Digital mindfulness ไม่อาจตัดขาดก็ถึงเวลาเชื่อมต่อโลกดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน
หากสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีบทบาทต่อการดำเนินชีวิต และหากใช้มากเกินไปจนส่งผลในทางลบ ที่สุดก็จะมีการสะท้อนให้เห็นผ่านสื่อแขนงต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบรายงาน บทความ และข่าวเชิงวิเคราะห์
รวมไปถึงถูกนำไปทำเป็นหนังหรือซีรีส์เพื่อฉายภาพให้เราได้เห็นกัน ทั้งแบบที่สร้างรอยยิ้ม เรียกเสียงหัวเราะ เพื่อเตือนสติ หรือชี้ให้เห็นผลร้ายแสนน่ากลัว
การสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์คือสิ่งที่ทั้งจำเป็นและสร้างความกังวลมากสุดในยุคนี้ จนมีการสะท้อนให้เห็นผ่านซีรีส์หลายเรื่อง เช่น Nosedive ตอนหนึ่งของซีรีส์ ชุด Black Mirror ที่เล่าถึงการแต่งหน้าแต่งตัวให้สวยเพื่อเรียกยอดไลก์จนที่สุดส่งผลสุดช็อก
Social Syndrome (โลกโซเชียล) ซีรีส์สัญชาติไทยหลายตอนที่ชี้ให้เห็นถึงผลเสียและอันตรายของการใช้สื่อโซเชียล และ Detox ซีรีส์ตลกฝรั่งเศส ที่ชี้ให้เห็นผลเสียของการเสพติดสื่อโซเชียล และสมาร์ตโฟนของคนยุคนี้ จนต้องไปเข้าคอร์สตัดขาดและบำบัดล้างพิษอันเป็นที่มาของเรื่อง
การล้างพิษจากเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ (Digital detox) อันได้แก่ แพลตฟอร์มการสื่อสารออนไลน์ของเรา ตั้งแต่ Facebook LINE WhatsApp ไปจนถึง Zoom ของ Marc Benioff ซีอีโอ Salesforce ไกลถึงเกาะเฟรนซ์ โพลินิเชีย นาน 10 วันเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้การลด-ละ หรือแม้กระทั่งเลิกใช้ไปเลย อย่างน้อยก็ตามเวลาที่กำหนดไว้ กลายเป็นข่าวที่น่าสนใจ
เพราะเป็นการสะท้อนว่า เราใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้กันมากไปแล้ว ถึงขั้นมีคนเห็นช่องทางทำเงินจัดคอร์ส Digital detox ให้เศรษฐี ย้ำว่าคงยากที่เราจะตัดขาดจากแพลตฟอร์มการสื่อสารเหล่านี้ไปเลย
เพราะหลังใช้แฟลตฟอร์มออนไลน์ผ่าน Smartphone ตั้งแต่ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ซื้อสินค้าและอาหาร ประชุม ทำธุรกรรมธนาคาร ไปจนถึงหาคู่ กันมาก ๆ ช่วงสถานการณ์โควิด
แต่หลังโควิดซาและโลกการทำงานปรับโหมดเป็นแบบผสมผสาน (Hybrid) ทว่า เราก็ยังใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้กันอยู่
ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัย Leeds ในอังกฤษระบุว่า เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา 54% ของกลุ่มตัวอย่างวัยผู้ใหญ่ สื่อสารหรือติดตามข่าวสารผ่านจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟนกันมากกว่าช่วงสถานการณ์โควิดเสียอีก
และในจำนวนนี้ 27% ใช้ช่องทางออนไลน์ในการทำงานมากกว่าในช่วงสถานการณ์โควิด
ด้านข้อมูลจากแอปหาคู่ Bumble เผยว่า เมื่อปี 2021 นั้น 15% จากผู้ใช้ทั้งหมด 42 ล้านคน ใช้ฟีเจอร์ BFF ในการหาเพื่อนคุย ทั้งที่เมื่อปี 2020 มีไม่ถึง 10% และพอสิ้นปี จำนวนผู้ใช้ที่เป็นผู้ชายเพิ่มขึ้นมา 26%
นี่ถือเป็นการย้ำว่าเราเป็น FOMO ที่ย่อมาจาก Fear Of Missing Out อันหมายถึงใช้กันหนัก หลังกลัวจะพลาดความเคลื่อนไหวกันไปแล้ว เพราะใช้แพลตฟอร์มออนไลน์กันเป็นเรื่องปกติ และบางครั้งการติดต่อที่สำคัญ ๆ ก็เกิดผ่านช่องทางเหล่านี้
จนทำให้การลดหรือละจากใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อเรียกคืนความสุขในชีวิตกลับมาบ้าง หรือที่เรียกว่า JOMO ขั้วตรงข้ามของ FOMO ที่ย่อมาจาก Joy Of Missing Out นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้
ทั้งหมดเป็นหลักฐานยืนยันว่าเราพึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์ ในการติดตามข่าวสารและติดต่อกัน จนแน่นอนแล้วว่า Digital detox ซึ่งเคยได้รับความสนใจเมื่อปี 2012 ขณะที่การเสพติดแพลตฟอร์มออนไลน์ยังเป็นเรื่องใหม่นั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับคนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ยังมีทางออกแบบทางสายกลางที่พอจะปฏิบัติกันได้อยู่ นั่นคือ Digital mindfulness
เราอาจตั้งกรอบเวลาละจากจอของ Gadget และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในแต่ละวัน ใช้เฉพาะที่จำเป็นจริง ๆ หรือลองวางสมาร์ตโฟนไว้ให้ไกล ให้ห่างตัวเมื่อไม่จำเป็นต้องใช้ ส่วนเมื่อถึงเวลานอนก็ให้วางสมาร์ตโฟนไว้นอกห้องนอนไปเลย
การทำแบบนี้จะช่วยให้สารโดปามีนในสมองซึ่งจะสร้างความพึงพอใจเมื่อได้รับรู้ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลและสื่อโซเชียล ไม่ทำงานมากเกินไปจนระบบผิดเพี้ยน
และนำไปสู่การเสพติดแบบที่เราเป็นกันบ่อย ๆ ผ่านการเลื่อนดู Facebook ไปเรื่อย ๆ จนลืมเวลากลางดึก หรือเมื่อไม่มีอะไรจะทำ แทนการนั่งพักหรือนอนหลับ
อีกวิธีที่น่าจะช่วยลดการติดสมาร์ตโฟน คือเปิดดูฟีเจอร์สรุปการใช้สมาร์ตโฟน หรือดาวน์โหลดแอปจำกัดเวลาการใช้สมาร์ตโฟนด้วยวิธีการต่าง ๆ เพราะเมื่อเห็นตัวเลขที่มากจนเราเองก็ตกใจ เราก็น่าเลือกใช้สมาร์ตโฟนกันเฉพาะในเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น
หากทำได้พฤติกรรมแบบ FOMO ของเราก็อาจลดลงไป ขณะเดียวกันก็จะเป็น JOMO กันได้แบบไม่สุดโต่ง สามารถชื่นชมโลกจริงนอกจอได้มากขึ้น
และบอกให้รู้ว่า ชีวิตยังดำเนินต่อไปได้ ยังสามารถติดต่อกันได้ แม้ขาดสมาร์ตโฟน และไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ก็ตาม/bbc
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



