กิมจิ โสม และชุดฮันบก คือ 3 อย่างหลักๆ ที่สื่อถึงความเป็นเกาหลีใต้ในความคิดของคนทั่วโลกในอดีต แต่ปัจจุบันเมื่อผงาดขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เทคโนโลยี เพลง K-pop หนังกับซีรีย์ คือสิ่งใหม่ที่เพิ่มเข้ามาและสร้างชื่อให้เกาหลีใต้

ตีกรอบให้แคบลงมาอีกเหลือเฉพาะหนังและซีรีย์ ต้องบอกว่านี่เป็นคู่กองหน้าของอุตสาหกรรมบันเทิงที่พา K-content ไปปักธงบนเวทีโลก โดยหลัง Parasite ไปคว้าออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมพร้อมอีก 3 รางวัลมาได้เมื่อปี 2020 ปีถัดมาที่โลกตกอยู่ใต้สถานการณ์โควิด Squid Game ก็กลายเป็นซีรีย์ระดับปรากฏการณ์

ซีรีย์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการละเล่นของชาวเกาหลีใต้ และการแข่งขันแย่งชิงกันแบบเอาเป็นเอาตายเรื่องนี้ กลายเป็นซีรีย์ยอดผู้ชมสูงเป็นประวัติการณ์ของ Netflix และยังไปคว้ารางวัลในเวทีใหญ่ของสหรัฐ เช่น ลูกโลกทองคำและเอ็มมี่ได้อีกด้วย

นับจากนั้น K-content โดยเฉพาะซีรีย์ ก็กลายเป็นคอนเทนท์ที่ 3 แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งระดับโลก อย่าง Netflix Disney+ และ Amazon Video Prime ต้องมี เพื่อตอบสนองความต้องการของคอซีรีย์และตรึงผู้ชมไม่ให้ย้ายไปแพลตฟอร์มคู่แข่ง

ในด้านหนึ่ง นี่คือความสำเร็จในการผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิงของรัฐบาลเกาหลีใต้ และการทำงานหนักของทีมงานเบื้องหลัง แต่อีกด้านหนึ่งก็บีบให้ทีมผู้สร้างต้องเร่งผลักดันซีรีย์ออกมา

ดังนั้นการแต่งเรื่องขึ้นมาใหม่ นำนิยายมาดัดแปลง หรือนำคอนเทนท์ดังจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ญี่ปุ่นกับไต้หวัน ที่เคยประสบความสำเร็จอยู่แล้วมาทำใหม่จึงไม่เพียงพออีกต่อไป

สถานการณ์นี้ทำให้บริษัทผู้ผลิตซีรีย์เกาหลีใต้ หันไปนำเว็บตูนมาสร้างเป็นซีรีย์ เพื่อลงจอโทรทัศน์แล้วขายต่อสู่แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่ง หรือส่งตรงลงแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งเลย

All of Us Are Dead, DP, Hellbound และ Mr. Brain คือซีรีย์เกาหลีใต้ที่มาจากเว็บตูน และเป็นการชี้ว่าปัจจุบันเว็บตูนกำลังทวีความสำคัญ จนเปรียบได้กับขุมทองของบริษัทผู้ผลิตซีรีย์เกาหลีใต้ไปแล้ว

เว็บตูน เป็นสื่อบันเทิงที่มีจุดกำเนิดในเกาหลีใต้ โดยเริ่มจาก Naver และ Daum ค่ายโทรคมนาคมเกาหลีใต้ผุดแผนดึงคนมาใช้บริการ และเพิ่มยอดการจราจรทางข้อมูล (Traffic) ในเครือข่าย ผ่านการ์ตูนบนเว็บที่ดูได้ฟรีแบบแนวตั้งบนโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบจอใหญ่ รุ่นแรกๆ เมื่อต้นยุค 2000

ถัดจากนั้นเว็บตูนก็กลายเป็นสื่อบันเทิงรูปแบบใหม่ที่ได้รับความนิยม จนเริ่มมีการนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ แต่ Dasepo Naugthy Girls กับ Apt ภาพยนตร์จากเว็บตูน 2 เรื่องแรกๆ กลับไม่ประสบความสำเร็จ โดยแต่ละเรื่องมีผู้ชมต่ำกว่า 650,000 คนเท่านั้น  

อย่างไรก็ตามตลาดเว็บตูนในเกาหลีใต้ก็ยังคงขยายตัว และบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีย์เกาหลีใต้ ก็กล้าที่จะนำเว็บตูนมาสร้างซีรีย์และภาพยนตร์กันมากขึ้น ทำให้ซีรีย์อย่าง Misaeng : Incomplete Life และภาพยนตร์อย่าง Along with the Gods : The Two World ได้ออกมาปรากฏสู่สายตาผู้ชม และเก็บเกี่ยวความสำเร็จ

Along with the Gods : The Two World

พอปี 2020 ตลาดเว็บตูนเกาหลีใต้ก็ขยายตัวอีก โดยทำเงินได้สูงถึง 744 ล้านดอลลาร์ (ราว 28,300 ล้านบาท) เพิ่มจากปี 2019 มากถึง 64.6% ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่บริษัทผู้ผลิตซีรีย์เกาหลีใต้ต้องการคอนเทนท์ต้นฉบับมาทำซีรีย์ป้อนแพลตฟอร์มต่างๆ เพราะเชื่อว่า เป็นคอนเทนท์ที่มีไอเดียสดใหม่ สื่อสารกับนายทุนได้ทันที (เพราะเป็นภาพมาแล้ว)

และเรียกความสนใจนักแสดงดังๆ ได้ง่ายกว่าคอนเทนท์ที่สร้างขึ้นมาเองหรือนิยายอีกด้วย แม้บางเรื่อง เช่นในกรณีของ Taxi Driver ต้องมีการปรับบทอยู่นาน เพื่อให้แรงจูงในการผันตัวไปเป็นฮีโร่ของตัวเอก กับ “บริษัทรับจ้างแก้แค้น” ให้ผู้ที่พลาดท่าโดนผู้คนประสงค์ร้ายเอาเปรียบ ดูเป็นไปได้ในความเป็นจริงก็ตาม

คนในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้คาดว่า เว็บตูน น่าจะเป็นขุมทองให้บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีย์เกาหลีใต้ต่อไปได้อีกอย่างน้อย 5 ปี

จากนี้มีความเป็นไปได้สูงว่า ตลาดเว็บตูนเกาหลีใต้ จะขยายตัวได้อีก ท่ามกลางความนิยมของ K-content ทั้งในตลาดโลกและความต้องการในแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

หลักฐานที่ยืนยันคาดการณ์นี้คือ ตลาดเว็บตูนเกาหลีใต้ขยายได้ไปในประเทศแถบยุโรป อย่าง สเปน เยอรมนี และฝรั่งเศสแล้ว

และ Lookism คือเว็บตูนในรูปแบบอนิเมะ (หรือที่เรียกในภาษาเกาหลีว่า มันฮวา) เรื่องแรกจากค่าย Naver บน Netflix ที่วางคิวสตรีมไว้ต้นพฤศจิกายนนี้ / koreatimes



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online