หิรัญ ตันมิตร พูดคุยกับผู้ชายที่สร้างความสุขใน EVEANDBOY

จากร้านโชห่วยริมถนนในจังหวัดมหาสารคาม ที่ภายในร้านอัดแน่นด้วยของใช้ประจำวันสารพัดอย่าง

คือจุดตั้งต้นของการเรียนรู้การทำธุรกิจของ “อีฟ” และ “บอย” เจ้าของร้านบิวตี้สโตร์ชื่อดัง EVEANDBOY 

17 ปีผ่านไปจากมหาสารคามสู่สยามสแควร์ ทำเลทองของประเทศ ที่สามารถพลิกแบรนด์จนขยายสาขาได้อย่างต่อเนื่องถึง 22 สาขา

โดยมีเป้าหมายยอดขาย 10,000 ล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า

“บอย” หิรัญ ตันมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีฟแอนด์บอย จำกัด ได้เล่าให้ Marketeer ฟัง ในบ่ายวันหนึ่ง ถึงภาพจำในอดีตของเขาว่า 

ร้านโชห่วยของครอบครัวเรา มี 3 คูหา ติดถนนในจังหวัดมหาสารคาม ในร้านไม่มีแอร์ หน้าร้อนช่วงบ่าย ๆ แดดจะเทเข้ามาในร้านเต็ม ๆ ก็จะอยู่กันแบบร้อน ๆ เป็นเรื่องปกติ 

“ผมจะเห็นภาพคุณแม่นั่งอยู่ที่โต๊ะคิดเงิน ขายของไปด้วยคิดเงินไปด้วย นั่งอยู่ตรงนั้นล่ะทั้งวัน ตั้งแต่ร้านเปิดยันร้านปิด กินข้าวก็กินตรงนั้น รอบ ๆ ตัวของแม่เต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้สารพัดอย่าง ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบจริง ๆ เช่น ขายไส้กรอกตราหมูตัวเดียว ขายน้ำ ขายผ้าอ้อม นมผง เครื่องใช้ แชมพู สบู่ ของกินต่าง ๆ ร้านอาหารในตลาดก็มาซื้อของที่ร้านเราหมด น่าจะเป็นโชห่วยร้านแรก ๆ ในมหาสารคาม”

ส่วนภาพของคุณพ่อคือขับรถส่งของ แบกกระสอบข้าวสาร น้ำตาล ส่วนเขาและพี่สาว “อีฟ” สุธาวัลย์ ตราชู (ประธานที่ปรึกษาบริษัทอีฟแอนด์บอย จำกัด) ที่อายุห่างกันเพียง 2 ปี 2 คนพี่น้องก็ต้องช่วยที่บ้านขายของหลังเลิกเรียนตั้งแต่เด็กเช่นกัน

จนกระทั่งทั้ง 2 คน เข้ามาเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ อีฟมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนบอยเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เอกการตลาด

ระหว่างที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัย สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ โชห่วยที่บ้านกำลังโดนดิสรัปต์ด้วยโมเดิร์นเทรด  

“ตอนนั้นของใช้พวกนมผง ผ้าอ้อม หั่นราคากันจนมาร์จินเหลือ 1% หรือ 2% แทบไม่เหลือเลย แต่เราก็ยังมี Category ที่เราเห็นโอกาส ก็คือพวก Personal Care โลชั่น สกินแคร์ ครีมบำรุง ที่ไม่มีปัญหาการแข่งเรื่องราคา แล้วก็ยังมีมาร์จิน 10%-20% เป็นกลุ่มที่ทำให้เราอยู่ได้แล้วมีกำไร”

และที่สำคัญมันได้จุดประกายให้ทั้ง 2 คนพี่น้องเห็นโอกาสในการทำธุรกิจเป็นครั้งแรก  และความคิดนี้ก็ถูกสานต่อให้เป็นจริงเมื่อ 2 คนเรียนจบมหาวิทยาลัย

เปิดร้าน EVEANDBOY Turning Point ครั้งแรกของชีวิต

อย่างที่บอยได้เล่าไว้ว่าสินค้าพวก Personal Care มาร์จินยังดีมาก ประกอบกับเขามีความรู้มีประสบการณ์พวกร้านค้าปลีกอยู่แล้วเป็นธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องไปเริ่มจากศูนย์  รู้ว่าจะคุยกับ Supplier ยังไง จะทำร้านแบบไหน จะขายยังไง ลูกค้าเราอยู่ตรงไหน และจะบวก Margin เท่าไร

