ปี 2565 เอสซีจี รายได้เพิ่ม 7% เป็น 569,609 ล้านบาท แต่กําไรลดลง 55% เหลือเพียง 21,382 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 15 ปี นับจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

ทำไม บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ที่มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และให้ความสำคัญในเรื่องลดต้นทุนมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ยังได้รับผลกระทบกับเม็ดเงินกำไรอย่างมาก

และการที่ต้องเจอกับวิกฤตซ้อนวิกฤตมาตลอดในรอบหลายปี องค์กร 110 ปี แห่งนี้จะพลิกเกม “สู้” อย่างไร

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี บอกว่า ถึงแม้ปี 2566 นี้สัญญาณเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่วางใจไม่ได้เลย ไม่รู้ว่าข้างหน้าจะมีวิกฤตเรื่องอะไรเข้ามาอีก เร็วแค่ไหน และจะหนักกว่าเดิมหรือเปล่า

ดูเหมือนว่าวันนี้ คนของเอสซีจีไม่มี Comfort Zone อีกต่อไป

ตามไปฟังวิธีคิดในการรับมือของเขากัน

“เราเตรียมตัวมานานเรื่องลดต้นทุนและการเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่ทำไมยังขาดทุน ต้องบอกว่าคราวนี้แรงจริง  ทุกอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เฉพาะวิกฤตพลังงานสูงที่ต้นทุนสูงอย่างเดียว แต่ความต้องการสินค้าก็ลดลงด้วย ผู้ผลิตภาคส่วนต่าง ๆ ต้องลดกำลังการผลิตลงตาม เพราะลูกค้าไม่ต้องการ กระทบไปทั้งซัปพลายเชน”

สิ่งหนึ่งที่ไม่เจอมาหลายปีคือต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นมาจากช่วงวิกฤตปี 1997 ดอกเบี้ยเคยลงมาตลอด แต่ตอนนี้กำลังหักหัวขึ้น

“ผมต้องบอกว่า ทีมงานเอสซีจีพยายามแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างเต็มที่ แต่ไม่สามารถต้านได้ เชื่อว่าธุรกิจอื่น ๆ ที่มีรูปแบบคล้ายกับเราก็คงได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน”

เหตุผลหลักของการขาดทุนนั้น แม่ทัพใหญ่ของเอสซีจีกล่าวว่า เป็นผลจากวิกฤตซ้อนวิกฤตที่ต่อเนื่องมาหลายปี จากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานทั้งถ่านหินและค่าไฟพุ่งสูงขึ้นอย่างมากเป็นประวัติการณ์ เงินเฟ้อ ค่าเงินบาทผันผวน เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และวัฏจักรปิโตรเคมีขาลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี

“ไม่ใช่เป็นเพราะเอสซีจีขายของไม่ได้ หรือแนวทางในเรื่องธุรกิจผิดพลาด เพราะบริษัทยังขายของได้ดีรายได้เพิ่มขึ้น แต่กำไรน้อยลงจากต้นทุนที่สูงขึ้น

แล้วจะพลิกเกมสู้อย่างไร 

1. อย่างแรกเลย ฐานะการเงินเราต้องเข้มแข็ง แล้วไม่รู้ว่าวิกฤตจะอยู่กับเรานานแค่ไหน เงินก็เหมือนกับเส้นเลือด ที่ต้องมีเลือดหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา แต่จะใช้เงินที่มีอยู่อย่างไรให้เหมาะสมเป็นเรื่องที่ต้องคิดกันมากขึ้น

2. คือการลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด ลงทุนด้วยความระวังตัวมากขึ้น รวมทั้งการนำพลังงานสะอาดเข้ามาใช้ให้มากขึ้น

3. ในเรื่องสินค้าที่เป็นกรีน ต้องพัฒนาออกมาให้ทันความต้องการ รวมทั้งรุกเข้าสู่ 3 ธุรกิจใหม่ที่เป็นโอกาสคือ

