สุกี้ตี๋น้อย และ โอ้กะจู๋ ภายใต้การผลักดันของผู้ร่วมทุนยักษ์ใหญ่จะเป็นอย่างไร ? 

ดีลใหญ่ระหว่าง“สุกี้ตี๋น้อย” กับ บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) “JMART”

 เเละ “โอ้กะจู๋” กับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) “โออาร์”

เป็นดีลระหว่างธุรกิจรายเล็กของคนวัยหนุ่ม-สาว กับบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่น่าจับตามอง 

สุกี้ตี๋น้อย มี JMART เข้ามาทุ่มงบ 1,200 ล้านบาทถือหุ้น 30% เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา 

วันนี้ JMART มีบริษัทในเครือกว่า 20 บริษัท  รวมมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท

และอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่วันนี้คือมหาเศรษฐีอันดับที่ 37 ของเมืองไทย

 ธุรกิจหลักของ JMART คือตามหนี้, มือถือ, เรียลเอสเตท, เทคโนโลยี, สินเชื่อ, สินค้าเงินผ่อน, ธุรกิจประกัน ฯลฯ

การเข้าไปซื้อหุ้น สุกี้ตี๋น้อย คือการเปิดแนวรบใหม่ทางด้านธุรกิจไลฟ์สไตล์ของเขา หลังจากซื้อหุ้นร้านกาแฟ “คาซ่า ลาแปง” ไปก่อนหน้านี้

อดิศักดิ์มีแนวความคิดว่าต่อไปธุรกิจในอาณาจักรของJMART ต้องเป็น Mass ทั้งหมด เพื่อเป็นการสะสม ฐานข้อมูล (Data) เพราะต่อไปในโลกของธุรกิจคนที่มี Data เเละคนที่บริหาร Data ได้ดี คือผู้ชนะในที่สุด

สุกี้ตี๋น้อยเองก็มีลูกค้าประมาณ 40,000 คนต่อวัน มีจุดเเข็งเเละการเติบโตที่น่าสนใจ เป็นหนึ่งในแบรนด์ร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

ในช่วงวิกฤตโควิดปี 2563 ยังสามารถทำรายได้ถึง1,223 ล้านบาท กำไร 140 ล้านบาทปี 2564 รายได้ 1,572 ล้านบาท กำไร 148 ล้านบาท

การที่JMARTใส่เงินเข้าไป นำเทคโนโลยีเข้ามาเสริม จะทำให้ตี๋น้อยขยายสาขาได้อย่างก้าวกระโดดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รวมทั้งสามารถขยายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจร้านอาหารออกไปได้อีกหลากหลายแบรนด์ อย่างที่ “นัทธมน พิศาลกิจวนิช” ผู้ก่อตั้ง สุกี้ตี๋น้อย คาดหวัง

สิ้นปี 2565 ตี๋น้อย มีจำนวนสาขาในปัจจุบัน 42 สาขา ถูกวางแผนให้ขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 10 สาขาในปี 2566 โดยจะเน้นการขยายในต่างจังหวัด

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564  โออาร์ ได้เข้าไปร่วมถือหุ้นในบริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ “โอ้กะจู๋” สัดส่วน 20% มูลค่าลงทุน 500 ล้านบาท

เป็นการตอกย้ำภาพทิศทางในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสร้างโอกาสในการเติบโตร่วมกันแบบ Inclusive Growth สำหรับธุรกิจทุกขนาด ตามเป้าหมายของโออาร์

โดยมีงบที่วางไว้เพื่อลงทุนเองและร่วมลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท และตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีกำไรที่เกิดจากการเข้าร่วมลงทุนไม่ต่ำกว่า 50% ภายในปี 2030

จุดเด่นของโอ้กะจู๋ คือผู้ดำเนินกิจการร้านอาหารเพื่อสุขภาพ  ปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ และสดใหม่เพราะส่งตรงจากฟาร์มผักขนาดใหญ่ที่จังหวัดเชียงใหม่

ยังเป็นบริษัทที่รายได้เติบโตมาโดยตลอดก่อนที่จะมาสะดุดช่วงวิกฤตโควิด-19 เเต่ปีที่ผ่านมาคาดว่ารายได้สามารถเเตะที่ 1,000 ล้านบาท 

และวางเป้าหมายรายได้ในปี 2567  ไว้ที่ 2,000 ล้านบาท  

เมื่อจับมือกับโออาร์ก็สามารถก้าวกระโดดต่อโดยทันที ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปขยายสาขาในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station การจำหน่ายอาหารแบบ Grab & Go ผ่านร้าน Café Amazon

เมื่อต้นปี 2564 มีร้านอยู่ 14 สาขา และได้ตั้งเป้าขยายเพิ่มเป็นเป็น 80 สาขาในปี 2566

ที่แน่นอนแล้วคือ ปีนี้จะขยายเพิ่มใน 6 สาขาหลัก ๆ ทางภาคตะวันออก เช่น ชลบุรี ระยอง ศรีราชา และรูปแบบ Drive Thru ที่สาขาบางใหญ่ รวมทั้งร้านใหญ่ในแฟลกชิปใหม่ของ PTT Station บนถนนวิภาวดี ที่กำลังก่อสร้าง

และยังวางแผนไกลขยายสาขาไปในประเทศ CLMV

เงินลงทุนจากโออาร์ยังเอามาขยายธุรกิจทั้งการนำเทคโนโลยี Smart Farm มาใช้ เพื่อทำให้ได้ผลผลิตที่สม่ำเสมอและมีคุณภาพ การสร้างครัวกลางที่จังหวัดเชียงใหม่ และการสร้างศูนย์กระจายสินค้า เพื่อรองรับการขยายสาขาไปยังภูมิภาคต่าง ๆ

เป้าหมายของของผู้บริหารเจมาร์ทออกมาประกาศว่าจะผลักดัน สุกี้ตี๋น้อย ให้เข้าตลาดฯ ภายในปี 2567

เช่นเดียวกับ โอ้กะจู๋ ที่ผู้บริหารของโออาร์ก็ยืนยันว่าสามารถนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เช่นกันในปีหน้า

การเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือเป้าหมายสำคัญที่มั่นใจว่าจะทำให้ทั้งสุกี้ตี๋น้อยและ โอ้กะจู๋  เพิ่มSpeed ในการเติบโตขึ้นไปอีก

แน่นอนทั้ง ทั้ง โอ้กะจู๋ เเละสุกีตี๋น้อย คือแบรนด์เลิฟของหลาย ๆ คน

ดังนั้น อาจจะต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนที่ผู้ร่วมทุนยักษ์ใหญ่วางไว้อย่างสวยงามได้จริงหรือไม่

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน