อาจสร้างความเสียใจให้กับแฟนคลับ Baskin Robbins ในไทย
เมื่อ มัด แอนด์ ฮาวด์ ผู้ถือลิขสิทธิ์ Baskin Robbins ตัดสินใจไม่ต่อสัญญา Baskin Robbins หลังหมดสัญญาในเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
การไม่ต่อสัญญานี้คาดการณ์ว่ามาจากที่ผ่านมา Baskin Robbins ในประเทศไทยอยู่ในสภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องจากการแข่งขันในตลาดไอศกรีมที่มีการแข่งขันแย่งชิงเม็ดเงินในกระเป๋าผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง จากแบรนด์ไอศกรีมต่างๆ ที่อยู่ในเซกเมนต์ใกล้เคียงและต่างเซกเมนต์ที่เป็นแบรนด์เก่าและแบรนด์ใหม่ในตลาด
โดยลูกค้าหลักของ Baskin Robbins เป็นกลุ่มระดับรายได้มิด-ไฮเอนด์ เป็นหลัก
ประกอบกับในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบกับการใช้จ่ายของผู้บริโภค การออกนอกบ้านน้อยลงจากมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ระบาดในเวฟแรก ๆ ในประเทศไทย
และนักท่องเที่ยวที่รู้จักแบรนด์ Baskin Robbins เป็นอย่างดีไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
นอกจากนี้ Baskin Robbins มีสาขาที่ให้บริการที่จำกัด และมีสาขาที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2563 ที่มี 23 สาขา เน้นกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเหลือเพียง 10 สาขาในปี 2564 ทำให้ผู้บริโภคหาซื้อ Baskin Robbins เพื่อรับประทานยากกว่าไอศกรีมแบรนด์อื่น ๆ โอกาสในการขายจึงน้อยลงตามมา
เมื่อมองไปที่รายได้ของ Baskin Robbins ย้อนหลังพบว่า
ปี 2561 รายได้รวม 110.64 ล้านบาท ขาดทุน 11.86 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้รวม 112.36 ล้านบาท ขาดทุน 9.80 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้รวม 103.35 ล้านบาท ขาดทุน 10.23 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้รวม 63.65 ล้านบาท ขาดทุน 10.48 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้รวม 52.10 ล้านบาท ขาดทุน 7.43 ล้านบาท
และสัดส่วนรายได้ของ Baskin Robbins เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมดของธุรกิจในเครือ มัด แอนด์ ฮาวด์ มีสัดส่วนที่ลดลง
ในปี 2562 Baskin Robbins มีสัดส่วนรายได้ 3%
ปี 2563 มีสัดส่วนรายได้ 3%
และลดลงเหลือเพียง 1% ในปี 2564
ส่วนแบรนด์ที่สร้างสัดส่วนรายได้มากที่สุดให้กับ มัด แอนด์ ฮาวด์ คือดังกิ้น โดนัท ด้วยสัดส่วน 33% ในปี 2562
40% ในปี 2563 และ 47% ในปี 2564
รองลงมา ได้แก่ เกรฮาวด์ คาเฟ่ ในปี 2562-2564 มีสัดส่วน 32%, 26%, 19% ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี การไม่ต่อสัญญา Baskin Robbins ของมัด แอนด์ ฮาวด์ อาจจะเป็นหนึ่งในแนวทางตัดธุรกิจที่ไม่สร้างผลกำไรออกไป เพื่อไปโฟกัสกับธุรกิจที่สร้างโอกาสให้กับ มัด แอนด์ ฮาวด์ สามารถพลิกวิกฤตขาดทุนอย่างต่อเนื่องให้กลายเป็นผลกำไรได้
เพราะเมื่อมองย้อนไปตั้งแต่ปี 2558 มัด แอนด์ ฮาวด์ มีการขาดทุนอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี
ปี 2558 ขาดทุน 43 ล้านบาท
ปี 2559 ขาดทุน 168 ล้านบาท
ปี 2560 ขาดทุน 50 ล้านบาท
ปี 2561 ขาดทุน 12 ล้านบาท
ปี 2562 ขาดทุน 26 ล้านบาท
ปี 2563 ขาดทุน 420 ล้านบาท
ปี 2564 ขาดทุน 111 ล้านบาท
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