1. เรื่องพลังงานหมุนเวียน 2. ธุรกิจโลจิสติกส์ ครบวงจรรายใหญ่ในอาเซียน ซึ่งการที่ SCG ส่งบริษัทลูกรวมกิจการกับ JWD เป็นบริษัทใหม่ บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) (“SCGJWD”) ก็เพื่อมาเสริมธุรกิจโลจิสติกส์นี้

3. ธุรกิจ Smart Living ที่มีโซลูชันเพื่อธุรกิจ เช่น SCG Active AIR Quality SCG Bi-ion และ SCG HVAC Air Scrubber โซลูชันจัดการคุณภาพอากาศ กำจัดเชื้อโรค และลดการใช้พลังงานในอาคาร ขณะนี้ได้ติดตั้งแล้วในหลายอาคาร ที่จะสามารถขยายไปได้อย่างมาก

ปัจจุบันฐานะทางการเงินของเอสซีจียังคงแข็งแกร่ง สิ้นปีที่ผ่านมายังมีเงินสดเหลืออยู่ในมือถึง 9.5 หมื่นล้านบาท

“การเน้นในเรื่องการใช้เงิน หาธุรกิจใหม่มุ่งสู่เรื่องกรีน เป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ เช่นกัน คือคน เพราะคนคือผู้ที่พาองค์กรให้พ้นวิกฤต ทำอย่างไรที่จะรักษาคนไว้ให้ได้ ผมเชื่อว่าวิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เจอ เราไม่รู้ว่าจะมาอีกทีเมื่อไหร่ เร็วขนาดไหน เมื่อ cash คือเส้นเลือด คนก็คือกล้ามเนื้อจะต้องมีสองส่วนนี้ถึงข้ามวิกฤตไปได้

สำหรับรายละเอียด ในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ นั้น มีรายละเอียดคือ

 ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “จากวิกฤตต้นทุนพลังงานทั้งถ่านหินและค่าไฟที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เอสซีจีจึงรุกธุรกิจพลังงานสะอาด  โดยมีขนาดกำลังการผลิต 234 เมกะวัตต์ ในปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 78 จากปีก่อน ด้วยระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Grid สำหรับนิคมอุตสาหกรรม เครือข่ายโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงพยาบาล

ล่าสุดติดตั้งแล้วที่กลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง เชื่อมโยงพลังงานสะอาดระหว่าง 10 บริษัท ช่วยลดต้นทุนพลังงาน ร้อยละ 30 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 3,670 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ซึ่งธุรกิจนี้ต่อยอดจากความเชี่ยวชาญด้านพลังงานสะอาดของเอสซีจี เพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น ตามการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงานในตลาดโลก โดยปี 2565 เอสซีจีเพิ่มสัดส่วนใช้เชื้อเพลิงทดแทนเป็นร้อยละ 34 จากร้อยละ 26 ในปีก่อน และมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 194 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจาก 130 เมกะวัตต์ในปีก่อน

ขณะเดียวกัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมทั้งกำลังพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและใช้ประโยชน์คาร์บอน (Carbon Capture and Utilization-CCU) จากการผลิตปูนซีเมนต์ในไทยและอาเซียน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero 2050 โดยร่วมกับ นิปปอน สตีล เอ็นจิเนียริ่ง และ ไทยนิปปอน สตีล เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น”

 ธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า “SCGC เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก “SCGC GREEN POLYMERTM” ต่อเนื่อง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดโลก มียอดขายกว่า 140,000 ตัน เติบโตกว่า 5 เท่า ในปีที่ผ่านมา