“และที่สำคัญคือต้องการช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ คือเขาไม่เคยบอกว่าโตขึ้นมาจะต้องมาช่วยฉันทำงานต่อ ไม่เคยพูดเลย แต่เรารู้ว่าเขาเหนื่อย ทำให้เราต้องคิดว่า เราจะปล่อยให้พ่อแม่แก่ไปเรื่อย ๆ แล้วนั่งอยู่ที่โต๊ะ นั่งเก็บเงิน นั่งคิดเงิน แบกของไปจนอายุเท่าไรเหรอ เป็นคำถามที่อยู่ในใจ เลยตัดสินใจคงจะต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว”

ในปี 2548  ทั้ง 2 คนตัดสินใจที่จะเปิดร้าน EVEANDBOY ขึ้นในตึกแถว 2 คูหาที่พ่อแม่ซื้อทิ้งไว้ใกล้ ๆ กับร้านโชห่วยเดิม

ช่วงแรกเมื่อเงินทุนยังไม่มีก็ใช้วิธีขอเครดิตจาก Supplier เก่า เพื่อเอาของมาขายได้กี่วัน 30 วัน 60 วัน 90 วัน แล้วแต่ยี่ห้อแล้วแต่แบรนด์ 

บังเอิญช่วงนั้นน้าสาวของเขาเลิกทำปั๊มน้ำมัน ในปั๊มจะมีซูเปอร์เล็ก ๆ ที่เลิกทำไปด้วย ก็เลยไปขอชั้นวางของที่เขาไม่ใช้แล้ว เอามาใช้ในร้าน EVEANDBOY

โดยสินค้าหลัก ๆ ในร้านคือพวกยาสีฟัน ครีม โลชั่น แป้ง สบู่ ยาสระผม และเครื่องสำอางยี่ห้อต่าง ๆ

เครื่องสำอางในยุคนั้นที่มีก็เช่น OLAY ตั้งแต่สมัยเป็น Oil of Ulan  มีแป้ง Pond  แป้งเพี๊ยช ซึ่งเป็นแบรนด์ธรรมดาทั่วไป

ประสบการณ์แรก “ขายดีเเค่วันเดียว”

จบการตลาดมาทั้งทีในเรื่องมาร์เก็ตติ้งบอยก็ต้องจัดเต็ม เมื่อยุคนั้นยังไม่มี Social Media  ก็เริ่มจากเดินแจกใบปลิวเองตามตลาดสด ใช้โฆษณาในวิทยุท้องถิ่น มีรถแห่ไปทั่วทั้งตลาด และแฟนคลับตัวยงคือคุณแม่ที่คอยบอกลูกค้าเก่า ๆ ให้แวะเวียนไปดูร้านใหม่ของลูก    

“ขายดีมากอยู่วันแรกวันเดียวครับ (หัวเราะ) คือวันเปิดที่ลูกค้ามาเยอะมาก อาจจะเป็นเพราะร้านใหม่ แล้วเราก็ทำโปรโมชั่น ทำราคาแบบถูก ๆ ยอมขาดทุนบ้างเพื่อดึงลูกค้า วันต่อมาฝนตกเงียบ ขายไม่ได้เลย วันต่อ ๆ มาก็ยังเงียบ ๆ นั่นคือจุดเริ่มต้น”

ประสบการณ์แรกที่ต้องจำคือ ความไม่เข้าใจในการสื่อสาร

คือลูกค้าเข้าใจว่าที่ร้านขายของถูกอยู่วันเดียว คือวันเปิด ผมเลยต้องปรับวิธีสื่อสารใหม่ ทำใบปลิวใหม่ บอกว่าจริง ๆ เราขายถูกทุกวัน มีโปรโมชั่นตลอด รับรองราคาถูกกว่าที่อื่น อาศัยว่าตอนนั้นต้นทุนเราต่ำ ไม่ได้มีค่าเช่าตึก และลงแรงทำกันเอง 2 คนพี่น้อง มีลูกน้องน่าจะคนเดียวหรือสองคนแค่นั้น ก็เลยขายของถูกได้ แล้วก็ยอมหั่น Margin ตัวเองลงไปอีก สมมุติ เคยขายได้ 10% เราก็อาจจะเหลือสัก 8 หรือ 7% ก็เพื่อที่จะให้ลูกค้าติดเรา ก็ใช้กลยุทธ์นี้มาเรื่อย ๆ จนลูกค้าติดและเริ่มมีกำไร”

ประมาณ 2 ปี   EVEANDBOY สาขา 2 ก็ไปเปิดที่ขอนแก่น

ขอนแก่นเมืองใหญ่ที่จุดประกายของโอกาส

ในยุคนั้นขอนแก่นไม่มีห้างใหญ่ ๆ มีแต่ห้างท้องถิ่นที่แทบจะไม่มีสินค้ามีแบรนด์เลย จะซื้อน้ำหอมแพง ๆ สักขวดก็ต้องมากรุงเทพฯ

ช่องว่างมีเยอะ โอกาสก็มีมาก หลายแบรนด์ใหม่ ๆ เริ่มเข้ามาทำงานร่วมกับเขา เช่น แบรนด์น้ำหอมของ Calvin Klein หรือ Minor กรุ๊ป ก็มีหลายแบรนด์ มีแบรนด์ Anna Sui Laneige Red Earth ฯลฯ คนขอนแก่นก็เลยชอบ แล้วบังเอิญได้โลเคชันที่ค่อนข้างดี คืออยู่ตรงข้ามกับศูนย์ราชการขอนแก่น ที่มีแทรฟฟิกทั้งวัน

ที่ขอนแก่นต้นทุนอาจจะสูงกว่าที่มหาสารคามเพราะมีค่าเช่าสถานที่ ค่าจ้างพนักงาน แต่ที่นี่ได้จำนวนคนซื้อที่เยอะขึ้น สินค้าประเภทน้ำหอม หรือเครื่องสำอางบางแบรนด์มาร์จินที่สูงทำให้เขามีกำไรมากขึ้น

และที่สำคัญทำให้เขาเห็นโอกาสอีกครั้ง 

“เราเริ่มเห็นอีกว่าจริง ๆ แล้วไม่ต้องอยู่แค่ขอนแก่นก็ได้นะ แม้ที่กรุงเทพฯ เองตอนนั้นก็ยังไม่มีร้านแบบนี้เลย สมมุติถ้าจะซื้อน้ำหอมก็ต้องไปห้าง หรืออยากจะซื้อ Eucerin  ก็ต้องไปร้านขายยา มันไม่ได้มีขายทั่วไปแบบทุกวันนี้ แล้วทำไมเราไม่รวมแบรนด์พวกนี้เข้ามาอยู่ในร้าน ซึ่งเราทำได้อยู่แล้วที่ขอนแก่น เพียงแต่ในกรุงเทพฯ เราอาจจะต้องหาแบรนด์ที่แตกต่างเพิ่มก็เลยตัดสินใจหาทำเลในกรุงเทพฯ”

คิดการใหญ่ จากโชห่วยริมถนนที่มหาสารคาม สู่สยามสแควร์ 

ถึงแม้เป็นเด็กภูธร แต่การได้เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัย 4 ปี ทำให้บอยกับสยามสแควร์เป็นอะไรที่คุ้นเคยกันมาก และเขารู้ดีว่าสยามสแควร์ในช่วงนั้นคือฮับของวัยรุ่นเป็นเซ็นเตอร์สำหรับธุรกิจใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นชานมไข่มุก ตู้สติกเกอร์ ฯลฯ 

แต่ปัญหาคือมันคือทำเลทองของประเทศที่นอกจากหาพื้นที่ว่างได้ยากแล้วราคาค่าเช่าแพงมากด้วย

“แต่ด้วยความเชื่อมั่นในโมเดลของเราเลยไม่กลัว และระหว่างทางผมเจออุปสรรคเยอะแยะมากมาย ที่สยามสแควร์ Target Group ก็ชัดเจนเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่เราขายมาก่อน คือลูกค้าวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา คนที่เริ่มทำงานใหม่ ๆ”

ตอนนั้นมีทำเลเดียวที่เหลืออยู่คือตึกแถว 3 คูหา ริมถนนตรงทางเข้าลานจอดรถตรงสยามสแควร์ซอย 7  พื้นที่รวมประมาณ 200 ตารางเมตร เดิมเป็นโรงเรียนกวดวิชาที่ทิ้งร้างไว้นาน ก็เลยตัดสินใจทำในปี 2555 (ก่อนที่จะย้ายเข้ามาในสยามสแควร์วัน)

อีฟและบอยคิดถูก EVEANDBOY ประสบความสำเร็จมากตั้งแต่ปีแรก

“จุดแข็งของเราตลอดระยะเวลา 17 ปีคือเราเอากำไรน้อย ต้องบอกว่าจากที่เราทำโชห่วยมาก่อนการมีมาร์จิน 3% คือมากแล้วสำหรับเรา หรือถ้าเราขยับมากกว่านี้ก็ไม่เท่าคนอื่น มันคือมาตรฐานของผม ซึ่งอาจจะคิดผิดก็ได้นะ แต่มันกลับ Success พูดง่าย ๆ เหมือนเราไปตัดราคาชาวบ้านเขาหมดเลย จริง ๆ ไม่ใช่  ความตั้งใจคือถ้าเราได้มาร์จินเท่านี้ เราโอเคแล้ว”

แต่ที่สำคัญสาขานี้มีต้นทุนมหาศาล

เมื่อ Marketeer ถาม หิรัญ ตันมิตร ว่าค่าเช่าในไพร์มเเอเรียร์กลางกรุงกับในต่างจังหวัดต่างกันมากแค่ไหน

บอยนิ่งคิดไปครู่หนึ่งก่อนตอบว่า

 “ค่าเช่าที่สยามต่อเดือนผมสามารถจ่ายค่าเช่าให้สาขาที่ต่างจังหวัดได้ถึง 10 สาขาต่อเดือน”

ดังนั้นเขาต้องบริหารจัดการต้นทุนส่วนอื่น ๆ เก่งเหมือนกัน

หลายองค์กรอาจจะมาลีนองค์กรด้วยการลดค่าใช้จ่าย ลดคน หลังจากเกิดปัญหา แต่สำหรับ EVEANDBOY บอยบอกว่าเขาประหยัดในทุกเรื่องตั้งแต่วันแรก

“เรามาจากธุรกิจโชห่วยที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่สอนและย้ำเรามาก ๆ ในเรื่องความประหยัด กว่าเราจะมีออฟฟิศสวย ๆ ได้ เราทำธุรกิจมาแล้ว 15 ปีนะ สมัยก่อนเราใช้ออฟฟิศบนตึกที่เราเช่าขายของทำเป็นออฟฟิศเล็ก ๆ อย่างที่สยามสแควร์ตอนเช่าตึกแถว 3 คูหา ชั้น 1 ชั้น 2 ขายของ ชั้น 3 ทำเป็นออฟฟิศ ชั้น 4 ก็ทำเป็นห้องสต๊อก” 

การทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่กับผมอาจจะไม่เหมือนกัน บางคนคิดว่าถ้าฉันจะเปิดบริษัท ฉันต้องมีออฟฟิศสวย ๆ มีห้องทำงานส่วนตัวหรู ๆ มีแผนกต่าง ๆ โน่นนี่ ค่าใช้จ่ายเต็มเลย ยังไม่รู้เลยจะขายได้หรือเปล่า แต่ค่าใช้จ่ายกองมาแล้วนะ

แต่ยุคที่เราทำคือ หาเงินเข้าอย่างเดียวก่อนพอมีเงินมันจะคิดต่อเองว่าควรมีอะไรต่อ 

“สมัยก่อนช่วยคุณแม่ขายของ ของชิ้นเล็กถ้าเกิดใส่ถุงไซต์ใหญ่ไป โดนตีมือเลย รู้ไหมว่าถุงต้นทุนใบเท่าไร ถุงพลาสติกกิโลหนึ่ง 120 บาทตกต่อใบราคาเท่านี้ ๆ แล้วรู้ไหมว่าขายนมผงกำไรเท่าไร ใส่ถุงไซส์นี้ เจ๊ง แม่พูดอย่างนี้เลย เจ๊ง เอาออกเดี๋ยวนี้ พอมาทำเองเราจึงระวังทุกจุด” 

ที่สยามสแควร์ช่วง 2-3 เดือนแรก ไม่ขาดทุน แต่ก็ไม่เห็นกำไร จากต้นทุนต่าง ๆ ที่ไม่เคยเจอ  ความท้าทายอย่างมาก ๆ ก็คือทำอย่างไรให้ขายของได้ดีกว่านี้ เพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น

ความโชคดีของบอยก็คือในยุคนั้น Facebook กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก หลังจากนั้นก็เป็นยุคที่ Instagram บูมต่อมาอีก เขาเลยได้ใช้ประโยชน์กับ Social Media อย่างเต็มที่ในการโปรโมตและสื่อสารแบรนด์กับลูกค้า หลายคอนเทนต์เป็นไวรัล ที่มียอดคนแชร์มหาศาล  กลายเป็น Talk of the Town ที่ทำให้มีคนรู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว 

บนเส้นทางเดิน 17 ปี ถ้าจะถามว่ามีปัญหาตรงไหนบ้างต้องบอกว่ามีทุกตรง ทั้งในเรื่องของคู่แข่ง ข้อกฎหมาย  เเละช่วงที่บ้านเมืองมีปัญหาทางการเมือง ฯลฯ

โควิด -19 สร้างทั้งปัญหาและโอกาสให้กับแบรนด์

ปัญหาหลักในช่วงปี 2562  EVEANDBOY มีสาขาทั้งหมดประมาณ 13 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในห้างทั้งหมดยกเว้นสาขาที่ขอนแก่น เมื่อห้างปิดเพราะโควิดรายได้ก็เลยเป็นศูนย์

ส่วนโอกาสก็คือสามารถเร่งสปีดการขายบนออนไลน์ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นช่องทางใหม่ที่ทำรายได้ต่อเนื่อง

“ความภูมิใจอย่างหนึ่งของผมก็คือในช่วงโควิด-19 ผมไม่ได้เอาพนักงานที่มีอยู่เกือบ 500 คนออกเลยสักคนเดียว จ่ายเงินทุกคนทุกบาททุกสตางค์เต็ม 100% ไม่หักเลยแม้แต่บาทเดียว แต่ทุกคนต้องช่วยผมนะครับ ต้องเพิ่มสกิลในการขายออนไลน์อย่างเต็มที่ ทั้งอัปรูปขึ้นออนไลน์เป็นหมื่น ๆ รูป ทักลูกค้า แอดไลน์มาซื้อของ ตอบไลน์ เช็กของ แพ็กของ ส่งของ คือทุกคนยังทำงานหนักเพื่อให้ขายของได้ ”  

น้องบางคนที่อยู่หน้าร้านกับเราเป็นสต๊อกแมน บางคนบอกพี่ เมาส์หนูยังใช้ไม่เป็นเลย คือปกติเขาอาจจะใช้แรงงาน ยกของเท่านั้น ทำยังไงดี ก็สอนกันไป เพื่อให้มันมียอดเข้ามาให้ได้ ไม่งั้นจะมารอว่าเมื่อไหร่จะได้เปิดร้าน ไม่รู้เลยตอนนั้น วันนั้นทุกคนมันมืดไปหมด 

ผมเองโตมาแบบโชห่วย วันนี้ผมต้องมาทำ E-Commerce ผมเองก็ต้อง Lead ให้ได้ เท่าที่เราจะสามารถนำทีมได้ นั่นก็เป็น Challenge ของเราเหมือนกัน แต่มันทำให้ E-Commerce เรามาเร็วกว่าที่คิดมาก ซึ่งมันทำให้ผลดีจนถึงวันนี้

ในปี 2562  EVEANDBOY มียอดขาย 4,600 ล้านบาท ปี 2563 ยอดขายหายไป 30%  ส่วนในปี2565 นี้เขาบอกว่ายอดขายน่าจะปิดที่ 4,000 ล้านบาท เป็นยอดขายที่มาจากออนไลน์ประมาณ 400 ล้านบาท

“ผมคิดว่าตัวเลขยอดขายปีหน้า 2566 จะดีขึ้นไปอีกเพราะคนหยุดซื้อเครื่องสำอางมานาน ในขณะเดียวกันมันได้ขยายฐานของพวก Personal Care เยอะขึ้นมากเหมือนกันจนผมมั่นใจว่าเป้าหมายยอดขาย 1หมื่นล้านบาทจะมีให้เห็นใน 5ปีนี้แน่นอน”

 

เมื่อถามว่า อะไรคือ Key Success ของ EVEANDBOY

บอยไม่ได้ขยี้ย้ำในเรื่องราคาที่เอื้อมถึง สินค้าที่มีหลากหลายแบรนด์ การจัดโปรโมชั่นที่ ปัง ๆ แต่เขากลับบอกว่า

