ลำดับที่ 2 แสดงถึงความเป็นรองทางคณิตศาสตร์ ยกเว้นว่าจะเป็นการครองตำแหน่งอย่างมีนัยสำคัญเหมือน Under Armour แบรนด์เครื่องกีฬาน้องใหม่ไฟแรงสัญชาติอเมริกันที่ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จนปัจจุบันทยานสู่ Sport Brand ที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากเป็นอันดับ 2 ของ “ดินแดนแห่งเสรีภาพ” เบียด Adidas ลงไปเป็นที่ 3 และเป็นรองเพียง Nike เท่านั้น ส่วนในตลาดโลกก็มีคนรู้จักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอันน่าทึ่งนี่คือ Kevin Plank ผู้ก่อตั้ง CEO และประธานกรรมการบริษัทวัย 43 ปี

Plank เกิดเมื่อ 13 สิงหาคม 1972 ที่เมือง Kensington รัฐ Maryland สหรัฐฯ พ่อเป็นนักพัฒนาที่ดินชื่อดัง แม่เป็นอดีตนายกเทศมนตรีเมืองบ้านเกิด เป็นน้องคนสุดท้องของครอบครัวลูก 5

ช่วงมัธยมปลายถูกไล่ออกจากโรงเรียนจากเหตุทะเลาะวิวาทเพราะฤทธ์สุรา หลังได้โรงเรียนใหม่น้องคนเล็กของตระกูล Plank ก็ปรับปรุงตัวพร้อมมุ่งมาทางสาย American Football และเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในคณะบริหารธุรกิจของ University of Maryland พร้อมกับการได้เป็น กัปตันทีม “คนชนคน” ของมหาวิทยาลัย

มี Cupid’s Valentine บริการส่งดอกกุหลาบช่วงเทศกาลแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นธุรกิจที่ทำระหว่างเรียน โดยเงินจาก “เทวดาน้อยวันแห่งความรัก” นี่เองจะกลายเป็นทุนรอนของธุรกิจสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตของเขา

ช่วงใกล้จบการศึกษา Plankจับธุรกิจเสื้อยืดซับในของนักอเมริกันฟุตบอล หลังสังเกตเห็นว่า เสื้อยืดที่ลูกทีมใช้กันอยู่อมเหงื่อและไม่ทำให้สบายตัว เงิน 17,000 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 595,000 บาท) จาก Cupid’s Valentine ถูกนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาและว่าจ้างโรงงานตัดเย็บเสื้อกีฬาสำหรับผู้ชายที่เบาสบาย โดยใช้ผ้าเส้นไยสังเคราะห์ขนาดเล็ก (Microfiber) จากเสื้อซับในผู้หญิ เพราะเพื่อนในทีมชื่นชอบผลิตภัณฑ์นี้มาก ปี 1996 เจ้าตัวจึงตัดสินใจทำแบรนด์เสื้อกีฬาภายใต้ชื่อ Under Armour ร่วมกับ Kip Fulks เพื่อนจากรั้วมหาวิทยาลัยซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการตลาด (CMO)

คุณสมบัติ “เนื้อผ้าบางเบา สวมใส่สบาย แห้งเร็วและไม่อมเหงื่อ” ที่โดนใจนักอเมริกันฟุตบอล ถูกบอกปากต่อปากและสร้างชื่อให้ Under Armour จนได้รับสัญญาว่าจ้างทำเสื้อกีฬาจากหลายมหาวิทยาลัย

และมีโอกาสไปปรากฏบนภาพยนตร์ American Football 2 เรื่องช่วงรอยต่อระหว่างยุค 90 ถึงปี 2000 คือ Any Given Sunday และ The Replacement

โดยปี 2003 เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วยโฆษณาทางโทรทัศน์ตัวแรก ความนิยมในแบรนด์ ตัวสินค้าและเครื่องแต่งกายของที่รองรับประเภทกีฬายังเพิ่มขึ้นตามเลขปี โดยนอกจาก American Game ที่เหลืออย่าง Baseball และ Basket Ball แล้ว Under Armour ยังมีชุดสำหรับ Football มวย กอล์ฟ และ Motor Sport อีกด้วย

ปีนี้แบรนด์เครื่องกีฬาซึ่ง Plank ได้ชื่อมาแบบบังเอิญจากการแซวของพี่ชาย หลังชื่อ Body Armor กับ Heart ที่ต้องการมีบริษัทอื่นจดทะเบียนไปแล้ว จับมือกับ HTC แบรนด์เทคโนโลยีไต้หวันและแอพดูแลสุขภาพที่ซื้อกิจการมา ออก Wearable Tech 4 ชิ้นคือรองเท้า รองเท้าวิ่งฟังชิปคอมพิวเตอร์ สายรัดข้อมืออัจฉริยะ แท่นวงกลมสำหรับชั่งน้ำหนักและสัดส่วนไขมันในร่างกาย และสุดท้าย คือสายรัดหน้าอกวัดอัตราการเต้นของหัวใจ

โดย Plank หวังให้สินค้า Connected Fitness (การสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายผ่านอุปกรณ์ที่ใช้ข้อมูลเชื่อมโยงกัน) รองรับความต้องการผู้บริโภค พร้อมใช้ปูทางไปสู่การเป็น Sport Brand อันดับ 1 ของสหรัฐฯและของโลก แซงหน้า Nike

ปัจจุบัน Plank คือหนึ่งใน CEO รุ่นใหม่ผู้ทรงอิทธิพล เจ้าของมูลค่าทรัยพ์สินเกือบ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 140,000 ล้านบาท) แต่ช่วงก่อร่างสร้างแบรนด์เขาก็เคยถังแตก โดยเจ้าตัวให้เคล็ดลับในการฝ่าฝันอุปสรรคทางธุรกิจว่า

“ความสำเร็จไม่มีทางมาหาเราง่ายๆ มันเกิดจากความทุ่มเทและปรับปรุงแก้ไขผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค”

ส่วนในวันที่โชคชะตาไม่เข้าข้าง จงบอกตัวเอกว่า “ปาดน้ำตา แล้วลุกหยัดยืนแบบผู้ชายใจแกร่ง หาวิธีผลักดันธุรกิจให้ก้าวต่อไป”

Marketeer ฉบับมกราคม 2559

ที่มา : forbes.com ,inc.com ,wikipedia.com,businessinsider.com ,washingtonpost.com

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online