อีกทั้งได้ขยายเข้าสู่ธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกครบวงจร โดยลงนามซื้อกิจการของคราส (Kras)/Recycling Holding Volendam B.V. ผู้นำด้านการจัดการวัสดุเหลือใช้จากประเทศเนเธอร์แลนด์ จึงช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจฯ ตั้งแต่การจัดเก็บ คัดแยก ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ครอบคลุมภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม ทั้งนี้พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจาก SCGC ได้รับมาตรฐานสากลจากหลายองค์กรชั้นนำระดับโลก อาทิ EuCertPlast จากยุโรป ซึ่งรับรองแหล่งที่มาของวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลว่ามาจากพลาสติกใช้แล้ว ช่วยลดปัญหาขยะ และมาตรฐาน Recyclass จากการพัฒนาสารเคลือบชั้นฟิล์มที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรีไซเคิลให้กับบรรจุภัณฑ์พลาสติก

ถือเป็นรายแรกในอาเซียน ขณะเดียวกัน บริษัท ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ จำกัด (Long Son Petrochemicals Company Limited-LSP) โครงการปิโตรเคมีครบวงจร ที่เวียดนาม คืบหน้ากว่าร้อยละ 98 พร้อมเดินเครื่องผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดกลางปีนี้”

นิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจี เร่งผลักดันธุรกิจสมาร์ท ลิฟวิ่ง โดยเฉพาะโซลูชันเพื่อประหยัดพลังงานและค่าไฟ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในช่วงค่าไฟปรับตัวสูง โดยในปี 2565 เติบโตกว่าร้อยละ 40 อาทิ  “SCG Air Scrubber” นวัตกรรมประหยัดพลังงานระดับโลก

สำหรับอาคารขนาดใหญ่ ศูนย์ประชุม หรือห้างสรรพสินค้า มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดพลังงานได้ถึงร้อยละ 20-30 ติดตั้งแล้ว 7 อาคารขนาดใหญ่ เช่น ศูนย์การค้า Terminal 21 สาขาพัทยา, Kloud by Kbank สยามสแควร์  ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี จึงจะมีโครงการลงทุนขยายรุ่นสินค้าตามความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ ได้พัฒนา “SCG Built-in Solar Tile” นวัตกรรมแผงโซลาร์สำหรับบ้านสไตล์โมเดิร์น ที่ออกแบบเนียนเรียบไปกับผืนหลังคา ช่วยลดค่าไฟได้ร้อยละ 60”

 วิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า “SCGP กำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนานวัตกรรม เพิ่มโซลูชันบรรจุภัณฑ์ ตั้งงบลงทุนและค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในปี 2566 รวม 800 ล้านบาท โดยพัฒนานวัตกรรม “เส้นใยนาโนเซลลูโลส” จากวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์อาหาร

พร้อมขยายไปยังอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ และวัสดุคอมโพสิต รวมถึงต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สู่การปลูกพืชและสมุนไพรมูลค่าสูง ตลอดจนมุ่งพัฒนาวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตมาเป็นพลังงานหมุนเวียน โดยอยู่ระหว่างการพัฒนา “เทคโนโลยี Torrefaction” เพื่อใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เสริมการดำเนินงานด้าน ESG”

สำหรับ “งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบของเอสซีจี ประจำปี 2565 มีรายได้จากการขาย 569,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากปีก่อน จากธุรกิจแพคเกจจิ้ง และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง โดยมีกำไรสำหรับปีอยู่ที่ 21,382 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 55 จากปีก่อน สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาขายสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับลดลง ต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง ทั้งนี้ หากไม่รวมการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ รายการด้อยค่าสินทรัพย์ และรายการอื่น จะมีกำไรสำหรับปีอยู่ที่ 23,270 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 50 จากปีก่อน

เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) ปี 2565 อยู่ที่ 195,520  ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34 ของยอดขายรวม ทั้งนี้ ยังมีสัดส่วนของการพัฒนาสินค้าใหม่ (New Products Development – NPD) คิดเป็นร้อยละ 17 และ Service Solutions คิดเป็นร้อยละ 6 ของยอดขายรวม

รายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทยในปี 2565 ทั้งสิ้น 257,880 ล้านบาท

คิดเป็นร้อยละ 45 ของยอดขายรวม ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีมูลค่า 906,490 ล้านบาท โดยร้อยละ 45 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน (นอกเหนือจากไทย)

 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน