ธุรกิจไหน ที่มีโอกาส เร่งเครื่อง
ธุรกิจไหน มีความเสี่ยง สโลว์ดาวน์
เมื่อลงทุนไปแล้วต้องมีผลลัพธ์ที่ชัดเจนว่าได้ตามเป้าหมาย ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น กล่าวในงาน เซ็นทรัล รีเทล CEO Forum 2023 เพื่อเปิดเผยทิศทางของเซ็นทรัล รีเทล 5 ปี ต่อจากนี้
ภายใต้แนวทางของเซ็นทรัลรีเทล ในการบริหารของญนน์ ใช้งบประมาณลงทุน 1.5 แสนล้านบาท ไปจนถึงปี 2027 งบประมาณนี้เป็นการให้ความสำคัญกับคอร์บิซิเนสเป็นหลัก และขยายไปยัง Category ใหม่ ๆ ไม่รวมงบประมาณ M & A (Mergers and Acquisitions) ในธุรกิจต่าง ๆ ที่สนใจ
เพื่อพารายได้ของเซ็นทรัล รีเทล เติบโต 2.5 เท่าเมื่อสิ้นสุดปี 2027
ซึ่งรายได้ของเซ็นทรัล รีเทล รายงานกับตลาดหลักทรัพย์ฯ 9 เดือนในปีที่ผ่านมามีมูลค่า 136,889 ล้านบาท
ส่วนรายได้ทั้งปี เซ็นทรัล รีเทล ยังไม่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ
การเติบโตของเซ็นทรัล รีเทล ตามที่ญนน์ได้กล่าว คือมีทั้งสโลว์ดาวน์ และเร่งในธุรกิจที่มีโอกาส
การสโลว์ดาวน์ของธุรกิจที่เห็นในปัจจุบัน คือการลดบทบาท แฟมิลี่มาร์ท ลง
โดยแฟมิลี่มาร์ทเป็นร้านสะดวกซื้อ ที่กลุ่มเซ็นทรัล รีเทลเข้าถือหุ้นเต็ม 100% ในปี 2563 หลังจากที่ Japan FamilyMart Co., Ltd. บริษัทแม่ประเทศญี่ปุ่น หุ้นส่วนหลักในแฟมิลี่มาร์ทในไทยกับกลุ่มเซ็นทรัล รีเทลมาอย่างยาวนาน ขายหุ้นทั้งหมดเพื่อยุติการลงทุนในประเทศไทย
ในตอนนั้น เซ็นทรัล รีเทล มองว่า แฟมิลี่มาร์ทจะเข้ามาเสริมแกร่งให้กับเซ็นทรัล รีเทลในรูปแบบ Central Retail & Service Platform ตอกย้ำความเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีก
ส่วนปัจจุบัน ญนน์มองว่า รูปแบบของแฟมิลี่มาร์ทไม่ตอบโจทย์เทรนด์ความต้องการสินค้าที่หลากหลายของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน จากพื้นที่ของแฟมิลี่มาร์ทอยู่ในรูปแบบร้านไซซ์เล็ก ที่มีพื้นที่โดยประมาณ 150 ตร.ม. เท่านั้น
ส่วน Tops มีพื้นที่ที่ใหญ่กว่า ด้วยพื้นที่ประมาณ 250 – 300 ตร.ม. ตอบโจทย์สินค้าที่ครอบคลุมกว่า และขยายสาขาเข้าถึงทำเลใกล้บ้านมากขึ้น
อนาคตของธุรกิจของแฟมิลี มาร์ท ญนน์ยังไม่ให้คำตอบแน่ชัดว่าจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป แต่เขาได้กล่าวว่า เซ็นทรัล รีเทล พยายามทำให้พอร์ตโฟลิโอมีความยืดหยุ่น เพราะธุรกิจมีทั้งน้ำขึ้นน้ำลง ธุรกิจที่ไม่ตอบโจทย์กับกลยุทธ์บริษัท ไม่ Exit ก็ขายไป
ส่วนธุรกิจที่ญนน์ต้องการเร่งเครื่องสร้างการเติบโตตามเป้าหมายยังคงประกอบด้วย
1. เร่งเครื่องผ่าน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่
กลุ่มแฟชั่น ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายห้างสรรพสินค้าลักชัวรีในยุโรปของกลุ่มเซ็นทรัล ต่อยอดธุรกิจแฟชั่นครบทุกความต้องการของลูกค้า ทั้งสินค้าใหม่ แบรนด์ใหม่ และเชื่อมต่อแพลตฟอร์มของห้างลักชัวรีทั้งหมด เพื่อให้ลูกค้าสามารถช้อปปิ้งจากทุกห้างของกลุ่มได้ทุกที่ทุกเวลา
กลุ่มฟู้ด ให้ความสำคัญกับการผลักดันตลาดผ่านท็อปส์ในประเทศไทย และตลาดฟู้ดในเวียดนาม
กลุ่มฮาร์ดไลน์ เร่งเครื่องขยายสาขาใหม่ของไทวัสดุ ไทวัสดุ ไฮบริดฟอร์แมท
และพร็อพเพอร์ตี้ ผ่านโรบินสันไลฟ์สไตล์ และศูนย์การค้า GO! Mall ในเวียดนาม
ทั้ง 4 กลุ่มนี้เป็นการเร่งเติบโตทั้งไทย, เวียดนาม และอิตาลี 3 ประเทศที่เซ็นทรัล รีเทล เข้าไปทำธุรกิจ ตามความเหมาะสมแต่ละพื้นที่
ในประเทศไทยเร่งขยายธุรกิจผ่านการขยายสาขาและรีโนเวตสาขาเดิมที่มีอยู่
เซ็นทรัลขยายสาขาเพิ่ม 2 สาขา และรีโนเวตสาขาเดิม 15 สาขา
ไทวัสดุ ขยายสาขาเพิ่ม 10 สาขา และรีโนเวต 16 สาขา
ท็อปส์ ขยายสาขา 15 สาขา และรีโนเวต 26 สาขา เพื่อผลักดันแบรนด์ท็อปส์ ขึ้นเป็น Food Discovery & Destination
ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ขยายสาขา 2 สาขา โดยหนึ่งสาขา ไปกับ CPN และอีก 1 สาขาอยู่ในโรบินสันไลฟ์สไตล์มอลล์
ส่วนโรบินสันไลฟ์สไตล์มอลล์ ซึ่งเป็นธุรกิจในกลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ มีการขยายสาขา 1 สาขา รีโนเวต 1 สาขา เพื่อพาตัวเองขึ้นแทนผู้นำศูนย์การค้า Lifestyle and Experiential Community
รวมถึงขยายสาขา Go ที่นำร่องทดลองตลาดในนครศรีธรรมราชจากปัจจุบันมี 4 สาขา ให้เพิ่มขึ้นในนครศรีธรรมราชอีกด้วย
ในเวียดนามให้ความสำคัญกับการเร่งเครื่องบุกตลาดผ่านกลุ่มฟู้ด ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด รวมถึงขยายอาณาจักร GO! Mall และ Hyper Market ซึ่งปัจจุบันมีสาขารวมกัน 38 สาขา โดยโมเดลไฮเปอร์มาร์เก็ต GO! เป็นเบอร์หนึ่งในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตในเวียดนาม และโมเดล GO! Mall เป็นเบอร์สองในธุรกิจ Mall ในเวียดนาม
และซูเปอร์มาร์เก็ตผ่าน Mini go, ท็อปส์ ที่มีอยู่ 37 สาขา
ทั้งหมดนี้ครอบคลุม 41 จังหวัดในเวียดนาม และยังมีช่องว่างที่จะเติบโตอีกมาก จากประชากรเวียดนามมีจำนวนที่มากกว่าประเทศไทย และเวียดนามยังเป็นตลาดที่มีโมเดิร์นเทรดเพียง 5% เมื่อเทียบกับไทยที่มีถึง 50%
เซ็นทรัล รีเทล มีแผนเปิด GO! Mall และ GO! Hypermarket เพิ่มในเวียดนาม 5-7 สาขา รีโนเวต 10 สาขา ภายในปี 2024
ส่วน Mini go และ ท็อปส์ เปิดสาขาใหม่ 8-10 สาขา
รวมถึงในกลุ่มฮาร์ดไลน์ เปิดแบรนด์ Nguyenkim เพิ่มอีก 5 สาขา และรีโนเวตของเดิม 10-12 สาขา
ส่วนอิตาลีมีการปรับเปลี่ยนและปรับปรุงโฉมใหม่และสามารถสร้างยอดจำหน่ายสูงกว่าช่วงพรีโควิดแล้ว เนื่องจากตลาดลักชัวรีไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากนัก
2. ปรับปรุงออมนิชาแนลให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น สู่ Next-Gen Omni Retail ด้วยการนำเทคโนโลยีและระบบต่าง ๆ ที่ดีที่สุดทั่วโลกมาใช้ โดยให้ความสำคัญกับระบบ Search Engine ความเสถียรและความเร็วในการให้บริการ บนแพลตฟอร์มในรูปแบบ Experience Driven แบบไร้รอยต่อ เพื่อต่อสู้กับไทม์แชร์ของลูกค้าที่มีเวลาจำกัด
เพราะที่ผ่านมายอดลูกค้าซื้อสินค้าในรูปแบบออมชาแนลมีสัดส่วน 18% แต่มียอดใช้จ่ายมากกว่าซิงเกิลชาแนลถึง 4 เท่า
และเซ็นทรัล รีเทล ต้องการขยายกลุ่มลูกค้าผ่านออมนิชาแนลเพิ่มเป็น 25% ในอนาคต
3. ขยายสู่ธุรกิจใหม่ ๆ
ในครึ่งปีหลัง 2023 เซ็นทรัล รีเทล มีแผนขยายไปยังธุรกิจใหม่อีก 1 ธุรกิจ
โดยในปีที่ผ่านมามีการขยายไปยังธุรกิจ Health & Wellness ผ่าน Tops Care, Tops Vita และ Pet’N Me
4. ขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วผ่านการร่วมมือกับพันธมิตร และการทำ M & A
รวมถึงนำ MEB แพลตฟอร์มอีบุ๊กที่มีอยู่ในมือเข้าตลาดหลักทรัพย์ MAI เพื่อเสนอขายหุ้น IPO ให้กับประชาชนทั่วไปในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2023 ที่จะถึงนี้
เพราะญนน์วางเป้าที่ชัดเจนว่า ธุรกิจในเซ็นทรัล รีเทล ถ้าเป็นเบอร์ 1 ในตลาดจะรักษาเบอร์หนึ่งอย่างต่อเนื่อง และถ้าเป็นเบอร์สองจะต้องขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดให้ได้
ส่วนปี 2023 เซ็นทรัล รีเทล วางเป้าหมายรายได้ 270,000 ล้านบาท เติบโตมากกว่า 15% จากปีที่ผ่านมา ผ่านงบลงทุน 28,000 ล้านบาท
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



