝาปิด ที่เรียกแบบ Generic name กันว่า Tupperware

แล้วสงสัยกันไหมว่าTupperware ใครเป็นคนคิดค้นและทำไมถึงได้ดังขจรขจายไปทั่วโลกจนกลายเป็นชื่อเรียกที่ใช้กันทั่วไปของแบรนด์อื่น ๆ ของสินค้าแบบเดียวกันทั้งหมดในตลาด

อ่านคำตอบของข้อสงสัยจากย่อหน้าด้านบน ได้จากบรรทัดต่อไปนี้  

ย้อนกลับไปในสหรัฐฯ ช่วงทศวรรษ 1930 ซึ่งสหรัฐฯ และทั่วโลกกำลังเผชิญเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ Earl Tupper ไม่ใช่แค่ต้องพยายามหาเลี้ยงชีพเหมือนเพื่อนร่วมชาติ แต่ต้องหาทางลุกขึ้นใหม่ให้ได้เพราะบริษัทที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งเพิ่งล้มละลายไป

Earl Tupper

เขาเริ่มต้นใหม่ด้วยการไปสมัครเป็นพนักงานของ DuPont บริษัทใหญ่ด้านเคมีของสหรัฐฯ หลังกลับบ้านทุกวันเขามานั่งคิดว่าจะนำเศษพลาสติกเหลือใช้ที่หัวหน้าให้มาไปต่อยอดอะไร โดยเขาลองนำเศษพลาสติกไปหลอมและขึ้นรูปเป็นกล่องน้ำหนักเบาพร้อมฝาปิด

เมื่อเห็นว่ากล่องพลาสติกเหล่านี้น่าจะขายได้ Earl Tupper ก็ออกลาจาก DuPont และตั้งบริษัทขึ้นเมื่อปี 1946 ในชื่อTupperware ซึ่งมาจากนามสกุลตัวเอง ที่ได้ตรง ๆ ว่า ภาชนะ (Ware) ของ Tupper นั่นเอง

Tupperwareช่วงตั้งไข่ถือว่าแค่พอไปได้เท่านั้นจนกระทั่งได้ Brownie Wise ฝ่ายขายสาวแกร่งที่ยังเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวจาก Stanley Home ด้วยมาเป็นหนึ่งในทีมฝ่ายขายคนใหม่ โดยเธอนำกลยุทธ์จัดงานเลี้ยง (Party Plan) พร้อมนำผลิตภัณฑ์ของTupperwareไปโปรโมตและขายไปด้วย

กลยุทธ์ดังกล่าวประสบความสำเร็จมาก ทั้งในเรื่องยอดขายและยังสร้างงานสร้างเงินให้แม่บ้านทั่วโลก จนทำให้ Brownie Wise ขึ้นมาเป็นผู้บริหารคนสำคัญอีกคน ซึ่งมีอำนาจรองจาก Earl Tupper ลงมา ซึ่งจุดนี้เองทำให้ทั้งคู่แตกกัน และฝ่าย Earl Tupper บีบให้ต้องลาออก Brownie Wise

อย่างไรก็ตาม จากนั้นTupperwareใช้ชื่อเสียงที่มีไปต่อได้แต่ก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ จนในปี 1958 Earl Tupper ขายบริษัทให้เชนร้านยา Rexall ผ่านดีล 16 ล้านดอลลาร์ (ราว 600 ล้านบาทตามค่าเงินปัจจุบัน) ถือเป็นการตัดขาดจากบริษัทที่เขาสร้างขึ้นมาเองกับมือ เพื่อย้ายไปอยู่คอสตาริกา

ท่ามกลางการรายงานว่าอาจเกิดจากการไม่มีกะจิตกะใจทำงานจากการหย่ากับภรรยา หรือมีความเป็นไปได้ว่าหวังเลี่ยงภาษีในสหรัฐฯ และต่อมาเสียชีวิตลงเมื่อ 5 ตุลาคม 1983 ด้วยวัย 76 ปี

Brownie Wise

ส่วน Brownie Wise หลังต้องออกจากTupperwareแบบเจ็บปวดก็ไปเปิดบริษัทเครื่องสำอางและนำกลยุทธ์ Party Plan มาใช้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเคย และต่อมาในปี 1992 เสียชีวิตด้วยวัย 79 ปี 

ถัดจากนั้นTupperwareก็มีช่วงขึ้น-ลงไม่ต่างจากบริษัททั่วไป โดยปี 1996 ถือเป็นจุดสูงสุดของบริษัทด้วยการมีเจ้ากล่องอเนกประสงค์จำหน่ายอยู่ใน 100 กว่าประเทศทั่วโลก

ข้ามมาปี 2005 เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นTupperware Brands Corporation และปี 2020 ได้ Miguel Fernandez จาก Avon มาเป็น CEO คนใหม่ และล่าสุดเขาเพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย ด้วยการมีขายอยู่ทั้งในห้างค้าปลีก Target กับแพลตฟอร์มของ Amazon

Miguel Fernandez

เรื่องราวของ Tupperware ถือเป็นบทเรียนธุรกิจเล่มใหญ่จากการนำของเหลือใช้มาต่อยอด และแผนการตลาดอันแยบยล

ขณะเดียวกันก็ยังสามารถมาทำเป็นซีรีส์หรือภาพยนตร์ที่ตัวเอกฝ่าฟันมรสุมชีวิตจนประสบความสำเร็จ ได้พนักงานเปี่ยมความสามารถ แต่ที่สุดก็ต้องมาแตกหักกันเพราะลูกน้องดันเก่งขึ้นมาจนเจ้านายมองว่าท้าทายอำนาจ

อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญที่สุดในเรื่องราวของTupperwareคือการเป็นบริษัทที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคจนปัจจุบันบริษัทมีอายุ 76 ปี และแน่นอนทำให้Tupperwareเป็นกล่องอเนกประสงค์คู่ใจคุณแม่บ้านทั่วโลก/onthisday, wikipedia, bbc, tupperware

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online