แกร็บยังขาดทุน 6 หมื่นล้าน ลดอัดโปรโมชัน เดินหน้าดึงลูกค้าเป็นสมาชิก สร้างความภักดี เร่งสร้างกำไรกลุ่มฟู้ด
Grab ในฐานะ Super App ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 37 ล้านบัญชีต่อเดือน ที่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เเนสเเด็ก สหรัฐอเมริกา ผ่านการควบรวมกิจการกับบริษัทอัลติมิเตอร์ โกรท ไปเมื่อปี 2564
เเม้ปีที่เเล้วแกร็บขาดทุน 1,700 ล้านดอลลาร์ ราว 6 หมื่นล้านบาท เเต่บริษัทเเม่ได้ประกาศว่าจะเดินเครื่องทำกำไรให้ได้ภายในปี 2567 ในทั้ง 8 ประเทศที่เเกร็บให้บริการอยู่
นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เริ่มเห็นสัญญาณบวก เเละแนวโน้มการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในทุกธุรกิจของแกร็บในประเทศไทย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยเฉพาะในบริการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ ที่ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังการเปิดประเทศ ยอดใช้บริการในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติพุ่งสูงถึง 152%
ขณะที่บริการเดลิเวอรีดีขึ้นตามลำดับ ผู้บริโภคคุ้นชินกับการสั่งอาหาร รวมถึงสินค้าหรือของใช้แบบออนดีมานด์ ส่งผลให้แกร็บฟู้ดมีเเนวโน้มที่เป็นบวกมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัด ที่เติบโตสูงกว่าในกรุงเทพฯ ถึง 3 เท่า
ด้านแกร็บมาร์ท เทรนด์การสั่งสินค้าประเภทของสดยังคงเติบโตเป็น 1 ใน 3 ของสินค้าทั้งหมด ส่วนบริการทางเงิน เเกร็บได้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ อาทิ สินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับพาร์ตเนอร์คนขับ และบริการ PayLater เพื่อเพิ่มทางเลือกในการบริหารจัดการด้านการเงินให้กับผู้ใช้บริการ
แกร็บ ประเทศไทย ดำเนินธุรกิจครอบคลุม 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ บริการการเดินทาง (Mobility) บริการเดลิเวอรี (Deliveries) บริการทางการเงิน (Financial Services) และบริการสำหรับองค์กร (Enterprise)
จากช่วงเวลาที่ให้บริการในไทยมาครบ 10 ปี จะยังเดินหน้ากลยุทธ์สำคัญ คือ “Power of Superapp” ร่วมมือและทำงานทุกธุรกิจใน Ecosystem ของแกร็บ ให้เกิด Synergy เอื้อประโยชน์ต่อกัน และ “Operational Efficiency” ดึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนทุกกลุ่มธุรกิจหลัก
สำหรับในปี 2566 ตั้งเป้าขับเคลื่อน 4 กลุ่มธุรกิจ เริ่มที่
บริการการเดินทาง (Mobility) มุ่งเน้นไปที่การยกระดับมาตรฐาน สร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อขยับไปยังกลุ่มลูกค้าระดับสูง เจาะตลาดพรีเมียม อีกหนึ่งเซกเมนต์ที่มีพฤติกรรมการใช้จ่ายสูง
และจากจำนวนเเอร์พอร์ตไรด์ในไตรมาส 3-4 ที่โตกว่า 33% เเกร็บจึงเล็งรุกตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทย ซึ่งคาดว่าจะมากถึง 28 ล้านคนในปีนี้
บริการทางการเงิน (Financial Services) มีความเคลื่อนไหวเรื่องการขยายวงเงินสินเชื่อสำหรับพาร์ตเนอร์ร้านค้าสูงสุดถึง 500,000 บาท จากเดิมอยู่ที่ 100,000 บาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารในการขยายธุรกิจและเสริมสภาพคล่อง
