คุยกับ SKY บริษัทไอที โซลูชัน ที่เชื่อว่า สนามบินเป็น First Impression ของนักท่องเที่ยว กับเป้าที่ต้องการมีส่วนสร้าง Ecosystem ท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน ด้วยแอป SAWASDEE by AOT     

และแง้ม Marketeer ที่แรก เตรียมปล่อยฟีเจอร์ Airport Smart Parking (ชื่อไม่เป็นทางการ) แสดงที่จอดรถยนต์ว่าง ในสนามบินสุวรรณภูมิ (รหัส IATA-BKK) และ ดอนเมือง (รหัส IATA-DMK) พร้อมจ่ายเงินจองล่วงหน้าได้ทันที ภายใน พ.ค. นี้ 

นายขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY เผยว่า ปัจจุบัน SKY วางตัวเป็นผู้ให้บริการ ไอที โซลูชัน (IT Solution) และ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม (Digital Platform) ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินเป็นหลัก 

โดยส่งมอบประสบการณ์การเดินทางที่ดีที่สุดให้กับผู้โดยสาร ผ่านบริการต่าง ๆ อาทิ การรวมระบบ, แอปพลิเคชัน, ระบบรักษาความปลอดภัย และบริการอำนวยความสะดวกภายในท่าอากาศยานหลักทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (รหัส IATA-BKK), ดอนเมือง (รหัส IATA-DMK), เชียงใหม่ (รหัส IATA-CNX), แม่ฟ้าหลวง เชียงราย (รหัส IATA-CEI), ภูเก็ต (รหัส IATA-HKT) และหาดใหญ่ (รหัส IATA-HDY)

อ่าน ทำไมรหัสสนามบิน ตัวอักษรถึงไม่เหมือนชื่อจังหวัด

หรือเรียกให้เห็นภาพ คือ แอร์พอร์ต เซอร์วิส (Airport Services) ด้านเทคโนโลยี (Technology) ต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในสนามบินนั่นเอง 

First Impression เริ่มตั้งแต่ที่สนามบิน

เพราะ SKY มองว่า สนามบินเป็นความประทับใจแรกพบ (First Impression) ของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศนั้น ๆ และสะท้อนถึงคุณภาพกับความพร้อมของการให้บริการ ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้มาเยือนอีกด้วย     

โดยหนึ่งในโปรดักต์หลักของ SKY ซึ่งทำงานร่วมกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา อย่างแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT 

อ่าน SKY ผนึก AOT ยกระดับแอป SAWASDEE by AOT รับท่องเที่ยวฟื้น

นทท. จีนตัวแปรสำคัญ

โดยยูสเซอร์ (User) ที่เข้ามาแอคทีฟ หรือลงทะเบียนเข้าใช้งานกับ SAWASDEE by AOT ที่ SKY ตั้งเป้าไว้ที่ 1,500,000 ยูสเซอร์ ภายในปี 2566 และ 4,000,000 ยูสเซอร์ ภายในปี 2568 เป็นสัดส่วนของชาวต่างชาติ 70% และ คนไทย 30%    

อัปเดตตัวเลขตอนนี้มีอยู่แล้วประมาณ 630,000 ยูสเซอร์ แบ่งเป็นยูสเซอร์ที่แอคทีฟในไทย 50% และจากต่างประเทศ 50% ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดในญี่ปุ่น, อินเดีย และจีน ที่เริ่มขยับขึ้นมาหลังการเปิดประเทศ ทั้งมียูสเซอร์ที่เข้ามาใช้งานไม่ต่ำกว่า 5 นาทีต่อครั้ง ประมาณ 80% 

โดยเชื่อว่าการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจีนเต็มสูบของไทยหลังจากนี้ จะทำให้ SKY ไปถึงเป้าที่วางไว้นี้ได้ หลังอ้างอิงข้อมูลจาก AOT พบว่าตั้งแต่วันที่ 8-31 มกราคม 2566 นับเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ 

มีผู้โดยสารเดินทางเข้า-ออก 138,287 คนต่อวัน หรือฟื้นตัวสูงถึง 317% จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 ทั้งคาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จนอาจจะทำให้ทั้งปีนี้มีจำนวนเฉลี่ยถึงวันละ 180,000 คน 

ต้องการเป็น Ecosystem ด้านท่องเที่ยวทั่วไทย   

การดำเนินงานของ SAWASDEE by AOT ทาง SKY ไม่ได้ต้องการให้กระจุกตัวอยู่เพียงสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองเท่านั้น แต่ต้องการสร้างอีโคซิสเต็ม (Ecosystem) ด้านการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย ที่เริ่มต้นได้ตั้งแต่ที่สนามบิน

ผ่านการทำงานของทีม SKY ทั้งหลังบ้านและภาคสนามที่ประจำการอยู่ในท่าอากาศยานหลัก 6 แห่ง รวมกว่า 200 คนในปัจจุบัน ทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสให้ภาคแรงงานบริการที่เป็นคนรุ่นใหม่

อย่างการลงนามความร่วมมือ (Memorandum of Understanding หรือ MOU) กับสถาบันการศึกษา เพื่อนำนักศึกษารุ่นใหม่ ๆ ที่กำลังศึกษา หรือเรียนจบใหม่ในสายงานบริการ ซึ่งอยากทำงานที่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เข้าสู่ระบบแรงงานของท่าอากาศยาน

Payment Gateway คีย์สำคัญกระจายรายได้ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นในสนามบิน      

ส่วนสำคัญที่จะทำให้ SAWASDEE by AOT สามารถมุ่งสู่การเป็นอีโคซิสเต็มด้านการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน หนีไม่พ้นการสร้างการมีส่วนร่วม และรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย หรือผู้ประกอบการท้องถิ่น (โลคอล-Local) ในสนามบิน

ผ่านการใช้ฟีเจอร์ SAWASDEE Pay โดย SKY จะให้ความสำคัญกับการเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก เพราะมองว่ามีกำลังในการซื้อสูง ขณะที่นักท่องเที่ยวไทย จะต่างออกไป เพราะมักถูกขับเคลื่อนการใช้จ่ายภายในสนามบิน ด้วยโปรโมชั่นจาก เพย์เมนต์ เกตเวย์ (Payment Gateway) หรือช่องทางชำระเงินออนไลน์ ของภาคธุรกิจต่าง ๆ ในไทยเป็นหลัก

โดย SKY ได้สร้างทีมการตลาดที่เข้าไปทำงานเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างนักท่องเที่ยวต่างชาติกับผู้ประกอบการท้องถิ่นโดยเฉพาะ ซึ่งมีความท้าทาย คือนักท่องเที่ยวต่างชาติ มักมีเพย์เมนต์ เกตเวย์ ที่นิยมใช้เฉพาะในประเทศของตัวเอง

ตอนนี้ SKY จึงกำลังทำงานอย่างหนักในการหาจุดเชื่อมโยงเพย์เมนต์ เกตเวย์ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงฟังก์ชัน SAWASDEE Pay ให้มีความเป็นสากล และสะดวกสำหรับใช้จ่ายในสนามบินมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ใช้งาน SAWASDEE by AOT สามารถใช้ฟังก์ชัน SAWASDEE Pay กับผู้ประกอบการท้องถิ่นในสนามบินได้แล้ว อาทิ ร้านข้าวซอย ในสนามบินเชียงใหม่ เป็นต้น

ผลตอบรับการใช้งานฟีเจอร์หลัก อย่างการแสดงข้อมูลเที่ยวบินแบบเรียลไทม์

แน่นอนว่าจุดขายของ SAWASDEE by AOT คือฟีเจอร์เด่น อย่าง การแสดงสถานะของเที่ยวบิน (Flight Board) แบบเรียลไทม์ (Real Time) ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาเที่ยวบินทั้งขาเข้า-ออก 

บันทึกไฟลต์บิน (Flight) ของผู้ใช้ล่วงหน้าก่อนการเดินทาง พร้อมแจ้งเตือนหากมีการเปลี่ยนแปลง หรืออัปเดตเวลาใกล้ออกเดินทางของเที่ยวบิน 

ทั้งการแสดงข้อมูล (Queue Time) เวลารอคิวในทั้ง 3 โซนหลัก ภายในสนามบิน ได้แก่ จุดเช็กอิน, จุดตรวจค้นเพื่อการรักษาความปลอดภัย และจุดตรวจหนังสือเดินทาง  

โดยผลตอบรับจากผู้ใช้งาน นับตั้งแต่เปิดตัว ไม่ว่าจะเป็นด้านความเสถียรและแม่นยำของระบบ หรือหน้าจอการแสดงผล ก็ยังมีจุดที่ต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป

ผ่านโจทย์ใหญ่ ๆ จากผู้ใช้งาน ซึ่งต้องการให้ SAWASDEE by AOT มีความเป็นแอปไลฟ์สไตล์ด้านการท่องเที่ยวแบบครบวงจร มากกว่าเป็นเพียงแอปเสริมสำหรับอ่านค่าข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ในสนามบินเท่านั้น

Airport Smart Parking เจาะ Pain Point หาที่จอดรถในสนามบินไม่ได้ 

หนึ่งในไฮไลท์ของ SAWASDEE by AOT ปี 2566 ที่ ขยล และทีม SKY ได้เปิดเผยกับ Marketeer เป็นที่แรกแบบพิเศษสุด ๆ คือ การเตรียมปล่อยฟีเจอร์ Airport Smart Parking (ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ) สำหรับใช้งานในสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ประมาณเดือนพฤษภาคม 2566

ขยล เล่าว่า หนึ่งในปัญหาหลัก (Pain Point) ของผู้มาใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง คือ ยังไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่ามีที่จอดรถยนต์เหลือเพียงพอให้เราขับรถเข้าไปจอดได้หรือไม่ 

เหตุการณ์ใกล้ตัวเลย อย่าง การจัดทริปประจำปี (Outing) ของ SKY ไปเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมประมาณ 30 คน มีการตกเครื่องไปประมาณ 15 คน เพราะขับรถยนต์มาจอดค้างคืนที่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ไม่มีที่จอดรถ และต้องขับวนหาที่จอดจนมาขึ้นเครื่องบินไม่ทัน 

ซึ่งเป็น Pain Point ของผู้มาใช้บริการสนามบินเลย โดยหลายคนมีไฟลต์บินไปทำธุระเพียง 1-2 วัน อยากขับรถยนต์ไปจอดที่สนามบิน เพราะสามารถติดสัมภาระไปได้เยอะกว่าการเดินทางมาด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และยอมเสียค่าจอดข้ามคืนประมาณ 600 บาท เป็นต้น  

โดย Airport Smart Parking (ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ) จะเป็นฟีเจอร์ซึ่งแสดงผลที่จอดรถยนต์ว่างแบบเรียลไทม์ ในเฟสใหม่ของอาคารจอดรถของสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง 

ซึ่ง SKY ประมูลงานมาได้ ด้วยการนำเสนอระบบ ไอที โซลูชัน ของ SKY ที่มีการทำงานคล้ายระบบแสดงที่จอดรถยนต์ว่าง ซึ่งใช้งานกันอยู่ตามห้างสรรพสินค้า

แต่เพิ่มความพิเศษ คือ ฟีเจอร์ Airport Smart Parking (ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ) จะสามารถจองที่จอดรถยนต์ล่วงหน้าได้ ด้วยการจ่ายเงินค่าจอดทันที ผ่านระบบที่ SKY กำลังพัฒนาอยู่

โดยจะเริ่มปล่อยให้ใช้งานผ่านเว็บไซต์ที่กำลังพัฒนา ประมาณเดือนพฤษภาคม 2566 ก่อนนำไปใช้กับแอป SAWASDEE by AOT ต่อไปใน 1-2 เดือนหลังจากนั้น



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน