สถานการณ์โควิดช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมาทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับการขนส่ง การเดินทาง และการท่องเที่ยว ต่างต้องพยายามสุดตัวที่จะเอาตัวรอด เพราะโลกติดล็อกดาวน์และรัฐบาลทุกประเทศสั่งปิดพรมแดนเพื่อสกัดการระบาด นี่ทำให้เมืองท่องเที่ยวทั่วโลกกลายเป็นเมืองร้าง โดย สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ GDP ของเมืองบาหลีลดลงไป 10% และประชาชน 41% ต้องขาดรายได้
รายได้เป็นกอบเป็นกำจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเกาะในอินโดนีเซียแห่งนี้ที่หายไปโดยสิ้นเชิง กลายเป็นต้นเหตุของปัญหาตามมามากมาย ทั้งการก่ออาชญากรรม การฆ่าตัวตาย ภาวะอดอยาก และการใช้ยาเสพติดที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีการลักลอบค้าของป่า ปัญหาคนชราและสัตว์เลี้ยงถูกทิ้งอีกด้วย
วิกฤตใหญ่ครั้งนี้ทุเลาลง หลังมีนาคมที่ผ่านมารัฐบาลอินโดนีเซียประกาศยกเลิกมาตรการปิดพรมแดน โดยเดือนแรกหลังไฟเขียวบาหลีเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นต่างชาติราว 14,600 คน และพอถึงกันยายนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นกว่า 290,000 คน
ทว่าก็เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก โดยสำนักข่าว Nikkei ของญี่ปุ่นรายงานผ่านบทความของชาวออสเตรเลียที่อยู่ในบาหลีมาหลายปีว่า ผับบาร์ใหญ่ ๆ ที่กลับมาเปิดก็เปิดเพลงเสียงดังสนั่นราวแผ่นดินไหวไปจนถึงตี 4 ของอีกวัน
ส่วนการจราจรก็กลับมาติดขัดและปริมาณขยะก็เพิ่มขึ้นอย่างมากตามจำนวนนักท่องเที่ยว
บทความดังกล่าวของ Nikkei ที่ตั้งชื่อเมื่อแปลเป็นไทยได้อย่างเห็นภาพว่า เมืองสวรรค์กำลังถูกคุกคาม ยังระบุว่า ชาวบาหลีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาการท่องเที่ยวที่มากล้นเกินพอดี (Overtourism) โดย 8,000 คนได้ลงชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org เพื่อให้ฝ่ายปกครองท้องถิ่นและรัฐบาลอินโดนีเซียเข้ามาแก้ไขและจัดระเบียบการท่องเที่ยว
แม้เรื่องจะไปถึงฝ่ายปกครองท้องถิ่นและรัฐบาลอินโดนีเซีย จนนำมาสู่การออกมาตรการจัดระเบียบโดยเฉพาะการจำกัดระดับความดังของเสียงเพลงในผับบาร์ให้อยู่ที่ 70 เดซิเบล
และให้เปิดได้ถึงตี 1 ของอีกวันเท่านั้น ทว่าในความเป็นจริงก็ไม่ได้มีการบังคับใช้มาตรการจัดระเบียบนี้อย่างจริงจัง
ชาวบาหลีคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านกล่าวว่า นี่เป็นสถานการณ์ที่คนในเมืองกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะถ้าผับปิดแค่ตี 1 และลดระดับความดังของเสียงเพลงลงมา นักท่องเที่ยวก็จะไม่มา
บทความนี้ยังอ้างด้วยว่ารัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวอินโดนีเซียดูจะไม่สนใจต่อปัญหานี้ โดยเขากล่าวว่า “หากอยากอยู่อย่างสงบลดเสียงรบกวน ก็ขึ้นไปอยู่บนภูเขาโน่นเลย”
บทความของ Nikkei สะท้อนถึงปัญหา Overtourism ในบาหลี หลังเปิดประเทศ ขณะที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่นรวมไปถึงรัฐบาลอินโดนีเซียก็ดูจะไม่สนใจแก้ไขปัญหา ด้วยการออกมาตรการจัดระเบียบอย่างหนึ่งอย่างใดเหมือนในแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ
เช่นที่ เวนิส เมืองท่องเที่ยวดังของอิตาลี ได้เก็บค่าเข้าวันละ 3-10 ยูโร (ราว 110 ถึง 3,300 บาท) และภูฏานก็ใช้มาตรการเดียวกัน แต่ในราคาที่แพงกว่าเดิม เพื่อลดปัญหา Overtourism ในบาหลี
จากนี้คงต้องจับตาดูสถานการณ์การท่องเที่ยวในบาหลีว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจนถึงรัฐบาลอินโดนีเซีย จะเข้ามาแก้ไขสถานการณ์อย่างจริงจังก่อนบาหลีช้ำมากไปกว่านี้หรือไม่
เพราะถ้าไม่เร่งแก้ไข บาหลีอาจช้ำลงไปเรื่อย ๆ จนเม็ดเงินที่ได้จากการท่องเที่ยวหลังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเอเชียฟื้นตัวเต็มที่ในอีก 2 ปีข้างหน้านั้นกลายเป็นได้ไม่คุ้มเสีย
ซ้ำร้ายยังมีแนวโน้มว่าในอนาคตอันใกล้สถานการณ์อาจทรุดลงอย่างรวดเร็ว เพราะทัพนักท่องเที่ยวชาวจีนกำลังจะกระจายไปทั่วโลกหลังเปิดประเทศ ซึ่งก็คงมีบางส่วนมาเที่ยวบาหลีด้วย/nikkei
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