นอกจากนั้น ยังขยายบริการสินเชื่อสำหรับผ่อนชำระสินค้าอื่น ๆ เช่น ทองคำ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ สำหรับคนขับ
บริการสำหรับองค์กร (Enterprise) ขยายการบริการลุย B2B ให้บริการสำหรับองค์กร ผ่าน Grab for Business ขาธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาช่วยเสริมเเกร่งให้แก่เเกร็บประเทศไทย โดยเข้าไปจัดการเรื่องการให้บริการเดินทางเเละเดลิเวอรีให้เเก่องค์กร เปิดให้บริการไปได้ระยะหนึ่ง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้เข้าร่วมใช้บริการเเล้วกว่าหนึ่งพันเเบรนด์ ทั้งเจ้าใหญ่เเละเจ้าเล็ก อาทิ สมิติเวช Bitkub อิเกีย เป็นต้น
บริการเดลิเวอรี (Deliveries) ยังคงชูโรงซับแบรนด์ #GrabThumbsUp ที่คัดสรรและรวบรวมร้านอร่อยชื่อดังทั่วประเทศ สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้ใช้บริการ อีกทั้งพัฒนาระบบแผนที่ ระบบคำนวณเวลารออาหาร เพื่อเพิ่มความแม่นยำ และลดเวลาในการจัดส่งสินค้า
ส่วนของธุรกิจ Quick-commerce ที่เเกร็บให้บริการส่งด่วนภายใน 30 นาที เเละน่าสนใจว่าที่ผ่านมาตลาดส่งด่วนมีอัตราการเติบโตมากกว่าอีคอมเมิร์ซ เเต่ยังมีผู้เล่นน้อย การเเข่งขันไม่สูง ช่วยให้แกร็บมีโอกาสเป็นเจ้าตลาดในกลุ่มนี้
อย่างไรก็ตาม เเกร็บ ประเทศไทย ในกลุ่มเดลิเวอรีฟู้ดยังขาดทุนต่อเนื่อง เเต่ปีนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ตัวเลขอาจกลับมาเป็นบวกได้ในเร็ว ๆ นี้
โดยหันมาโฟกัสการสร้างฐานสมาชิกและ Loyalty ผ่านแพ็กเกจ GrabUnlimited ดึงลูกค้าเข้าเป็นสมาชิกแบบรายเดือน เพื่อลดการออกโปรโมชันเรียกยอดขายเเบบที่เคยทำมา ซึ่งถ้าลดเงินที่ใช้ไปกับส่วนนี้ได้ การขาดทุนก็จะลดลง
โดยที่เเกร็บจะหันมาสร้าง Membership นำเสนอโปรโมชันให้เเก่ลูกค้าในระบบเเทน กระตุ้นการซื้อ เพิ่ม basket size ต่อออเดอร์ให้ใหญ่ขึ้น เป็นหนทางรอดแก่กลุ่มฟู้ด
“แกร็บอยู่มาครบ 10 ปี เปรียบเหมือนชีวิตคนที่ผ่านช่วงชีวิตวัยรุ่น ทำอะไรเร็ว ๆ มาเเล้ว เเต่พอเข้า IPO เหมือนการก้าวขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ เป็นสาธารณะมากขึ้น คนคาดหวังให้เเกร็บต้องโปร่งใส ช่วยให้บริษัทเหมือนเติบโตไปอีกขั้น แกร็บยังคงมองการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่าน 3 P คือ Profit Planet เเละ People ที่ให้ความสำคัญมาโดยตลอด” คุณวรฉัตร กล่าวปิดท้าย
Grab ครองเเชมป์ Super App สุดฮิตใน SEA มาร์เก็ตเเชร์ยืนหนึ่ง
ประเทศ | ส่วนแบ่งการตลาด |
ไทย | |
1.Grab | 51% |
2.Line Man | 24% |
3.Food panda | 16% |
4.Robinhood | 6% |
5.shopeefood | 3% |
สิงคโปร์ | |
1.Grab | 59% |
2.Food panda | 31% |
3.deliveroo | 10% |
เวียดนาม | |
1.Grab | 45% |
2.shopeefood | 41% |
3.BAEMIN | 12% |
มาเลเซีย | |
1.Grab | 60% |
2.Food panda | 38% |
3.shopeefood | 2% |
ฟิลิปปินส์ | |
1.Grab | 60% |
2.food panda | 40% |
อินโดนีเซีย | |
1.Grab | 49% |
2.gojek | 44% |
3.shopeefood | 7% |
ที่มา: Momentum Works
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



