คุณเป็นเหมือนกันไหม เวลาเห็นอักษรย่อภาษาอังกฤษ 3 ตัวระบุสนามบินปลายทางที่เราจะบินไป อยู่บนแอป เว็บไซต์ ตอนจองตั๋วเดินทาง อยู่ในป้าย Tag ติดกระเป๋าเดินทาง แล้วเกิดสับสนเล็กน้อยว่า ปลายทางที่เราจะไปถูกต้องหรือเปล่า ในเมื่อเราจะไปสนามบินภูเก็ต แต่อักษรย่อ 3 ตัว กลับเป็น HKT ซึ่งดูแล้วไม่เห็นจะสื่อความเป็นภูเก็ตตรงไหน HK นี่คือ Hong Kong หรือเปล่า ทำไมไม่ใช้ PKT ที่แปลว่า Phuket Thailand ล่ะ
หรือสนามบินสุราษฎร์ธานี ที่ใช้ URT ไหนล่ะตัว S ที่เป็นชื่อภาษาอังกฤษของ Surat Thani
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
คำตอบคือ ตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษ 3 ตัวที่เห็นเรียกว่า รหัส IATA
รหัส IATA เป็นตัวอักษร 3 ตัว ที่ใช้แทนชื่อเต็มของสนามบินทั่วโลก รหัสนี้กำหนดโดย International Air Transport Association หรือสมาคมขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ เพื่อให้สื่อสารกันกระชับและรวดเร็วขึ้น
ลองเปรียบง่าย ๆ รหัส IATA สนามบินกับคน IATA ก็เหมือนชื่อเล่น (ที่ใช้เรียกกันอย่างเป็นทางการ)
ส่วนชื่อเต็มของสนามบิน เหมือนชื่อและนามสกุลของเรา
และเราเป็นครอบครัวใหญ่มีพี่น้องจำนวนมาก การตั้งชื่อเล่นเรียกในครอบครัวจึงเป็นชื่อที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละคน เพื่อให้การสื่อสาร เข้าใจตรงกันว่าเป็นใคร
สนามบินก็เหมือนกัน เปรียบได้กับครอบครัวใหญ่ในโลกการบิน
อ้างอิงจากเว็บไซต์ Globalfirepower สนามบินทั่วโลก ทั้งสนามบินใหญ่-เล็ก สนามบินเชิงพาณิชย์และอื่น ๆ มีรวมกันมากเกือบ 40,000 สนามบิน
ทำให้ชื่อรหัสสนามบินผ่านตัวอักษร 3 ตัวต้องไม่ซ้ำ หรือใกล้เคียงกันมาก เพื่อให้การสื่อสารเข้าใจตรงกัน
การตั้งรหัส IATA จึงสามารถตั้งได้หลากหลายโดยการตั้งชื่อนี้ส่วนใหญ่จะนำตัวอักษรภาษาอังกฤษของชื่อสนามบิน หรือชื่อเมือง อำเภอ หรือแขวงของที่ตั้งสนามบินมาใช้ประกอบในการตั้ง
สามารถตั้งได้ด้วยวิธีดังนี้
1. นำตัวอักษร 3 ตัวแรกของชื่อสนามบินมาตั้ง เช่น SIN เป็น IATA ของสนามบิน Singapore – Changi, SHA คือ Shanghai Hongqiao International Airport
2. นำตัวอักษรตัวแรกและตัวสุดท้ายจากชื่อเมืองของสนามบินมาตั้ง เช่น HKG มาจาก Hong Kong – International Airpor, BKK มาจาก Bangkok Suvarnabhumi International
3. นำตัวอักษรบางตัวจากชื่อเมืองหรือชื่อสนามบินมาตั้ง เช่น URT มาจาก Surat Thani International Airport
4. นำตัวอักษรบางตัวจากชื่อเมืองหรือสนามบิน และใส่ตัวอักษรอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องมาเพิ่ม เช่น CNX มาจาก Chiang Mai International Airport โดย CN มาจากชื่อสนามบิน และเติมตัว X ลงไปเพิ่ม
หรือ DMK ที่มาจาก สนามบิน Don Mueang International และเติม K เข้าไป
สนามบินที่เกิดหรือตั้งขึ้นมาก่อนมีโอกาสในการตั้ง IATA ให้ตรงกับชื่อสนามบิน จึงมีมากกว่าสนามบินที่ตั้งขึ้นมาใหม่ที่ต้องเลี่ยงด้วยการใช้ตัวอักษรอื่น ๆ แทน
ทั้งนี้รหัสสนามบิน ไม่ได้มีแค่รหัส IATA
แต่ในโลกของการบินนี้ยังมีรหัสของ ICAO เป็นรหัสที่ตั้งขึ้นมาโดย International Civil Aviation Organization หรือแปลเป็นไทยว่า องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
รหัส ICAO จะใช้ติดตามข้อมูลต่าง ๆ ในเส้นทางการบิน และเพื่อให้หอบังคับการบินควบคุมการจราจรทางอากาศ การวางแผนการบิน และการวางแผนเที่ยวบิน
รหัส ICAO จะประกอบด้วยตัวอักษร 4 ตัว
VTBS
อักษรตัวแรก จะแทนชื่อทวีป เช่น V แทนทวีปเอเชียใต้
ตัวที่สอง แทนชื่อประเทศ หรือเมืองใหญ่
ตัวที่สาม ชื่อจังหวัด หรือภาค
ตัวที่สี่ เป็นชื่อสนามบิน
อย่างเช่นสุวรรณภูมิ จะใช้ VTBS ดอนเมืองใช้ VTBD เชียงใหม่ VTCC เป็นต้น


ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการบินโลกและไทยอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่าปีนี้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกยังคงขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
และคาดว่าอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจะกลับสู่ภาวะปกติได้ในปี 2567
ส่วนองค์กรการบินนานาชาติรายงานว่าในปีที่ผ่านมาจำนวนผู้โดยสายทั่วโลกลดลง เหลือเพียง 1,800 ล้านคน ลดลงมากถึง 60% เมื่อเทียบกับปี 2562 และเป็นจำนวนผู้โดยสารที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2546
ส่วนประเทศไทยในไตรมาสแรก 2564 อุตสาหกรรมการบินไทยอ้างอิงสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย มีจำนวนผู้โดยสารเพียง 6.66 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสแรก 2563 ที่มีจำนวนผู้โดยสาร 25.27 ล้านคน
แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 195,799 คน ลดลง 98.8% จากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา
และผู้โดยสารภายในประเทศ 6.47 ล้านคน 60.1% จากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา
Marketeer FYI
BKK ในอดีต คือ รหัสของสนามบินดอนเมือง เพื่อสื่อถึงความเป็นสนามบินของกรุงเทพ ประเทศไทย
และเมื่อมีการสร้างสุวรรณภูมิ จึงนำรหัส BKK มาใช้กับสุวรรณภูมิแทน เนื่องจากสนามบินนานาชาติหลัก และดอนเมืองเปลี่ยนเป็น DMK เหมือนในปัจจุบัน
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



