ใครได้ไปญี่ปุ่นหลังเปิดประเทศเมื่อเร็ว ๆ นี้ คงพอสัมผัสได้กับการบริการที่ติดขัดตามสนามบินและเมื่อถึงที่พักก็คงรู้สึกได้กับบริการแบบ โอโมเตนาชิ ที่ไม่เต็มร้อยเหมือนเคย ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนแรงงานภาคการท่องเที่ยวญี่ปุ่น

แม้เหตุผลหลักมาจากจ้างงานพนักงานที่ปลดไปช่วงประคองตัวตลอด 3 ปีที่ผ่านมาไม่ทันรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มกลับมาเร็วเกินคาด แต่แท้จริงแล้วนี่คือปัญหาสะสม เพราะญี่ปุ่นมีปัญหาขาดแคลนแรงงานสืบเนื่องจากอัตราการเกิดน้อยและผู้สูงวัยมากมานานแล้ว

ข้อมูลจากกระทรวงสื่อสารและกิจการภายในเมื่อกันยายนที่ผ่านมาระบุว่า ประชากรวัยเกษียณอายุ 65 ปีขึ้นไป มี 36.4 ล้านคน คิดเป็น 29.1% หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศเลยทีเดียว ซึ่งถือว่าสูงสุดในโลก

เหนือกว่าอิตาลีกับโปรตุเกส ซึ่งมีประชากรกลุ่มนี้มากเป็นอันดับ 2 และ 3 ด้วยสัดส่วน 23.6% และ 2.31% ตามลำดับ

ทางออกเฉพาะหน้าในเรื่องนี้คือการเปิดรับแรงงานต่างชาติ ซึ่งกระจายอยู่ตามธุรกิจต่าง ๆ ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโรงงาน ไซต์งานก่อสร้าง และผลิตอาหารสำเร็จรูป แต่ก็มีปัญหาใหม่เกิดขึ้นอีก ซึ่งมีต้นตอจากความขาดแคลนเช่นกัน

ญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนครูสอนภาษาญี่ปุ่นให้แรงงานต่างชาติ โดยข้อมูลจากทางการระบุว่า ทั้งประเทศมีอยู่เพียง 4,900 คน ซ้ำร้าย 2,200 คนหรือ 40% ของจำนวนนี้ก็ไปกระจุกตัวอยู่ในกรุงโตเกียวอีก 

นี่จึงทำให้ 877 เมืองจาก 1,896 เมืองทั่วประเทศกลายเป็นพื้นที่ขาดแคลนครูสอนภาษาญี่ปุ่นให้แรงงานต่างชาติ จนคนต่างชาติที่มาทำงานส่งเงินกลับบ้านเกิดเหล่านี้ต้องเรียนออนไลน์ด้วยตัวเอง ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่เหมือนเรียนกับครู โดยตรงตัวต่อตัวหรือในห้องเรียน

2 พื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนในส่วนนี้มากสุด คือเมือง ยามากาตะ และ มิเอะ โดยเมืองหลังน่าเป็นห่วงมากเพราะ 10 ปีที่ผ่านมาคนวัยทำงานลดลงอย่างมาก ทำให้ต้องรับแรงงานต่างชาติเข้ามาเพิ่มถึง 50% แต่แรงงานต่างชาติที่เข้ามาใหม่ยังไม่สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นอย่างคล่องแคล่ว  

ด้านทางการญี่ปุ่นแม้ไม่นิ่งนอนใจ แต่ก็เหมือนไม่ได้จริงจังในการแก้ไขปัญหาเท่าที่ควร โดยจัดงบช่วยเหลือในการก่อตั้งโรงเรียนสอนภาษาให้แรงงานต่างชาติ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เมืองละ 1.5 ล้านเยน (ราว 368,000 บาท) ต่อปี ซึ่งถือว่ายังไม่เพียงพอ 

ขณะที่สื่อญี่ปุ่นรายงานอ้างจากนักวิชาการด้านภาษาว่า ญี่ปุ่นยังมีคอร์สภาษาให้ชาวต่างชาติน้อยมาก เมื่อเทียบกับเยอรมนี และยังตามหลังเกาหลีใต้ ที่ให้แรงงานต่างชาติเรียนภาษาหรือวัฒนธรรมที่เป็นประโยชน์ในการปรับตัวได้ฟรีตามเวลาที่กำหนดไว้

ปัญหานี้เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ปัญหาและข้อติดขัดต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นต้องเร่งแก้ไข เพราะตราบใดที่ยังขาดแคลนคนวัยทำงานญี่ปุ่นจึงยังต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ และยังต้องตกลงกันให้ได้ว่า แรงงานต่างชาติต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นถึงระดับไหน และส่วนกลางต้องจัดงบช่วยเหลือให้แต่ละเมืองเท่าไรถึงจะพอ

ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี 2040 ญี่ปุ่นจะต้องการแรงงานต่างชาติเพิ่มเป็น 6.74 ล้านคน โดยชาวเวียดนามจะเป็นแรงงานต่างชาติจำนวนมากสุดในญี่ปุ่น ด้วยสัดส่วน 28% ตามด้วยเมียนมา กัมพูชา บังกลาเทศ และเนปาล

นอกจากแก้ปัญหาเรื่องครูสอนภาษาแล้ว ญี่ปุ่นยังต้องเพิ่มค่าแรงด้วย เพราะปัจจุบันเกาหลีใต้กับไต้หวันให้ค่าแรงแรงงานต่างชาติมากกว่า ดังนั้นถ้าญี่ปุ่นไม่เพิ่มค่าแรงจึงมีแนวโน้มสูงว่าเหล่าแรงงานต่างชาติจะพากันเก็บกระเป๋าย้ายไปทำงานใน 2 ประเทศนี้/nikkei



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online