Key Success จริง ๆ ของผมและทีมคือผมคิดว่าผมพยายามทำให้ทุก ๆ คนมีความสุขในการทำงาน มีคนเคยถามเหมือนกันว่า Work-Life Balance ยังไง แต่ของผมการทำงานทุกวันคือความสุข ไม่ว่าผมจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่มีที่ว่าเสาร์ อาทิตย์ห้ามคุย จะไม่มีคำนี้เด็ดขาด 17 ปีที่ผ่านมาว่า พี่จะไม่คุยงานนะถ้าพี่ไปต่างประเทศ ห้ามโทร ห้ามไลน์ ไม่มี จะบอกว่ามีอะไรไลน์มาเลย โทรมาเลย มีอะไรอยากจะคุย จัดการเลย จะวันไหนก็ตามแต่จะกี่โมงก็ตามแต่ พร้อมเสมอ ขอให้บอก แต่ถ้าคนที่ทำไม่ได้แบบผม เขาจะเป็นทุกข์มาก ผมพูดกับทีมเสมอว่า Happiness ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน 

“ผมชอบคำหนึ่งที่บอกว่า Happiness is a journey, not a destination มันคือระหว่างการเดินทางทั้งชีวิตของเรานี่แหละคือความสุข ไม่ต้องไปรอว่าจะเก็บเงินให้ได้เท่านั้นเท่านี้ก่อนแล้วฉันจะมีความสุข แล้วเมื่อไหร่จะมี ดังนั้นสิ่งที่ผมพยายามทำกับทีมทุกคนเลยคือว่า ทำยังไงให้มีความสุขในการทำงาน”

ตอนที่ผมเปิดร้านที่ขอนแก่น มี 2 สาขาเปิดร้าน 8 โมง ปุ๊บก็ทำทุกอย่าง ขายของ เก็บเงิน เช็กของ จัดของ ทำราคาเองทั้งหมด ตกเย็นจะต้องเข้าไปดูสาขาที่ มข. ก็ช่วยกันกับเด็กขนของขึ้นรถกระบะเพื่อที่จะเอาของไปเติม

กว่าจะได้ปิดร้าน 5 ทุ่ม ยังไม่ได้กินข้าวนะ 5 ทุ่ม เสร็จแล้วกลับมานับเงินก่อน เพราะไม่ได้มีคนมาเก็บเงินให้เหมือนทุกวันนี้ ทุกวันนี้จ้างบริษัทเก็บเงิน สมัยก่อนนับเองอีก นับเองเสร็จ เคลียร์ทุกอย่าง เที่ยงคืน ผมใช้ชีวิตแบบนี้ 2 ปีเต็ม ๆ ไม่รู้สึกเหนื่อยเลย มีความสุขมาก แล้วหลังจากนั้นค่อยกินข้าว

ทุกวันนี้ผมก็ชอบเดินทาง ชอบหาประสบการณ์เรียนรู้ชีวิตผู้คน แต่ไม่ใช่ขอพัก ขอไปเที่ยวหน่อย และระหว่างที่เที่ยวสามารถทำงานได้ทุกอย่าง นั่นคือสิ่งที่ทำอยู่มาตลอดระยะเวลา 17 ปี

ดังนั้น DNA ของบริษัทนี้คือต้องทำงานอย่างมีความสุข  น้อง ๆ จะทำได้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่ว่าเราในฐานะผู้นำองค์กรต้องพยายามใส่ Attitude หรือ Mindset ให้กับทีม 

“ช่วงที่เราเติบโตขึ้นเคยอยากจะเป็นเหมือนบริษัทใหญ่ ๆ ในโลก เราก็ไปศึกษาว่า เขาทำยังไง เวลานี้เรารู้แล้ว จริง ๆ แล้ว เรา Success มาได้จนถึงทุกวันนี้เพราะเราเป็นเรานี่แหละ เพราะฉะนั้นไม่ควรจะเปลี่ยนหรอก แต่เราควรจะปรับอะไรที่มันเข้ากับองค์กรมากกว่า เพื่อให้น้อง ๆ ในทีมเขาสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข อันนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่ผมจะพยายามทำ”

ก่อนจากกันวันนั้น บอยยังย้ำว่า ปีหน้าน่าจะเป็นปีที่ EVEANDBOY มีอะไรให้ตื่นเต้นอย่างแน่นอน แต่จะเป็นอะไรนั้นเขายิ้มกว้าง นิ่งคิดและบอกว่าอยากบอกมาก ๆ

“เก็บไว้ก่อนดีกว่า เเต่เป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่าจะทำให้ทุกคนมีความสุข”

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน