นักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินหลายคนต่างออกมาพูดถึงโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะถดถอยอาจปรากฏขึ้นในเร็ววันนี้ แต่ความยากลำบากในการเข็นให้เศรษฐกิจต้องเติบโตทุกปี ๆ ของประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศร่ำรวยดูจะเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสกว่านั้น
และเมื่อมองไปข้างหน้าเราอาจพบว่าอัตราการเติบโตในระยะยาวของกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ ยุโรป หรือจีนนั้นลดน้อยลงอย่างน่าตกใจ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา อย่างเช่นปัญหาเรื่องมาตรฐานการครองชีพที่ชะงักงัน จากสถิติตัวเลข GDP เฉลี่ยของประเทศร่ำรวยในช่วงระหว่างปี 1980 ถึงปี 2000 จะเติบโตในอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 2.25% ต่อปี แต่หลังจากปี 2000 เป็นต้นมาอัตราการเติบโตของ GDP ก็ลดลงเหลือแค่ประมาณ 1.1% เท่านั้น
ถึงแม้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะสะท้อนถึงปัจจัยบางอย่างที่ไม่เปลี่ยนแปลง อย่างเรื่องการเข้าสู่สังคมของความชรา ปัญหาคือในขณะนี้การฟื้นฟูการเติบโตได้ลดรายการสิ่งที่ต้องทำของนักการเมืองลงอย่างอันตราย นโยบายหาเสียงเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพวกเขามุ่งเน้นไปที่การเติบโตน้อยกว่าเมื่อก่อน และความกระหายในการปฏิรูปเศรษฐกิจก็หายไป
ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เป็นยุคทองของการเติบโตทางเศรษฐกิจเลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคเบบี้บูมได้ผลิตกลุ่มคนงานที่ได้รับการศึกษาดีกว่าคนรุ่นก่อน ๆ และสามารถเพิ่มผลผลิตโดยเฉลี่ยเมื่อพวกเขามีประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น
อีกทั้งในช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 1980 ผู้หญิงในประเทศที่ร่ำรวยหลายประเทศต่างพากันเข้าสู่ตลาดแรงงาน การลดการกีดกันทางการค้า รวมไปถึงการรวมเอเชียเข้ากับเศรษฐกิจโลกทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในปี 1950 ครอบครัวชาวอเมริกันเกือบ 1 ใน 3 แทบจะไม่มีชักโครกใช้ แต่ต่อมาในปี 2000 ผู้คนชาวอเมริกันส่วนใหญ่กลับสามารถมีรถยนต์ได้อย่างน้อยถึงสองคัน
แนวโน้มที่มีส่วนในการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจหลายอย่างได้หยุดลง ทักษะของแรงงานหยุดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้น คนที่อยู่ในภาคแรงงานอีกหลายล้านคนกำลังจะถึงวัยที่ต้องเกษียณตัวเองออกจากการทำงาน การมีส่วนร่วมของแรงงานสตรีก็ลดน้อยลง
เมื่อผู้บริโภคร่ำรวยขึ้น พวกเขาใช้รายได้ไปกับบริการมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นการเพิ่มผลผลิต (Productivity) นั้นจะทำได้ยากขึ้น ภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคม เช่น การขนส่ง การศึกษา และการก่อสร้างมีลักษณะเหมือนกับเมื่อสองทศวรรษที่แล้ว นั่นก็คือไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาอะไร หรือจะเป็นเรื่องการศึกษาในมหาวิทยาลัย ที่พักอาศัย และการดูแลสุขภาพก็ตาม ทั้งหมดเหล่านี้ก็เป็นเรื่องเดิม ๆ ที่ไม่ได้ผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดแต่อย่างใด
เรื่องสังคมผู้สูงอายุไม่เพียงแต่ทำร้ายการเติบโตของเศรษฐกิจโดยตรงเท่านั้น แต่ยังทำให้คนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งพลอยกังวลไปถึงเรื่องที่ GDP จะเติบโตน้อยลงอีกด้วย ว่ากันว่าการเติบโตเป็นเรื่องของพนักงานที่ยังกินเงินเดือนอยู่ ไม่ใช่เรื่องที่ผู้รับบำนาญที่มีรายได้ประจำหลังเกษียณที่จะต้องมากังวล
The Economist ได้วิเคราะห์แถลงการณ์ทางการเมืองของบรรดานักการเมืองในประเทศร่ำรวย พบว่าความรู้สึกต่อต้านการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่พวกเขามีอยู่เพิ่มขึ้นประมาณ 60% นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 รัฐสวัสดิการได้ให้ความสำคัญกับการให้เงินบำนาญและการดูแลสุขภาพแก่ผู้สูงอายุมากกว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตหรือการพัฒนาคนที่จะเติบโตไปเป็นกำลังหลักทางเศรษฐกิจในเจเนอเรชันต่อไป
การสนับสนุนการปฏิรูปที่ส่งเสริมการเติบโตได้จางหายไปอย่างสิ้นเชิงแล้วในตอนนี้
แม้ว่านักการเมืองจะบอกว่าพวกเขาต้องเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่พวกเขาก็ทำเหมือนกับว่าไม่อยากให้มันเป็นแบบนั้น ซึ่งปัญหาการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและความเสื่อมโทรมทางการเมืองได้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรอย่างชัดเจน
นับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา การเติบโตของ GDP ต่อคนต่อปี (GDP Per Capita) เฉลี่ยนั้นอยู่ในระดับเพียงแค่ 0.4% เท่านั้น การออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ของสหราชอาณาจักรได้ทำลายการค้าระหว่างประเทศและได้สร้างความหวาดกลัวต่อการลงทุนในประเทศเหล่านี้
ในเดือนกันยายน 2022 Liz Truss ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ โดยเธอสัญญาว่าจะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจด้วยการลดภาษีขาดดุล แต่สิ่งที่ได้รับกลับกลายเป็นการจุดชนวนวิกฤตการเงินแทน
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่าง Donald Trump เองก็เคยให้สัญญากับประชาชนว่าจะทำให้ GDP เติบโตปีละ 4% แต่ก็อย่างที่เห็นเขากลายเป็นตัวขัดขวางความเจริญในระยะยาวของสหรัฐฯ ด้วยการมีปัญหากับคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างจีน อันเป็นการบ่อนทำลายระบบการค้าโลกในช่วงเวลาที่เขาอยู่ในตำแหน่ง
ในตอนนั้นรัฐบาลอเมริกาได้เปิดเผยกฎระเบียบใหม่ถึง 12,000 ฉบับแค่ในระยะเวลาเพียงปีเดียว และทรัมป์ดูจะเชื่อว่านโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ การปกป้องผลประโยชน์ของชาติ และการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นหนทางสู่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ แต่ผลผลัพธ์ก็เห็นได้ชัดว่าออกมาตรงกันข้าม ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะความเชื่อผิด ๆ ที่ว่าทุนนิยมเสรีหรือการค้าเสรีเป็นตัวการที่ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลง
อันที่จริงแล้ว การลดลงของจำนวนประชากรหมายความว่าการปฏิรูปแบบเสรีนิยมที่ส่งเสริมการเติบโตมีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา สิ่งเหล่านี้จะไม่ทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นไปในแบบก้าวกระโดดเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 อีกแล้ว
แต่การเปิดรับการค้าเสรี รวมไปถึงการคลายกฎการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิรูประบบการอพยพ และการทำให้ระบบภาษีเป็นมิตรกับการลงทุนทางธุรกิจมากขึ้น ก็อาจเป็นการช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตของ GDP ได้ ซึ่งถ้าจะให้พูดตามความเป็นจริง บางทีการเติบโตในปัจจุบันที่ต่ำมากเสียจนทุกการเติบโตของบางภาคส่วนเพียงเล็กน้อยก็อาจมีความสำคัญได้ และเมื่อเวลาผ่านไปก็จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่ได้มากขึ้น
ในขณะนี้ประเทศตะวันตกกำลังถูกทำให้ดูดีโดยจีนและรัสเซียซึ่งถูกมองว่าเป็นประเทศเผด็จการ และทั้งคู่ต่างก็สร้างบาดแผลทางเศรษฐกิจอย่างสาหัสให้กับประเทศตัวเองรวมถึงประเทศคู่ค้าอื่น ๆ และในปี 2023 ที่กำลังจะมาถึงนี้เราอาจได้เห็นประเทศร่ำรวยที่เป็นประชาธิปไตยเผชิญภาวะความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจลดลงและบทบาททางเศรษฐกิจต่อเวทีโลกก็จะอ่อนแอลงไปด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



