ทวีปเอเชียเป็นทวีปที่ผลิต “ข้าว”  คิดเป็น 90% ของโลกใบนี้และคนเอเชียก็บริโภคข้าวเป็นอาหารหลักใมสัดส่วนที่พอ ๆ กับที่ผลิตได้ โดยสถิติบอกว่า คนเอเชียได้รับแคลอรีมากกว่า 1 ใน 4 ต่อวันจากข้าว

องค์การสหประชาชาติประมาณการว่าชาวเอเชียบริโภคข้าวโดยเฉลี่ย 77 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของชาวแอฟริกัน ยุโรป และอเมริการวมกันทั้งหมด แม้ว่าเกษตรกรชาวเอเชียหลายร้อยล้านคนจะปลูกข้าวแต่เพียงอย่างเดียว ถึงอย่างนั้นโลกก็ยังมีข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภคอยู่ดี สาเหตุเกิดจากอะไร มาร่วมหาคำตอบกันจากบทความนี้

ความต้องการข้าวที่ไม่เคยเพียงพอ

ความต้องการในการบริโภคข้าวของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะในแอฟริกาและเอเชียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ชาวนาก็ยังจน ที่ดิน น้ำ และแรงงานที่ต้องใช้ในการผลิตข้าวก็เริ่มขาดแคลน รวมไปถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อวงการเกษตรกรรม อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้พืชผลทางการเกษตรเหี่ยวเฉา น้ำท่วมทำให้พืชผลเสียหาย

ภาวะโลกร้อนไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำร้ายโลก แต่การปลูกข้าวก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญเช่นกัน เนื่องจากนาข้าวปล่อยก๊าซมีเทนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เป็นหนึ่งปัจจัยที่มีผลร้ายแรงในการทำลายชั้นบรรยากาศ ข้าวที่ได้ชื่อว่าเป็นอาหารของโลกกำลังถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นตอของภัยคุกคามสภาพภูมิอากาศของโลก

ความต้องการในการบริโภคข้าวที่เพิ่มขึ้นส่งผลทำให้ปัญหามีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น มีการคาดการณ์กันว่าภายในปี 2050 ประชากรในเอเชียจะเพิ่มขึ้นเป็น 5,300 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 4,700 ล้านคนในปัจจุบัน

และประชากรในทวีปแอฟริกาจะเพิ่มเป็น 2,500 ล้านคนในแอฟริกา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1,400 ล้านคน การเพิ่มขึ้นของประชากรจะผลักดันความต้องการข้าวเพิ่มขึ้นอีก 30% จากการศึกษาและตีพิมพ์ในวารสาร Nature Food พบว่ามีเพียงประเทศที่ร่ำรวยในเอเชียอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เท่านั้นที่ประชากรส่วนหนึ่งนิยมบริโภคขนมปังและพาสต้า ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าทึ่งเมื่อหันไปดูจะพบว่าประเทศในแถบเอเชียแทบกินแต่ข้าว

จากการศึกษาเพิ่มเติม เมื่อมองลึกเข้าไปจะเห็นว่า การเติบโตของผลผลิตข้าวในเอเชียกลับลดลงสวนทางกับความต้องการข้าวที่เพิ่มมากขึ้น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 0.9% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งลดลงจาก 1.3% เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนหน้านี้

จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติพบว่า ภูมิภาคที่ผลผลิตข้าวลดลงในอัตราที่รุนแรงที่สุดอยู่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของการปลูกข้าวลดลงจาก 1.4% เป็น 0.4% โดยเฉพาะในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ซึ่งก็เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญ ในตอนนี้กลับนำเข้าข้าวเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว หากผลผลิตในประเทศไม่เพิ่มขึ้น ประเทศเหล่านี้จะต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อหล่อเลี้ยงประชากรกว่า 400 ล้านคน

ก่อนหน้านี้เป็นเวลาหลายปีที่การผลิตข้าวยังคงเติบโตทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติเกษตรกรรมที่เริ่มขึ้นในทศวรรษ 1960 เพื่อจัดการกับปัญหาผลผลิตตกต่ำ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ International Rice Research Institute หรือ IRRI ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ องค์กรนี้ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีชื่อสายพันธุ์ว่า “IR8” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เติบโตด้วยการใช้ปุ๋ยและระบบชลประทาน และเปิดตัวในช่วงที่จีนและอินเดียเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร ทั้งนี้ข้าวสายพันธุ์ IR8 ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนจำนวนมากได้

เมื่อ IR8 แพร่กระจายไปทั่วเอเชีย จากฟิลิปปินส์ถึงปากีสถาน ผลผลิตข้าวก็เพิ่มขึ้น ผลผลิตที่มากขึ้นทำให้ข้าวเป็นพืชที่น่าดึงดูดใจให้เกษตรกรนิยมปลูกกันมากขึ้น เมื่อความนิยมในการปลูกเพิ่มมากขึ้นแน่นอนว่าประเทศก็ต้องใช้ทรัพยากรที่เป็นปัจจัยในการผลิตเพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่ก็แลกกับความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารที่ลดลง และทำให้รัฐบาลในประเทศแถบเอเชียมีอิสระในการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น

IRRI ได้พัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถทำซ้ำความสำเร็จนี้ได้ ให้ผลผลิตมากกว่าและทนทานต่อสภาพอากาศและต้องการน้ำน้อยกว่าสายพันธุ์เดิม  แต่การตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นยังดูยากกว่าในทศวรรษ 1960 มาก เนื่องจากการขยายตัวของพื้นที่เขตเมืองกำลังกินพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงระหว่างปี 1971 ถึงปี 2016  พื้นที่เพาะปลูกข้าวของอินเดียมีขนาดลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง จาก 14 ต่อ 1 ครัวเรือนเกษตรกร เหลือเพียง 7 ไร่เท่านั้น

เรื่องนี้ทำให้การเพิ่มผลผลิตข้าวยิ่งทำได้ยากมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อแรงงานก็หายาก เนื่องมาจากกระบวนการในการทำนาเป็นเรื่องที่หนัก เหนื่อย และน่าเบื่อสำหรับคนรุ่นใหม่ อีกปัจจัยที่ทำให้การเพิ่มผลผลิตเป็นไปได้ยากก็คือเรื่อง “น้ำ” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง เพราะในหลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ดินหมดสภาพและเป็นพิษจากการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงมากเกินไป

ไม่มีพืชชนิดไหนที่มีความเสี่ยงที่จะเสียหายจากภาวะโลกร้อนเท่ากับข้าว นักวิทยาศาสตร์จาก IRRI บอกว่า จากการศึกษาในปี 2004 พบว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทุก ๆ 1 องศาเซลเซียส ทำให้ผลผลิตลดลง 10%

นอกจากนี้ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนก็ได้ส่งผลให้เกิดการเจือปนของเกลือเข้ามายังแหล่งเพาะปลูกในพื้นที่ราบลุ่มของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และกัดเซาะข้าวที่นั่น และจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปากีสถาน (ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก) เมื่อปี 2022 ก็ทำให้ผลผลิตในห่วงโซ่อาหารถูกทำลายไปกว่า 15%

 

ข้าวกับภาวะโลกร้อน

นักวิจัยส่วนหนึ่งบอกว่า ข้าว นั้นมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เหตุผลก็คือๆ การทำนาข้าว ต้องใช้ระบบชลประทานที่ดีพอข้าวจึงจะสมบูรณ์ พูดง่าย ๆ ก็คือว่า การทำนานั้นต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งมันทำให้ดินขาดออกซิเจน และกระตุ้นให้แบคทีเรียที่ปล่อยก๊าซมีเทนเติบโตได้ดี

ดังนั้นการผลิตข้าวมีส่วนต่อการปล่อยมีเทนถึง 12% ของการปล่อยก๊าซมีเทนทั้งหมดบนโลกนี้ และเป็นสัดส่วน 1.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด เทียบได้กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการบินเลยทีเดียว โดยเฉพาะในประเทศเวียดนามที่การทำนานั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่าภาคการขนส่งของประเทศเสียอีก

คุณค่าทางโภชนาการของข้าวเป็นอีกหนึ่งความกังวล ข้าวเป็นพืชที่มีน้ำตาลกลูโคสสูง ซึ่งก่อให้เกิดโรคเบาหวานและโรคอ้วน และมีธาตุเหล็กและสังกะสีต่ำซึ่งทั้ง 2 เป็นสารอาหารรองที่สำคัญ ในเอเชียใต้ ความชุกของโรคเบาหวานและภาวะทุพโภชนาการสามารถเชื่อมโยงไปถึงการพึ่งพาอาหารประเภทข้าวมากเกินไป

อินเดียจัดหาข้าวจากชาวนาในราคาที่รับประกันซึ่งมักจะกำหนดสูงกว่าอัตราตลาด จากนั้นจึงขายพืชผลให้กับคนจนในราคาอุดหนุนเพื่อส่งเสริมการบริโภคข้าว มีการอุดหนุนปุ๋ยและน้ำด้วย การแทรกแซงดังกล่าวแพร่หลายไปทั่วเอเชีย ส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ในช่วงเวลาที่เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร  โดยปัญหาเรื่องโรคเบาหวานและค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมมีความกังวลน้อยกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แม้บางประเทศจะไม่มีทางออกสำหรับวิกฤตการปลูกข้าว แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศในแถบเอเชียที่มีทางออกให้กับเรื่องนี้ อย่างเช่นในบางพื้นที่ของเอเชียที่ให้ผลผลิตต่ำ เช่น เมียนมาและฟิลิปปินส์ เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตได้โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์และยาฆ่าแมลงแบบชีวภาพโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

นักวิทยาศาสตร์จาก IRRI และหน่วยงานวิจัยอื่น ๆ ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวที่ทนต่อน้ำท่วม ภัยแล้ง และความร้อน พวกเขายังผลิตสายพันธุ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ประกอบกับนวัตกรรมในการเพาะปลูก เช่น วิธีการปลูกแบบใช้เมล็ดโดยตรงซึ่งใช้น้ำและแรงงานน้อยลง สามารถลดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มผลผลิตได้

การทดลองทั่วเอเชียได้ยืนยันสิ่งนี้ เกษตรกรในบังกลาเทศที่ประสบภัยน้ำท่วม ตามผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food Policy ในปี 2021 พบว่าการปลูกข้าวพันธุ์ Sub1 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ทนน้ำท่วมและได้ผลผลิตสูงขึ้น 6% และมีกำไรจากการขายข้าวเพิ่มขึ้นถึง 55% อีกทั้งการทดลองของ Global Food Security ชี้ให้เห็นว่า พันธุ์ข้าวที่ทนแล้งสามารถให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้ถึง 0.8-1.2 ตันต่อพื้นที่ 7 ไร่

ความท้าทายต่อจากนี้คือการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์และวิธีการที่จะทำให้สายพันธุ์ข้าวที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ถูกนำไปปลูกในวงกว้าง ซึ่งเกษตรกรในหลายประเทศยังไม่รู้ว่ามีพันธุ์ข้าวที่ทนแล้ง ทนน้ำท่วมได้ดีแบบนี้อยู่ และอีกปัญหาก็คือเกษตรกรบางคนก็ไม่ชอบลองอะไรใหม่ ๆ การสำรวจเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั่วทั้งประเทศอินเดียในปี 2017-2018 พบว่ามีเกษตรกรเพียง 26% เท่านั้นที่นำพันธุ์ข้าวที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นไปปลูกจริง ๆ

รัฐบาลสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการประชาสัมพันธุ์ถึงประโยชน์ของความหลากหลายและวิธีการใหม่ ๆ ในการปลูกข้าว ยกตัวอย่างเช่นเวียดนาม เมื่อไม่นานมานี้ เวียดนามได้ประกาศแผนแม่บทใหม่ในการปลูกข้าวที่ผลิต “คาร์บอนต่ำ” บนพื้นที่ 6,250,000 ล้านไร่ ที่รัฐบาลเข้ามาส่งเสริมในเรื่องนี้ก็เพราะว่า วิธีการปลูกข้าวแบบนี้เป็นวิธีปลูกข้าวที่ประหยัดแรงงานและมีประสิทธิภาพ

 

การปฏิวัติเกษตรกรรม

แนวทางจากล่างขึ้นบนก็มีความสำคัญเช่นกัน พนักงานส่งเสริมการเกษตรสามารถมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ แต่มักถูกละเลยโดยผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นคนออกนโยบาย การใช้จ่ายด้านการเกษตรของภาครัฐส่วนใหญ่จะหมดไปกับการอุดหนุนราคาผลผลิตและการบริหารจัดการน้ำในภาคการเกษตร ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเอื้อประโยชน์แก่เกษตรกรที่ร่ำรวยหรือไม่ก็เจ้าของที่ดินมากกว่าเกษตรกรรายย่อย

รัฐบาลยังต้องทำเรื่องนี้อีกมากเพื่อลดการพึ่งพาข้าวของประชาชน ดูจากการเรียกร้องของอินเดีย องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี 2023 เป็นปีแห่งข้าวฟ่าง รัฐบาลอินเดียหวังว่าจะสามารถโน้มน้าวให้เกษตรกรหันมาปลูกและผู้บริโภคหันมารับประทานข้าวชนิดนี้กันมากขึ้น

ซึ่งข้าวฟ่างมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าข้าวหรือข้าวสาลีมาก และใช้น้ำน้อยกว่ามาก ทุกวันนี้มีเพียงคนรักสุขภาพเท่านั้นที่จะเลือกกินข้าวฟ่างมากกว่าข้าวทั่วไป แต่ถ้าเซเลบ หรือ ผู้มีชื่อเสียง นำร่องเรื่องนี้ ไม่แน่ว่ามวลชนก็อาจจะ และถ้าหากมีตลาดขนาดใหญ่สำหรับข้าวฟ่างเกิดขึ้น ก็จะดึงดูดให้ชาวนาบางส่วนเปลี่ยนมามาปลูกข้าวฟ่างแทนข้าวทั่วไป

ผลตอบแทนที่จะได้รับจากการปฏิวัติวงการเกษตรกรรมในครั้งนี้ อาจทำให้การเพาะปลูกยั่งยืนมากขึ้นและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นและมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งจะช่วยให้เกษตรกรปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าถ้าการปฏิวัติในครั้งจะสำเร็จ แต่ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าจะช่วยประกันความมั่นคงทางอาหารสำหรับประชากรชาวเอเชียและประชากรโลกก็ตาม

 

อ้างอิง

https://www.economist.com/asia/2023/03/28/there-is-a-global-rice-crisis



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน